สำนักงาน กสทช.รับฟังความคิดเห็นการตั้งเสาฯให้ได้มาตรฐานปลอดภัยต่อประชาชน

07 ก.ค. 2559 | 08:48 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร  รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) สายงานกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า วันนี้ (7 ก.ค. 2559) สำนักงาน กสทช.ได้จัดให้มีการประชุมหารือกลุ่มย่อย (Focus Group) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปักหรือตั้งเสา หรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ของกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป หลังจากกฎหมายฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2552 เป็นระยะเวลากว่า 6 ปี

048A7876 สำนักงาน กสทช. พบว่า ปัจจุบันการติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าตามสถานที่ต่าง ๆ ได้พาดสายต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชน และนอกจากสายสื่อสารจะรกรุงรังมีผลต่อทัศนียภาพแล้ว ยังพบปัญหาสายสื่อสารบางส่วนไม่ได้ใช้งาน และไม่มีการรื้อถอน ขณะนี้จึงมีความจำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน เช่น การใช้พื้นที่ใดบนสะพาน ในอุโมงค์ หรือบนทางเท้า รวมถึงการใช้พื้นที่ในการสร้างโครงข่ายใต้ดินและการใช้พื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ก่อนหน้านี้สำนักงาน กสทช. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน โดยสำนักงาน กสทช. จะออกกฏเกณฑ์กำกับราคาการเช่าพื้นที่ติดตั้งสายสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้ทัศนียภาพในพื้นที่ต่าง ๆ ออกมาสวยงาม

สำหรับการประชุมหารือกลุ่มย่อยนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในหลายภาคส่วน ประกอบด้วย ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 2 และ 3 หน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้หลักเกณฑ์มีเนื้อหาครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ตลอดจนแนวทางการกำกับดูแลให้มีบทลงโทษที่ชัดเจน

ทั้งนี้ หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามภายใต้บังคับแห่งมาตรา 39 และมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2554 ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดระเบียบหรือบริหารจัดการเกี่ยวกับการเดินสายมิให้รกรุงรังทั้งสายที่ใช้งานและไม่ได้ใช้งาน ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดและจัดทำแผนปฏิบัติการในการตรวจสอบ แก้ไขการเดินสายที่ไม่เรียบร้อยให้เป็นไปตามมาตรฐานและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน กรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตรายใดดำเนินการฝ่าฝืนข้อใดข้อหนึ่งตามประกาศนี้ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม