วิศวกรรมสถานลงพื้นที่ดูงานโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต

29 มิ.ย. 2559 | 09:19 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย นายสุภชา ศิริวงศ์ยิ่งเจริญ คณะอนุกรรมการสาขาวิชาการวิศวกรรมสำรวจ วสท. พร้อมด้วย ดร.วิรัช รุ่งโรจน์สารทิศ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จัดศึกษาดูงานโครงการก่อสร้างในส่วนของงานติดตั้งชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบขนส่งทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร และได้รับการเร่งรัดให้ดำเนินการในสายเหนือ ช่วงบางซื่อ – รังสิตก่อน ผู้ที่มาศึกษาดูงานในครั้งนี้ประกอบไปด้วย วิศวกร สถาปนิก บุคลากรในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และหน่วยงานอื่นๆ

18 นายสุภชา ศิริวงศ์ยิ่งเจริญ คณะอนุกรรมการสาขาวิชาการวิศวกรรมสำรวจ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ของงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่แก่บุคลากรในวงการอุตสาหกรรมออกแบบและก่อสร้างของประเทศไทย วิศวกร สถาปนิก และผู้รับเหมา ตลอดจนผู้บริหารโครงการ วสท.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาสถานีรถไฟบางซื่อเป็นสถานีหลัก ซึ่งมุ่งลดจำนวนขบวนรถไฟที่จะเข้าสู่สถานีหัวลำโพงให้เหลือน้อยที่สุด ต่อมาได้มีการปรับขอบเขตโครงการให้เพิ่มปริมาณความจุของทางและการเดินรถที่ความเร็วสูงขึ้น สะดวก ปลอดภัย รวมทั้งพัฒนาสถานีบางซื่อให้เป็นสถานีกลาง โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้ย่านพหลโยธินเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของกรุงเทพมหานครด้านเหนือ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการสานต่อโครงการระบบการขนส่งทางราง ตามนโยบายรัฐบาล จึงได้มีการศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการ และปรับแบบรายละเอียด เพื่อให้สามารถรองรับต่อการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ใช้บริการในระบบรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง อีกทั้งมีขีดความสามารถในการเดินรถขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าในโครงข่ายเดียวกัน และเชื่อมโยงการเดินทางของระบบรถไฟและโครงข่ายระบบขนส่งอื่นๆ อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น เพื่อจูงใจให้ประชาชนมาใช้บริการ และประหยัดค่าเชื้อเพลิงการขนส่ง นับเป็นแนวทางแก้ปัญหาการขนส่งและจราจรอย่างยั่งยืน

ขอบเขตการดำเนินงานของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ประกอบด้วย 1.สถานีกลางบางซื่อ องค์ประกอบอาคารมีดังนี้ ชานชาลารถไฟฟ้าชานเมือง 4 ชานชาลาและชานชาลาสำหรับอนาคต 8 ชานชาลา ทั้งหมดอยู่ชั้น 3 ชานชาลารถไฟทางไกล 12 ชานชาลา บนชั้น 2 ของสถานี ชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารพร้อมอาคารทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครที่ชั้นล่าง และที่จอดรถใต้อาคารสถานี 2.สถานีจตุจักรพร้อมอาคารสถานี ได้แก่ ทางรถไฟยกระดับบนโครงสร้างคานสำเร็จรูปทรงกล่องพาดบนหัวเสาคอนกรีต หรือ กรอบคานเสาคู่ทางรถไฟยกระดับบนฐานเสาเข็มจาก กม.6+600 ถึง กม.12+201.700, ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล ลานจอดรถไฟ (ไม่รวมงานวางราง) และอาคารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมการเดินรถ, ถนนสะพานยกระดับเข้า – ออกสถานี และระบบระบายน้ำ รวมถึงงานดัดแปลงปรับปรุงหรือรื้อย้ายโครงสร้างในโครงการต่างๆ

ดร. วิรัช รุ่งโรจน์สารทิศ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ระบบขนส่งมวลชนทางราง หรือ รถไฟฟ้าถือเป็นแนวทางการบรรเทาปัญหาการจราจรภายในเมืองที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากสามารถขนส่งผู้โดยสารได้คราวละจำนวนมากถึง 1,000 คนต่อขบวน ประหยัดพลังงานในการเดินทางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเป็นการลดภาวะโลกร้อน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นหนึ่งองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า จึงได้ดำเนินการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต เป็นโครงการสำคัญเร่งด่วนในแผนแม่บท ระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งได้รับอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 โดยดำเนินการก่อสร้างโครงการด้วยเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) โดยผู้รับจ้างสัญญาที่ 1 และ 2 เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) จะให้บริการด้วยรถไฟฟ้าที่ทันสมัย มีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ทำให้การเดินทางระหว่างย่านกลางเมืองและชานเมืองเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทางของประชาชน รวมทั้งขยายความเจริญไปยังย่านชานเมือง ช่วยลดความแออัดของกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี

ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต มีจุดเริ่มต้นโครงการที่สถานีบางซื่อ กม.6+000 (จากหัวลำโพง) บริเวณสามแยกประดิพัทธ์ประมาณ 1.8 กิโลเมตร ทางทิศใต้ของสถานีบางซื่อ ไปตามแนวเขตทางรถไฟในเส้นทางรถไฟสายเหนือ ผ่านเขตจตุจักร บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และไปสิ้นสุดที่สถานีรังสิต จังหวัดปทุมธานี ระยะทางรวมประมาณ 26.3 กิโลเมตร โดยในอนาคตอันใกล้นี้จะต่อขยายไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยการก่อสร้างเป็นทางยกระดับจากบางซื่อ (กม.6+000) ไปยังดอนเมือง (กม.25+232) ระยะทาง 19.2 กิโลเมตร และลดระดับลงอยู่ระดับพื้นดินจากสถานีดอนเมือง (กม.25+232) ถึงรังสิต (กม.32+350) ระยะทาง 7.1 กิโลเมตร โดยมีรั้วกั้นตลอดแนวเส้นทางจากดอนเมืองถึงรังสิต ทางรถไฟมีขนาด 1.000 เมตร (Meter Gauge) เชื่อมต่อกับทางรถไฟสายเหนือในปัจจุบัน

การลงพื้นที่สำรวจดูงานโครงการก่อสร้างในส่วนของงานติดตั้งชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิตในครั้งนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ทำให้บุคลากรในอุตสาหกรรมก่อสร้างและคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ตลอดจนประชาชนได้เรียนรู้ถึงกระบวนการก่อสร้างในส่วนของงานติดตั้งชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต