ส่งออกเดือนพ.ค.ยังคงหดตัวที่ร้อยละ 4.4

24 มิ.ย. 2559 | 06:27 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนพฤษภาคม 2559

การส่งออกของไทยได้รับอิทธิพลจากกระแสการค้าโลกในช่วงที่ผ่านมาที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อและการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรและน้ำมันยังหดตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคมยังคงหดตัวที่ร้อยละ 4.4 รวม 5 เดือนแรกของปี 2559 หดตัวร้อยละ 1.9 อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ของไทยในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญยังอยู่ในระดับที่ดี การนำเข้ากลุ่มวัตถุดิบและเครื่องจักรมีสัญญาณและแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามการปรับตัวของราคาน้ำมัน ส่งผลให้แรงกดดันด้านราคาส่งออกมีแนวโน้มลดลง ชี้ว่าการส่งออกของไทยเริ่มปรับตัวเข้าสู่ทิศทางที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีจะปรับตัวได้ดีขึ้นตามลำดับ

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินบาท การส่งออกเดือนพฤษภาคม 2559 มีมูลค่า 611,669 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.24 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) รวม 5 เดือนแรก มีมูลค่า 3,075,304 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 7.05)  ในขณะที่การนำเข้าเดือนพฤษภาคม 2559 มีมูลค่า 565,176 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 8.57) รวม 5 เดือนแรกมีมูลค่า 2,736,374 ล้านบาท (หดตัวร้อยละ 2.15) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนพฤษภาคม 2559 เกินดุล 46,492 ล้านบาท รวม 5 เดือนแรก เกินดุล 338,930 ล้านบาท

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกเดือนพฤษภาคม 2559 มีมูลค่า 17,617 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 4.40 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) รวม 5 เดือนแรก มีมูลค่า 86,991 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หดตัวร้อยละ 1.90) ในขณะที่การนำเข้าเดือนพฤษภาคม 2559 มีมูลค่า 16,079 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัวร้อยละ 0.50) รวม 5 เดือนแรก มีมูลค่า 76,543 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หดตัวร้อยละ 10.25) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนพฤษภาคม 2559 ยังคงเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันมีมูลค่า 1,538 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวม 5 เดือนแรก เกินดุล 10,448 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องตามการลดลงของปริมาณการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งนี้ การลดลงปริมาณการส่งออกมีปัจจัยสำคัญจากปัญหาภัยแล้งและความต้องการนำเข้าของตลาดสำคัญลดลง โดยเฉพาะจีน ในขณะที่ราคาส่งออกลดลงตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตรโลก โดยภาพรวมเดือนพฤษภาคม 2559 มูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 7.4 (YoY)

สินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลงได้แก่ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาล (ลดลงร้อยละ 24.2  9.0  36.0  และร้อยละ 11.3 ตามลำดับ) โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาส่งออกที่ลดลงตามราคาสินค้าเกษตรโลก และการลดลงของปริมาณส่งออกตามผลผลิตที่ได้ผลกระทบจากภัยแล้งและความต้องการนำเข้าที่ลดลงของของตลาดสำคัญ โดยเฉพาะจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้สดแช่แข็งไปจีน กุ้งสดแช่แข็งและผลไม้กระป๋องแปรรูปไปสหรัฐอเมริกา และเครื่องดื่มไปตลาด CLMV รวม 5 เดือนแรก การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 3.2

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม แม้ยังหดตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือนนี้  ในขณะที่ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อการหดตัวอย่างต่อเนื่องของสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน โดยภาพรวมเดือนพฤษภาคม 2559 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 2.8  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ประเภทฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟสำหรับเครื่อง PC) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องรับโทรทัศน์ฯ และผลิตภัณฑ์ยาง (หดตัวร้อยละ 12.5, 18.0 , 21.4, และ 17.0 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ (ไปตลาดเวียดนามและออสเตรเลีย) รถยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 (โดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่งออกไปตลาดออสเตรเลีย อาเซียน และตะวันออกกลาง) และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟสำหรับระบบ Cloud ที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการปรับตัวของเทคโนโลยี รวม 5 เดือนแรก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 0.3

ตลาดส่งออกสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา CLMV ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ เริ่มกลับมาขยายตัว ในขณะที่การส่งออกไปตลาดจีน และอาเซียน(5) ยังหดตัวตามภาวะชะลอตัวของสินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเป็นสำคัญ โดยภาพรวมเดือนพฤษภาคม 2559 ตลาดส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ขยายตัวที่ร้อยละ 3.4) ตามการฟื้นตัวของการจ้างงานและส่งผลต่อการบริโภคในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออก คอมพิวเตอร์ กลุ่มส่วนประกอบรถยนต์ ยางรถยนต์ และอาหาร ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  เช่นเดียวกับ ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง CLMV และเอเชียใต้ ที่ขยายตัวร้อยละ 7.0  4.2  1.0  และร้อยละ 2.9 ตามลำดับ

ตลาดส่งออกที่หดตัว ได้แก่ ญี่ปุ่น  และสหภาพยุโรป (15) โดยหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.6 และ 2.7 ตามลำดับ โดยมีสาเหตุสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีความชัดเจน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคในประเทศ รวมทั้ง จีน และอาเซียนเดิม (5) ที่หดตัวต่อเนื่องตามการลดลงของราคาส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์

การค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนพฤษภาคม 2559 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยการค้าชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา เดือนพฤษภาคม 2559 มีมูลค่า 82,982 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.96) รวม 5 เดือนแรกมีมูลค่า 419,883 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38) ได้ดุลการค้าชายแดน 84,468 ล้านบาท ในขณะที่ การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) เดือนพฤษภาคม  2559 มีมูลค่า 13,224 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 15.22) รวม 5 เดือนแรกมีมูลค่า 62,058 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 13.60) ขาดดุลการค้า 2,277 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมการค้าชายแดน และผ่านแดน เดือนพฤษภาคม 2559 มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 96,206 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.26) รวม 5 เดือนแรก มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 481,942 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.59

ในภาวะที่การค้าไทยเผชิญกับความท้าทายภายใต้สถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการเพื่อผลักดันการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2559 ดังนี้  1.เร่งขยายการส่งออกไป CLMV โดยสร้างโอกาสและความเข้มแข็งร่วมกัน ผ่านความความร่วมมือและความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันอย่างใกล้ชิด  2. เร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก โดยใช้ความต้องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต (Demand Driven Approach)  เน้นการเจาะตลาดระดับเมือง (City focus) ตลาดใหม่ (Emerging Market) ตลาดเฉพาะ (Niche Market) และสร้าง/ส่งเสริมช่องทางการค้าผ่านระบบการค้าออนไลน์และรูปแบบการค้าใหม่ๆ

3.ผลักดันและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า ผ่านกลไกของคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการค้าทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นกรรมการ โดย พกค. จะเป็นกลไกในการกำหนดนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ  4.เร่งเจรจาการค้าผ่านการเยือนตลาดคู่ค้าที่มีศักยภาพ โดยการจัดคณะผู้แทนไปเยือนประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพเพื่อเจรจาส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และขจัดปัญหาอุปสรรคทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะการเร่งขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรโดยใช้ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนการค้าในรูปแบบต่างๆ  5.ปรับบทบาทของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เน้นการทำงานเชิงรุกได้มากขึ้น ทั้งการสร้างโอกาส เครือข่ายการค้า ให้คำแนะนำ ศึกษาข้อมูลความต้องการของตลาดเชิงลึก รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศในลักษณะบูรณาการกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และ6.ส่งเสริมการค้าบริการ (Trade in Services) เป้าหมาย 6 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ (Wellness and Medical Services) ธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy Industry) ธุรกิจโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Logistics and Facilitation) ธุรกิจการให้บริการของสถาบัน (Institutional Services and Related) ธุรกิจบริการสนับสนุนการค้า (Trade Supporting Services) และธุรกิจดิจิตอล (Digital Business) โดยดำเนินงานในลักษณะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น