"ภูมิธรรม"เตรียมบินลั่นฟ้าเยือนยูเออี หารือ 6 ประเด็นสำคัญ

27 ก.พ. 2567 | 08:03 น.

"ภูมิธรรม" เตรียมบินลั่นฟ้าเดินทางไป กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ติดตามประเด็นเจรจา พร้อมหารือ 6 ประเด็นสำคัญ

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มีกำหนดเดินทางไปติดตามผลการการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 13 (The WTO's 13th Ministerial Conference: MC13) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อติดตามประเด็นเจรจาที่สำคัญ พร้อมทั้งหารือผู้ประกอบการไทยที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้ปรับตัวกับกติกาการค้าใหม่ สร้างแต้มต่อทางการค้า

ซึ่งจะเดินทางไปติดตามผลในช่วงท้ายของการประชุม MC13 โดยคาดหวังให้มีความคืบหน้าในประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ อาทิ การเจรจาภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร และการเจรจาเรื่องการอุดหนุนประมง เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และจะหารือกับผู้ประกอบการไทยที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แจ้งผลการประชุมและหารือร่วมกันถึงแนวทางในการปรับตัว เพื่อรองรับกฎเกณฑ์กติกาการค้าใหม่ ใช้ประโยชน์จากผลของการประชุมสร้างแต้มต่อทางการค้าให้ผู้ประกอบการไทยต่อไป

 

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 13 หรือ MC13 เป็นการประชุม เพื่อหารือและร่วมกันกำหนดแนวทางรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ โดยในครั้งนี้คาดหวังว่าจะมีการหารือในประเด็นสำคัญ

  1. การสรุปผลการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของติมอร์เลสเตและสหภาพคอโมโรส
  2. การเจรจาเพื่อปฏิรูปกระบวนการระงับข้อพิพาทและองค์กร WTO
  3. การพิจารณาการขยายอายุยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการชั่วคราว
  4. การหารือแนวทางการดำเนินการรองรับโควิดและโรคระบาดต่างๆในอนาคต
  5. การหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด
  6. การเพิ่มประเด็นเจรจาใหม่ๆ เพื่อให้กฎเกณฑ์ของ WTO ทันต่อโลกสมัยใหม่ เช่น การค้ากับสิ่งแวดล้อม นโยบายการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในภาคเศรษฐกิจการค้า เป็นต้น

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นอกจากนั้น คาดการณ์ว่าจะมีการออกผลลัพธ์การประชุมในรูปแบบปฏิญญารัฐมนตรีอาบูดาบี (Abu Dhabi Ministerial Declaration) ซึ่งเป็นการสรุปท่าทีร่วมกันของสมาชิก WTO ทั้งหมด 164 ประเทศ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในโลกการค้าปัจจุบัน