สลิงชอท กรุ๊ป จัดงาน Slingshot Leadership Series 2016

27 พ.ค. 2559 | 12:03 น.
image สลิงชอท กรุ๊ป จัดงาน Slingshot Leadership Series 2016 : Leading and Engaging in Complicated Times เพื่อแนะแนวทางในการพัฒนาผู้นำไทยให้สามารถผ่านพ้นสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีซับซ้อน และมีความท้าทายสูงในปัจจุบัน

นายวศิน อรดีดลเชษฐ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทได้มีการจัดงานสัมมนาให้กับ ผู้บริหารระดับสูง และผู้บริหารด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ จากบริษัทชั้นนำทั่วประเทศไทย ภายในงานได้มีการกล่าวถึง ความท้าทาย 3 ประการที่ผู้นำในยุคนี้ต้องเผชิญได้แก่ 1. Millennial Workforce กลุ่มคนที่เกิดในปีพ.ศ. 2523 - 2533 กำลังจะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคมการทำงาน โดยในปี พ.ศ. 2568 ร้อยละ 75 ของแรงงานทั่วโลกคือคนกลุ่มนี้ ซึ่งความท้าทายที่องค์กรต้องเผชิญคือเรื่องความจงรักภักดีกับองค์กร ซึ่งพบว่าคนกลุ่มนี้มีอายุงานเฉลี่ยเพียง 2 ปี - 5 ปี 2. Technology Change การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เมื่อธุรกิจต่างๆจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงาน การพึ่งพากันระหว่างอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมอื่นๆจึงมีมากขึ้น เกิดการผลิตสินค้าและบริการที่หลากหลายขึ้น การแข่งขันทางธุรกิจจึงอาจจะไม่ได้แข่งกันแค่ในอุตสาหกรรมเดียวกันที่ตนเองเคยอยู่ แต่ขยายข้ามไปอุตสาหกรรมอื่นๆ เทคโนโลยีจะกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารคน ช่องทางการติดต่อสื่อสารจะเป็นแบบออนไลน์มากขึ้น การทำงานในส่วนของฝ่ายทรัพยากรบุคคล จะมีการทำงานผ่าน Smart Machine อภิมหาข้อมูล (Big Data) จะมีผลให้เกิดเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของผู้บริหาร 3. Sustainability Challenge การท้าทายเพื่อความยั่งยืน การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องเป็นไปในลักษณะยั่งยืน โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า อาทิ การลดปริมาณคาร์บอน การใช้น้ำอย่างคุ้มค่า และการใช้พลังงานทดแทน

นายวศิน กล่าวแนะนำเพิ่มเติมว่า เพื่อจัดการความท้าทายเหล่านี้ ประเด็นแรกองค์กรต้องทำให้องค์กรกลายเป็นองค์กรแห่งการเปลี่ยนแปลง ประเด็นที่สองผู้นำต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานทุกระดับมีส่วนร่วมกับการนำการเปลี่ยนแปลง และประเด็นสุดท้ายผู้นำต้องเลือกที่จะโฟกัสเฉพาะจุดคานงัดที่สำคัญแค่บางจุด และทำให้ดีที่สุดจึงจะประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ ก็คือ การพัฒนาผู้นำ ซึ่งแนวทางในการพัฒนาที่ได้ผลจริง ก็เป็นไปในรูปแบบนโยบายเช่นเดียวกัน คือการเลือกโฟกัสไปที่จุดคานงัด ซึ่ง ดร. โจเซฟ โฟล์คแมน ผู้ก่อตั้ง บริษัท เซงเกอร์ โฟล์คแมน ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของ สลิงชอท ได้เผยผลวิจัยถึงวิธีที่จะพัฒนาผู้นำในระดับยอดเยี่ยมได้นั้น จากการวิจัยผู้นำ 75,000 คน ผ่านแบบทดสอบ 360 องศา 1,000,000 แบบสอบถาม พบว่ามี 6 พฤติกรรมสำคัญที่เป็นจุดคานงัด โดยหากพัฒนา 3 พฤติกรรม จากทั้งหมด ก็จะสามารถทำให้ประสิทธิภาพของผู้นำสูงขึ้นในระดับเดียวกับ 10 เปอร์เซ็นต์ผู้นำโลกที่มีระดับประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่ง 6 จุดคานงัดผู้นำ (6 Leadership Levers) ดังกล่าวได้แก่นวัตกรรม (Innovation) ความสัมพันธ์ (Relationships) ความมีไหวพริบ (Acumen) แรงบันดาลใจ (Inspiration) วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Vision) และการดำเนินการ (Execution)

นอกจากนี้ ในงาน ผู้เข้าร่วมงานยังได้มีโอกาสรับฟังประสบการณ์จริงในการผลักดันองค์กรให้ก้าวผ่านความท้าทายทั้ง 3 ประการ จากผู้นำทางด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศไทยในช่วงเสวนา ถึง 3 ท่าน ได้แก่ คุณศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดร.วชิรพันธ์ โชติช่วง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ สลิงชอท กรุ๊ป และดร.สุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจด้านการโค้ช และให้คำปรึกษา ทั้งสามท่านได้นำประสบการณ์มาแบ่งปัน โดยมองว่า นักพัฒนาทรัพยากรบุคคลหรือ เอชอาร์ ในยุคนี้ ต้องมีการคิดแบบกลยุทธ์มากขึ้น การนำเอาความรู้ทางการตลาดไปประยุกต์ใช้ ก็ถือเป็นอีกแนวคิดที่น่าสนใจ โดยต้องเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร เมื่อเข้าใจธรรมชาติของเขา จึงจะวางกลยุทธ์ได้ดี

คุณศรินทร์รา ได้ยกตัวอย่างประกอบในจุดนี้ว่า ทรู นำ Big Data มาวิเคราะห์ทำให้รู้ว่าร้อยละ 67 ของชาวทรูเป็น Gen Y ซึ่งเป็นเป็นกลุ่มที่รับสารผ่านสมาร์ทโฟน จึงได้ทำแอพพลิเคชั่นขึ้น โดยมี Gen Y เป็นผู้ออกแบบ ในแอพนี้ จะมีข้อมูลพื้นฐานต่างๆ เช่น สวัสดิการที่พนักงานจะได้รับ พื้นที่ community ที่สามารถสื่อสารกันเองและสื่อสารกับผู้บริหารได้ และในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการทำ Mini Learning ผ่านเกมส์ โดยพนักงานสามารถนำคะแนนจากการเล่นเกมมาแลกรางวัลได้ ด้านดร.วชิรพันธ์ ได้เสริมว่าการจัดการช่องว่าง ระหว่าง generation นั้นสามารถทำได้ ด้วยการทำความเข้าใจในความต้องการของเขา เช่น Gen Y ต้องการ role model ผู้นำจึงควรทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจ และทำตัวเป็นต้นแบบ

นอกจากนั้น ดร.โฟล์คแมน ยังเผยผลวิจัยว่า เอชอาร์ ในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น มีประสิทธิภาพต่ำกว่าอเมริกาเหนือ และตะวันออกกลาง แต่สูงกว่ายุโรป อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และแอฟริกา ซึ่งจากการวิจัย เอชอาร์ อาเซียน 137 คน พบว่า เอชอาร์ อาเซียน นั้น หากพัฒนาจุดแข็งดังต่อไปนี้ Develops Others (การพัฒนาผู้อื่น) Communicates Powerfully and Prolifically (การสื่อสารอย่างชัดเจน และมีพลัง) Builds Relationships (การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น) Collaboration and Teamwork (การสร้างความร่วมมือ และการทำงานเป็นทีม) ได้ ก็จะทำให้พัฒนาเป็น เอชอาร์ ระดับยอดเยี่ยมได้