‘ท่าอากาศยาน’เลื่อนเปิดอาคารใหม่ภูเก็ต แจงระบบทดสอบยังไม่สมบูรณ์ เร่งย้าย 53 แอร์ไลน์สิงหานี้

30 พ.ค. 2559 | 09:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ทอท. ดีเลย์เปิดใช้อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ สนามบินภูเก็ต เต็มรูปแบบออกไปเป็นเดือนกันยายนนี้ โดยเตรียมแผนทดสอบทั้งระบบสร้างความมั่นใจ ดึง 53 แอร์ไลน์ย้ายมาปฏิบัติการบินในเทอร์มินัลใหม่ กลางเดือนสิงหาคมนี้ หลังก่อนหน้านี้ทำเทสต์ไฟลต์เฉพาะขาเข้าเท่านั้น ทั้งบอร์ดไฟเขียวแผนแม่บทสนามบินเชียงใหม่ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท รองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคน

[caption id="attachment_57109" align="aligncenter" width="340"] นิตินัย ศิริสมรรถการ นิตินัย ศิริสมรรถการ[/caption]

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า โครงการพัฒนาสนามบินภูเก็ตระยะที่ 2 ซึ่งยังเหลืองานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (อาคารหลังใหม่) เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารจาก 6.5 ล้านคนเป็น 12.5 ล้านคน จำเป็นต้องเลื่อนการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะเป็นวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เนื่องจากกระบวนการทดสอบระบบต่าง ๆ ยังไม่สมบูรณ์ทั้งระบบเพราะต้องมีกระบวนการทดสอบเที่ยวบินขาออกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเพิ่งทำการทดสอบระบบเฉพาะเที่ยวบินขาเข้า หรือ First Technical Flight เท่านั้น และหลังการทดสอบระบบต้องมีการปรับระบบต่างๆ ยังพบว่ามีข้อบกพร่องอยู่ต้องปรับแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานสูงสุด

" เนื่องจากการเปิดอาคารผู้โดยสารดังกล่าว ถือเป็นการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ การดำเนินการทุกอย่างต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ครบถ้วน จึงเปิดให้บริการ แตกต่างจากเปิดอาคารผู้โดยสาร อาคาร2 ของสนามบินดอนเมือง เพราะเป็นเพียงการปรับปรุงสำหรับการรองรับผู้โดยสารเที่ยวบินภายในประเทศ"

นอกจากนี้ทอท.ยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการขยายการลงทุนในการพัฒนาระยะที่ 3 เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 18 ล้านคนต่อปี(พัฒนาได้สูงสุด) โดยในขณะนี้ได้ดำเนินการซื้อที่ดินของการเคหะแห่งชาติ ราว 50 ไร่ด้านนอกของสนามบิน เพื่อก่อสร้างบ้านพักให้พนักงาน และย้ายออกจากสนามบิน เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวมาสร้างลานจอดอากาศยานเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการพัฒนาตามแผนแม่บทสนามบินภูเก็ต ที่อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด เพื่อเตรียมนำเสนอบอร์ดทอท.พิจารณาในระยะต่อไป และขณะเดียวกันก็ต้องดูปัญหาในเรื่องขอขวดในการเข้าเมืองด้วย ซึ่งทราบว่าภาครัฐก็มองเรื่องของโมโนเรลอยู่ เพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างสนามบินภูเก็ตเข้าเมือง นายนิตินัยกล่าว

ด้าน นางมนฤดี เกตุพันธุ์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากกรอบเวลาล่าสุดคาดว่าการเปิดอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ สนามบินภูเก็ต น่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ (แกรนด์โอเพนนิ่ง) ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยได้มีการหารือกับสายการบินต่าง ๆ ทั้งปัจจุบันสนามบินภูเก็ต มีสายการบินระหว่างประเทศเปิดให้บริการทั้งหมด 53 สายการบิน เป็นเที่ยวบินประจำ 37 สายการบิน เที่ยวบินเช่าเหมาลำ 16 สายการบิน ซึ่งสายการบินเหล่านี้จะต้องทยอยย้ายไปให้บริการในอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติการบินได้อย่างไม่เป็นทางการภายในอาคารผู้โดยสารนี้ได้ในราวกลางเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนการเปิดให้บริการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสนามบินภูเก็ต ซึ่งคิงเพาเวอร์ เป็นผู้ชนะการประมูล ก็คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนเช่นกัน

"การเร่งรัดการเปิดใช้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ถึง 7.2 หมื่นตารางเมตร เป็นสิ่งที่จำเป็น ควบคู่ไปกับการทดสอบระบบอย่างมั่นใจก่อนเปิดให้บริการ ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินภูเก็ตอยู่ที่ 12.54 ล้านคน และในปีงบประมาณ2559 ก็น่าจะเกิน 13 ล้านคน การเติบโตของเที่ยวบินอยู่ที่ 11-12% มีเที่ยวบินเข้า-ออกรวมกันกว่า 270 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งก็ถือว่าทะลุไปจนเกินการขยายศักยภาพของสนามบินในขณะนี้ ที่เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มเป็น 12.5 ล้านคน"นางมนฤดี กล่าว

ขณะที่ นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ ทอท.เผยถึงผลสรุปการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า มีมติเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ใช้งบประมาณในราว 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศในอนาคต โดยแผนแม่บทการพัฒนา แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 การพัฒนาปี 2559 - 2568 มีเป้าหมายให้สามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2573 ระบบทางวิ่งและทางขับรองรับเที่ยวบินได้ 34 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ลานจอดอากาศยาน 31 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี

ช่วงที่ 2 การพัฒนาปี 2569 - 2573 เป็นแผนการพัฒนาระยะยาว รองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2578 ระบบทางวิ่งและทางขับรองรับเที่ยวบินได้ 34 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ลานจอดอากาศยาน 38 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี มีงานก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานเพิ่มอีก 7 หลุมจอด ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศเพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 8 ล้านคน ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายใน เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้ 12 ล้านคนต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559