ศึก “เหล็ก”ยื้อ รุมค้านพาณิชย์ยกเลิกเอดี หวั่นตกงานกว่า 7,500 คน

23 มี.ค. 2566 | 10:15 น.

สภาอุตฯ-นักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น รุมค้านพาณิชย์ยุติเอดีเหล็กรีดร้อน 5 ประเทศ ย้ำรัฐต้องปกป้องอุตสาหกรรมและสร้างงานในประเทศ หวั่นกระทบหนักถึงขั้นปิดกิจการ ตกงาน 7,500 คน สูญเสียการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศปีละกว่า 1 หมื่นล้าน ยกเคตสหรัฐกว่า 10 ปียังคงเอดีเหล็กไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น ได้เห็นพ้องกันในการร่วมคัดค้านคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน(ทตอ.) ที่มี นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน หลังกระทรวงพาณิชย์พิจารณาในวันเดียวกัน ยุติมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าเหล็กจาก 6 ประเทศทุ่มตลาด 3 มาตรการรวด แต่ทะยอยแจ้งเปิดเผยไม่พร้อมกัน ตั้งแต่มกราคม 2566 เป็นต้นมา โดยล่าสุดกลางเดือนมีนาคม 2566 แจ้งยุติมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนจากประเทศจีน และมาเลเซีย

ทั้งนี้ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยังคงคัดค้านต่อร่างผลการไต่สวน AD เนื่องจากการพิจารณาไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงแนวทางการพิจารณาไม่เป็นไปตามข้อชี้แจงของกรมการค้าต่างประเทศที่แถลงต่อสาธารณะชนในเรื่องการพิจารณาต่ออายุมาตรการ โดยสินค้าจากประเทศจีน และมาเลเซียยังมีการทุ่มตลาดในอัตรา 17.86% และ 4.72% ตามลำดับ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างแน่นอน

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

หากไม่มีการใช้มาตรการต่อไป โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีการส่งออกสินค้ามายังประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีการส่งออกมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึงกว่า 270% อีกทั้งจีนยังมีกำลังการผลิตส่วนเหลืออีกกว่า 170 ล้านตัน ย่อมต้องหาทางระบายสินค้าไปยังประเทศที่ไม่มีมาตรการอย่างแน่นอน โดย มีข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจนว่าในปี 2564 จีนและมาเลเซียส่งออกเหล็กมายังภูมิภาคอาเซียนมากกว่า 1.68 ล้านตัน และเป็นสัดส่วนการส่งออกถึง 32.16% ของการส่งออกสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าอาเซียนเป็นเป้าหมายหลักของการทุ่มตลาด

“ข้อมูลขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ระบุชัดเจนว่าจีนเป็นประเทศที่ถูกใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก โดยถูกใช้มาตรการไปถึง 149 มาตรการ นี่คือปัจจัยที่ชี้ชัดว่าจีนจะกลับมาทุ่มตลาด และสร้างความเสียหายอย่างแน่นอน”นายเกรียงไกร กล่าว และว่า

ขอให้กรมการค้าต่างประเทศ และคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน พิจารณาทบทวนผลการต่ออายุมาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนทั้ง 5 ประเทศอีกครั้ง เพราะหากปล่อยให้สินค้าทุ่มตลาดจากทั้ง 5 ประเทศไหลทะลักเข้ามายังประเทศไทย อุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศคงต้องปิดกิจการอย่างแน่นอน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานทางตรงกว่า 3,500 คน และการจ้างงานต่อเนื่องอีกกว่า 4,000 คน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างรุนแรง เช่น การสูญเสียการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศปีละกว่า 10,000 ล้านบาท

ศึก “เหล็ก”ยื้อ รุมค้านพาณิชย์ยกเลิกเอดี หวั่นตกงานกว่า 7,500 คน

ศาสตราจารย์ ทัชมัย ฤกษะสุต ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กฎหมายเศรษฐกิจ และกฎหมายธุรกิจ ให้ความเห็นต่อแนวทางการพิจารณาต่ออายุมาตรการ AD ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ซึ่งตรงกับ Article 11.3 ของความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือ Anti-Dumping Agreement: ADA ว่า

“การพิจารณาว่า หากไม่มีการต่ออายุมาตรการจะส่งผลให้ความเสียหายและการทุ่มตลาดฟื้นคืนมาอีกหรือไม่” เป็นการพิจารณา “แนวโน้ม” ที่จะทำให้มีการทุ่มตลาด และความเสียหายฟื้นคืนมาอีก จึงไม่จำเป็นต้องพบการทุ่มตลาดและมีความเสียหายเท่านั้น ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกใช้ในการทบทวนการใช้ AD ซึ่งพิจารณาได้จากมาตรา 11.3 ซึ่งบัญญัติได้ความว่า “หากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจทบทวนแล้วเห็นว่า การยุติการเก็บ AD อาจมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเกิดขึ้นต่อไปหรือก่อให้เกิดอีกครั้งซึ่งการทุ่มตลาดหรือความเสียหาย (คืออาจจะให้เก็บ AD ต่อไปก็ได้) โดยให้คงการเก็บ AD ไว้จนกว่าจะมีผลการทบทวนดังกล่าว”

ประกอบกับมีแนวทางคำตัดสินขององค์การการค้าโลกในคดี US – Oil Country Tubular Goods Sunset Reviews ได้วางหลักไว้ว่า การทบทวนการเก็บ AD ที่เรียกว่า sunset review นั้นไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา 3 ของความตกลง AD  ซึ่งมาตรา 3 ของ ADA เป็นเรื่องการพิสูจน์ความเสียหายหรือ “Determination of Injury” หมายความว่า การจะจัดเก็บ AD ต่อไปหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ความเสียหายตามมาตรา 3

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างเชิงประจักษ์จากกรณีที่ประเทศไทยถูกประเทศสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนตั้งแต่ปี 2544 และในช่วงปี 2556 - ปัจจุบัน ผู้ผลิตในประเทศไทยไม่มีการส่งสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไปสหรัฐอเมริกา ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตในประเทศไทยไม่ได้สร้างความเสียหาย และไม่มีการทุ่มตลาดไปยังสหรัฐอเมริกามากว่า 10 ปี แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังคงพิจารณาต่ออายุมาตรการกับไทยมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนเรื่องระยะเวลาที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาต่ออายุก็พิจารณาได้จากแนวทางคำตัดสินของคดี US – Oil Country Tubular Goods Sunset Reviews เช่นกันโดยพิจารณาได้จากผลการพิจารณาซึ่งระบุว่า “การพิจารณาถึงแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเกิดขึ้นต่อไปหรือก่อให้เกิดอีกครั้งซึ่งความเสียหายนั้น ไม่จำเป็นต้องกำหนดกรอบระยะเวลาในการพิสูจน์ เพียงแต่การพิสูจน์ถึงแนวโน้มฯ ดังกล่าวต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่เพียงพอที่จะทำให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสามารถมีผลการพิจารณาที่ชอบด้วยเหตุผลและเหมาะสมพอ และการพิสูจน์ความเสียหายก็ต้องอยู่บนพื้นฐานดังกล่าวเช่นกัน แม้จะไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลาไว้ก็ตาม”

“ดังนั้นจึงเห็นว่า การพิจารณาต่ออายุมาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศไทยก็ควรพิจารณาถึงแนวโน้มการทุ่มตลาด และความเสียหายที่จะฟื้นคืนมา เช่น พฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมยังคงมีอยู่หรือไม่ ความสามารถในการผลิต (กำลังการผลิตส่วนเหลือ) และการส่งออก (ปริมาณการส่งออกไปทั่วโลก) ยังคงมีอยู่หรือไม่ และไม่ควรนำผลประกอบการของอุตสาหกรรมภายในแค่ช่วงใดช่วงหนึ่งมาเป็นเหตุผลสำคัญในการต่ออายุ หรือยุติมาตรการ”ศาสตราจารย์ ทัชมัย กล่าว

ด้าน นายสมหมาย ปานทอง อุปนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย และประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอบางสะพาน และนายวิเชียร เกตุงาม รองประธานชมรมฯ ให้ความเห็นว่า การยุติมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบด้านลบที่รุนแรงต่อคุณภาพชีวิต ระบบเศรษฐกิจ การจ้างงาน รายได้ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์อย่างแน่นอน

เนื่องจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรายใหญ่ของคนไทย คือ กลุ่มเหล็กสหวิริยา ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในพื้นที่อำเภอบางสะพานมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างมากมาย ลำพังจะอาศัยภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ก็ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ ในเรื่องของราคาผลผลิตการเกษตรที่ผันผวนตลอดเวลา โดยเฉพาะราคามะพร้าว ซึ่งเป็นพืชหลักของเกษตรกรประจวบคีรีขันธ์ ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนมาตรการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากต่างประเทศใหม่ และส่งเสริมผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมของคนไทย