อุตฯเหล็กวอนพาณิชย์ ทบทวนยุติเอดี 6 ชาติยักษ์ใหญ่ ชี้จุดเริ่มต้นปิดกิจการ

10 มี.ค. 2566 | 09:03 น.

กลุ่มคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน-เหล็กแผ่นรีดเย็น ชักแถววอนพาณิชย์ทบทวนมติยุติการใช้มาตรการเอดีสินค้าเหล็กจาก 6 ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่โลก ชี้หลักการพิจารณาขัดแย้งกับหลักการในอดีต ผวาเป็นจุดเริ่มต้นอุตฯเหล็กในประเทศทยอยปิดกิจการ

จากที่กระทรวงพาณิชย์ได้แจ้งผลการไต่สวนเพื่อทบทวนความจำเป็นในการบังคับใช้ต่อของมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping : AD)  สำหรับสินค้าเหล็กล่าสุด โดยคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้มีมติให้ยุติการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก 3 มาตรการรวด โดยเป็นสินค้าเหล็กจาก 6 ประเทศที่ถือเป็นผู้ทุ่มตลาดรายใหญ่ของโลก ได้แก่ จีน เวียดนาม ตุรกี บราซิล อิหร่าน และมาเลเซีย โดยผู้ผลิตเหล็กในประเทศระบุ เป็นมติยุติมาตรการ AD รวดเดียวมากสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีการใช้มาตรการตอบโต้สินค้าทุ่มตลาดตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา

แต่อีกด้านผู้นำเข้าเหล็กและผู้ใช้เหล็กในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ออกมาสนับสนุนให้ยุติการใช้มาตรการเอดีกับเหล็กนำเข้า อ้างเหตุผลการใช้มาตรการเอดีทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น และการบังคับใช้มาตรการที่ผ่านมาถือว่านานพอที่อุตสาหกรรมภายในจะได้ปรับตัว และพัฒนาให้สามารถแข่งขันได้แล้ว อย่างไรก็ดียังมีความเห็นต่างจากภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่องตามมาอีก

โดย นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า มติคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดฯที่ให้ยุติการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากต่างประเทศดังกล่าว อาจเป็นจุดเริ่มต้นทำให้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศต้องปิดกิจการลง เนื่องจากประเทศที่กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก ต่างเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก ได้แก่ จีนอันดับ 1  ตุรกีอันดับ 7 บราซิลอันดับ 9 อิหร่านอันดับ 10  เวียดนามอันดับ 13 และมาเลเซียอันดับ 26 ของโลก (ตามข้อมูลล่าสุดของสมาคมเหล็กโลก (World Steel Association))  

ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยที่เผชิญกับปัญหาสินค้าเหล็กจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดมาโดยตลอด ปัจจุบันมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยเพียง 33% เท่านั้น เทียบกับเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมีการใช้กำลังการผลิตมากถึง 89%  หากรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายโดยยุติมาตรการ AD ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยให้เกิดการค้าที่เป็นธรรม การใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศต้องลดลงไปอีกอย่างแน่นอน และในที่สุดจะไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เนื่องจากไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต

นอกจากนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กกว่า 60% ของความต้องการใช้เหล็กของประเทศ โดยหากไม่มีผู้ผลิตในประเทศแล้ว อุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศก็จะไม่มีอะไรมาคานอำนาจการต่อรองกับประเทศผู้ผลิตเหล็กต่างประเทศได้เลยทั้งในด้านราคา และการส่งมอบสินค้า

อุตฯเหล็กวอนพาณิชย์ ทบทวนยุติเอดี 6 ชาติยักษ์ใหญ่ ชี้จุดเริ่มต้นปิดกิจการ

ทั้งนี้ข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (WTO) พบว่าสินค้ากลุ่มโลหะสามัญและของทำด้วยโลหะสามัญ ซึ่งมีเหล็กเป็นสินค้าหลักของกลุ่มสินค้านี้ มีการบังคับใช้มาตรการ AD เป็นสัดส่วนสูงสุดกว่า 40% ของการใช้มาตรการ AD ทั่วโลก ดังนั้นมาตรการ AD สินค้าเหล็กจึงเป็นมาตรการที่สำคัญที่รักษาความเป็นธรรมทางการค้า และช่วยให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

นางสาวกรรณิการ์ ยมจินดา นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย กล่าวว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศได้รับเอกสารรายละเอียดข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาร่างผลการทบทวนความจำเป็นในการใช้บังคับอากรตอบโต้การทุ่มตลาดต่อไป กรณีสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากประเทศจีน และมาเลเซีย ซึ่งปรากฎว่าคณะกรรมการฯ มีผลการพิจารณาให้ยุติมาตรการเช่นเดียวกันกับกรณีบราซิล อิหร่าน และตุรกี

โดยเหตุผลที่ใช้ในการพิจารณาให้ยุติมาตรการเป็นสิ่งที่น่ากังขาเป็นอย่างมาก เนื่องจากขัดแย้งกับหลักการพิจารณาทบทวนฯ ในอดีตเมื่อปี 2560 ในทุกประเด็น เช่น การพิจารณาครั้งนี้ใช้เหตุผลเรื่องการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีน และมาเลเซียของไทย รวมถึงการส่งออกของจีน และมาเลเซียมายังประเทศไทยลดลง มาเป็นเหตุผลหลักในการพิจารณายุติมาตรการ ทั้งที่เป็นเรื่องปกติในช่วงการใช้มาตรการ

แต่ในทางกลับกัน ปริมาณการผลิตส่วนเหลือที่มีอยู่จำนวนมากของประเทศจีน (ปัจจุบันมีกำลังการผลิตส่วนเกินกว่า 170 ล้านตัน) ที่เคยใช้ในการพิจารณาต่ออายุมาตรการในปี 2560 ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการส่งออก กลับไม่มีการนำมาพิจารณาในการไต่สวนครั้งนี้

นอกจากนี้การนำเพียงผลประกอบการ หรือความเสียหายมาพิจารณายุติมาตรการทั้ง ๆ ที่กรมการค้าต่างประเทศได้เคยชี้แจงเมื่อปี 2560 ว่าการต่ออายุมาตรการ AD ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน โดยพิจารณาถึงแนวโน้มว่าจะมีการทุ่มตลาด และความเสียหายฟื้นคืนมานั้นไม่จำเป็นต้องมีการทุ่มตลาด และความเสียหายในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติสากลที่ใช้กันทั่วโลก ซึ่งหากกรมการค้าต่างประเทศ และคณะกรรมการฯ ยังคงนำหลักการนี้มาใช้ในการพิจารณาทบทวนฯ เท่ากับว่าต่อไปในอนาคตคงแทบจะไม่มีมาตรการใดได้ต่ออายุมาตรการอย่างแน่นอน เพราะหากใช้มาตรการแล้วปริมาณนำเข้ายังสูงเช่นเดิม หรือเพิ่มมากขึ้นแสดงให้เห็นถึงมาตรการไม่มีประสิทธิภาพซึ่งในกรณีแบบนี้ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนอยู่แล้ว

อุตฯเหล็กวอนพาณิชย์ ทบทวนยุติเอดี 6 ชาติยักษ์ใหญ่ ชี้จุดเริ่มต้นปิดกิจการ

ด้าน นายณรงค์ฤทธิ์ โชตินุชิตตระกูล นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย ให้ข้อมูลว่า การยุติมาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนถึง 5 ประเทศในคราวเดียวย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศอย่างแน่นอน โดยเฉพาะจากประเทศจีนซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นประเทศที่เป็นเป้าหมายในการบังคับใช้มาตรการ AD ของนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่ามีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน และหากอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนปิดตัวลงย่อมกระทบถึงห่วงโซ่การผลิตสินค้าเหล็กในประเทศอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ผู้ผลิตสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นมีความกังวลถึงแนวทางในการพิจารณาทบทวนการบังคับใช้มาตรการ AD ของกรมการค้าต่างประเทศ และคณะกรรมการฯ เช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยมีการบังคับใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นจากประเทศจีน เวียดนาม และไต้หวัน ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่มีการบังคับใช้มาตรการ AD ปริมาณนำเข้าสินค้าที่ถูกพิจารณาก็มีปริมาณการนำเข้าที่ลดลง และในการต่ออายุมาตรการในปี 2562 ปริมาณนำเข้าก็มีปริมาณลดลงเช่นกัน รวมถึงมีผลการดำเนินการที่ดีขึ้นหลายปัจจัยซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้นประเด็นดังกล่าวไม่ได้มีผลในการยุติการบังคับใช้มาตรการแต่อย่างใด เนื่องจากกรมการค้าต่างประเทศ และคณะกรรมการฯ ในขณะนั้น เน้นที่การพิจารณาเรื่องแนวโน้มความเสียหายที่จะฟื้นคืนมาจากการที่ประเทศจีน เวียดนาม และไต้หวัน ยังคงมีอัตราการทุ่มตลาดที่สูง ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

“หากหลักการพิจารณามีการเปลี่ยนแปลง เช่นกรณีของสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อน ตามที่ได้มีร่างผลการทบทวนฯ ออกมาแล้ว ผู้ผลิตสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นในประเทศมีความกังวลว่าอาจจะถูกยุติมาตรการในอนาคตเช่นกัน ดังนั้นสมาคมฯ ขอให้กรมการค้าต่างประเทศกลับไปใช้แนวทางในการพิจารณาทบทวนความจำเป็นในการใช้มาตรการฯ ดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และสอดคล้องกับแนวทางการพิจารณาที่เป็นสากลทั่วโลก” นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าว