โค้งท้าย ชงครม.สร้างทางคู่เฟส 2 “ขอนแก่น-หนองคาย” 2.97 หมื่นล้าน

04 มี.ค. 2566 | 01:40 น.

“คมนาคม” จ่อชงครม.ไฟเขียวสร้างทางคู่เฟส 2 นำร่องช่วง “ขอนแก่น-หนองคาย” 2.97 หมื่นล้าน ขณะ6 เส้นทาง ติดหล่มอีไอเอ-อัพเดตข้อมูลปัจจุบัน โยน รัฐบาลใหม่ไฟเขียว ภายในปี 2566

กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดผลักดันเมกะโปรเจ็กต์หลายโครงการ และหนึ่งในนั้นคือโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 หลังจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่1 และเปิดให้บริการไปแล้วในบางเส้นทาง

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าสำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 วงเงินรวม 2.74 แสนล้านบาท ระยะทางรวม 1,483 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีแผนจะเร่งรัดโครงการฯ นำร่องช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 2.97 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์ราว 9 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 369 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาจัดการประกวดราคาประมาณ 7 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 28,759 ล้านบาท และค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 604 ล้านบาท

เบื้องต้นรฟท.ได้ตรวจสอบแนวเขตการปกครองแผนที่แนบท้ายเพื่อจัดทำร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินเพิ่มเติม กับกรมการปกครองแล้ว ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ส่งข้อมูลดังกล่าว เพื่อเสนอต่อสำนักงบประมาณให้ความเห็นประกอบเพิ่มเติม คาดว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้

 

 สำหรับรูปแบบโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับรถไฟ ทั้งหมด 15 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 3 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีหนองตะไก้ 2.สถานีนาทา 3.สถานีเขาสวนกวาง ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีแผนผลักดันรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เพิ่มอีก 6 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3.75 หมื่นล้านบาท ขณะนี้รฟท. อยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน หลังจากนั้นจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณา และเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในปี 2566

 

สำหรับรูปแบบโครงการฯช่วงดังกล่าว มีระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับ ทั้งหมด 35 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง ได้แก่ 1.ที่หยุดรถบ้านตะโก 2.สถานีบุฤาษี 3.สถานีหนองแวง 4.สถานีบุ่งหวาย ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

 2.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.28 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันนี้รฟท. อยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน หลังจากนั้นจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณา และเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในปี 2566 โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดิน ทางยกระดับรถไฟ และอุโมงค์ ทั้งหมด 39 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 3 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีบางกะทุ่ม 2.สถานีวังกะพี้ 3.สถานีศิลาอาสน์ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

 3.ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ระยะทาง 189 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5.68 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันรฟท. อยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูลและปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามความเห็นคณะกรรมการผู้ชานาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) คาดว่าจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในปี 2566 โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดิน ทางยกระดับรถไฟ และอุโมงค์ ทั้งหมด 17 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 2 แห่งได้แก่ 1.สถานีห้างฉัตร 2.สถานีสารภี ความเร็วในการให้บริการ 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

โค้งท้าย ชงครม.สร้างทางคู่เฟส 2 “ขอนแก่น-หนองคาย” 2.97 หมื่นล้าน

4.ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 2.42 หมื่นล้านบาท ขณะนี้รฟท. แก้ไขและปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คาดว่าจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในปี 2566 โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับรถไฟ ทั้งหมด 22 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง คือ สถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

5.ช่วงสุราษฎร์ธานี - ชุมทางหาดใหญ่ – สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5.73 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันรฟท. แก้ไขและปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คาดว่าจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในปี 2566 โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดิน ทางยกระดับรถไฟ และอุโมงค์ ทั้งหมด 65 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 2 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีชุมทางทุ่งสง 2.สถานีบางกล่ำ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

 6.ช่วงชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.66 พันล้านบาท ที่ผ่านมารายงานการวิเคราะห์ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว คาดว่าจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในปี 2566 โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับ ทั้งหมด 3 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง คือ สถานีปาดังเบซาร์ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง