ครม.จัดงบกลางให้คลังเพิ่มทุน “เหมืองแร่โพแทช” อาเซียน 90 ล้าน

01 มี.ค. 2566 | 02:52 น.

ครม.ไฟเขียวจัดงบกลางให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุน “เหมืองแร่โพแทช” อาเซียน จำนวน 90 ล้าน ในบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) รอเอกชนเข้าร่วมทุนเพิ่ม

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบการเพิ่มทุนในโครงการเหมืองแร่โพแทช ของอาเซียน โดยเพิ่มทุนเพื่อชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนส่วนแรกในสัดส่วนของกระทรวงการคลัง จำนวน 90 ล้านบาท สำหรับบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) 

เพื่อคงสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลเจ้าของโครงการเป็นไปตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement) และให้โครงการสามารถดำเนินงานต่อไปได้

พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาใช้จ่ายงบกลาง ปีงบประมาณ 2566 เพื่อชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนแรกตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

ภาพประกอบข่าวโครงการเหมืองแร่โพแทช ของอาเซียน

“เหมืองแร่โพแทช” อาเซียน คืออะไร

โครงการ “เหมืองแร่โพแทช” ของอาเซียน นับเป็นเป็นโครงการภายใต้ข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน โดยไทยเป็นสมาชิกร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบูรไน ซึ่งข้อตกลงกำหนดให้ประเทศเจ้าของโครงการต้องร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 60% ของยอดลงทุนทั้งหมด 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเจ้าของโครงการต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 20% ของยอดเงินลงทุนนั้น โดยอีก 40% ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นผู้ลงทุน  

การดำเนินโครงการมีบริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการ มีทุนจดทะเบียน 2,805.8 ล้านบาท และกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 20% คิดเป็นเงิน 516.16 ล้านบาท ลักษณะของโครงการ เป็นการทำเหมืองใต้ดินซึ่งมีแร่โพแทชและเกลือหินเป็นผลผลิตสำคัญ ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ มีมูลค่าแหล่งแร่รวม 200,000 ล้านบาท 

ที่ผ่านมาได้เริ่มพัฒนาเหมืองขั้นต้นเพื่อการผลิตแร่โพแทชไว้แล้ว เช่น การขุดเจาะอุโมงค์เข้าสู่เหมืองใต้ดินเพื่อการขนส่ง การสร้างห้องใต้ดินเพื่อทดลองผลิตแร่โพแทช ซึ่งไม่พบปัญหาด้านวิศวกรรม 

เจอปัญหาหนักหาทุนทำไม่ได้

ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา บริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถหาทุนเพื่อดำเนินธุรกิจได้ แม้ภาครัฐโดยกระทรวงการคลังได้พยายามเพิ่มทุนแก่บริษัทหลายครั้ง เช่น ขยายนิยามผู้ถือหุ้นในสัดส่วนของรัฐบาลไทยให้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจไทย รวมถึงบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจไทย แต่ไม่มีหน่วนงานใดสนใจ จึงไม่สามารถผลิตแร่ได้ตามเป้าหมาย

อีกทั้ง มีภาคเอกชนรายใหม่ให้ความสนใจที่จะลงทุนในโครงการ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทเปลี่ยนแปลง กระทรวงการคลังจึงต้องเพิ่มทุนในครั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน

 

ภาพประกอบข่าวโครงการเหมืองแร่โพแทช ของอาเซียน

มูลค่าเหมืองแร่โพแทช กว่า 2 แสนล้าน 

โครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน จังหวัดชัยภูมิ เป็นโครงการทำเหมืองใต้ดินแร่โพแทช และเกลือหิน เมื่อนำแร่โพแทชที่ได้จากการทำเหมืองเข้าสู่กระบวนการแต่งแร่ จะได้โพแทสเซียมคลอไรด์ (KC) ประมาณ 17 ล้านตัน และเกลือหินจากการทำเหมืองประมาณ 7.7 ล้านตัน โดยมีมูลค่าแหล่งแร่รวมทั้งสิ้นประมาณ 2 แสนล้านบาท

สำหรับการพัฒนาเหมืองใต้ดิน โครงการได้เคยเตรียมการพัฒนาเหมืองใต้ดินในขั้นต้นเพื่อการผลิตแร่โพแทชไว้แล้ว โดยได้ขุดเจาะอุโมงค์แนวเอียง ขนาดความกว้าง 6 เมตร สูง 3 เมตร ยาว 935 เมตร ลงสู่ใต้ดินที่ระดับความลึก 190 เมตร จากระดับผิวดิน เพื่อใช้เป็นอุโมงค์เข้าสู่เหมืองใต้ดินและเพื่อการขนส่ง 

ทั้งนี้ได้เจาะอุโมงค์แนวราบยาวประมาณ 1,000 เมตร เข้าสู่ชั้นแร่เพื่อผลิตแร่ และได้ทดลองผลิตแร่โพแทชที่มีห้องผลิตแร่ขนาดความกว้าง 15 เมตร ยาว 60 เมตร สูง 25 เมตร จำนวน 3 ห้องผลิตแร่ ซึ่งแต่ละห้องผลิตแร่จะถูกกั้นด้วยเสาค้ำยันขนาดความกว้าง 20 เมตร โดยไม่พบปัญหาด้านวิศวกรรม และมีความพร้อมที่จะพัฒนา เป็นเหมืองใต้ดินต่อไป

จ้างที่ปรึกษาเช็คผลตอบแทนโครงการ

โครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) จำนวน 2 ครั้ง ได้แก่

1.บริษัท Jacobs Solutions Inc. (เดิมชื่อ บริษัท Jacobs Engineering Group Inc.) ประเทศสหรัฐอเมริกา : เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านเทคนิคระดับมืออาชีพระหว่างประเทศโดยให้บริการด้านวิศวกรรม เทคนิคและการก่อสร้าง ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในปี 2538 พบว่าอัตราผลตอบแทนของโครงการ (IRR) เท่ากับ 12.2%

2.บริษัท ERCOSPLAN ประเทศเยอรมันนี : เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการ ให้คำปรึกษาและบริการด้านวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมแร่โพแทชและเกลือแร่ ได้ศึกษาความเป็นไปได้ ของโครงการในปี 2562 พบว่า IRR ของโครงการ เท่ากับ 12.1%