เขย่าตลาดเบียร์ ไทยเบฟ ส่ง “ช้าง โคลด์ บรูว์” ชิงส่วนแบ่งเพิ่ม

27 ก.พ. 2566 | 21:57 น.

ไทยเบฟ เปิดเกมชิงเบอร์ 1 ตลาดเบียร์แสนล้าน อาศัยจังหวะกะแสกินดื่มแบบ Low energy ทุ่ม 1000 ล้านชู “ช้าง โคลด์ บรูว์ ” เปิดหน้ารุกตลาดพรีเมียมแมสทั่วประเทศ หวังเพิ่มสัดส่วนในเซกเมนต์เบียร์ในกลุ่มไทยเบฟ 15%

ตลาดเครื่องดื่ม “แอลกอฮอล์” ยังเป็นตลาดที่คงความเซ็กซี่มาอย่างยาวนานด้วยมูลค่าตลาดสูงแตะ 2.6แสนล้านบาท โดยสัดส่วนการบริโภคที่สูงสุดยังคงเป็นเซกเมนต์ตลาด  “เบียร์” ครองมาร์เก็ตแชร์54.3% ตลาดรวม โดยเจ้าตลาดเบอร์ 1 ของตลาดเบียร์ยังคงเป็น บจก.บุญรอดบริวเวอรี่ 57.9% ตามด้วย บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (34.3%) และ บจก.ไทย เอเชียแปซิฟิค บริวเวอรี่ (4.7%) โดยแบรนด์ ‘ลีโอ’ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 44.8% รองลงมา คือ ‘ช้าง’ (31.2%) ‘สิงห์’ (11.2%) ‘ไฮเนเกน’ (3.8%) และ ‘อาชา’ (2.4%) 

นายเลสเตอร์ ตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

อย่างไรก็ตามในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา "ไทยเบฟ" เบอร์รองของตลาดตั้งเป้าขึ้นเป็น “เบอร์ 1”ตลาดเบียร์ในประเทศไทย หลังจากรั้ง เบอร์ 2 ทิ้งห่างเจ้าตลาดเพียงเล็กน้อย ทำให้ในระยะ2-3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจเบียร์ ในเครือไทยเบฟ มีความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามอย่างมาก ตั้งแต่การดึงเลสเตอร์ ตัน เข้ามาคุมบังเหียนในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

ทั้งนี้ในพอร์ตธุรกิจเบียร์ ของ ไทยเบฟ ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ BeerCo ที่ดูแลการผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ในประเทศไทยทั้งหมดของ “ไทยเบฟ” ได้แก่ เบียร์ช้าง, อาชา, เฟเดอร์บรอย รวมถึงการผลิตและจัดจำหน่าย เบียร์ ไซ่ง่อน และ 333 ในเวียดนามของบริษัท ไซง่อนเบียร์ แอลกอฮอล์ เบเวอเรจ หรือ ซาเบโค แต่ไม่ร่วมการขายเบียร์ในประเทศอื่น ๆ

 

โดย “ช้าง” ที่แข็งแกร่งอย่างมากในตลาดแมส เริ่มขยับตัวและอัพเกรดตัวเองให้เป็นพรีเมียมมากขึ้นและเริ่มเปลี่ยนเบียร์สตรีมขวดน้ำตาลเป็นขวดเขียวในปี 2015 และเมื่อ 5 ปีผ่านมาได้ออกสินค้าใหม่บุกตลาดพรีเมียมโดยเฉพาะ “ช้าง โคลด์ บรูว์ ” ตามมาด้วย “เบียร์ผสมกาแฟเอสเปรสโซ” ที่ออกสู่ตลาดเมื่อ2 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่ปลายปีที่ผ่านมา “ช้าง” สร้างความฮือฮาโดยเปิดตัว “ช้าง อันพาสเจอไรซ์” วางจำหน่ายเฉพาะเชียงใหม่และเชียงรายเท่านั้น

 

ล่าสุดตลาดเบียร์ในประเทศไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังจากซบเซามานานในช่วงโควิด ไทยเบฟจึงจับจังหวะดังกล่าว ดึง “ช้าง โคลด์ บรูว์” กลับมาทำการตลาดอีกครั้งโดยทุ่มงบก้อนโตกว่า 1000 ล้านบาทในการแจ้งเกิด “ช้าง โคลด์ บรูว์” ไปทั่วประเทศหลังจากปักธงขายเฉพาะเชียงใหม่ เชียงรายและกรุงเทพมานาน เพื่อชิงสัดส่วน 15% ของพอร์ตธุรกิจเบียร์ในเครือไทยเบฟจากสัดส่วนปัจจุบันที่อยู่ในเลขหลักเดียว 

 

นายเลสเตอร์ ตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2565 ที่ผ่านมา เบียร์แมสพรีเมียมเป็นเซกเมนต์ที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยมูลค่าตลาด 25,000 ล้านบาท และอัตราการเติบโตที่สูงถึง 10% โดย “ช้าง โคลด์ บรูว์” เติบโตเป็นอันดับ 1 ในบรรดาเบียร์ที่เปิดตัวใหม่ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตามในระยะหลัง พฤติกรรมการดื่มเบียร์ของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป โดยการกินดื่มในรูปแบบ relax เริ่มขยายตัวมากขึ้น ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆเพิ่มขึ้น เช่นงานอีเว้นต์หรือกิจกรรมกลางแจ้งที่เน้นบรรยากาศสบายๆไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตที่เขาใหญ่หรือเชียงใหม่ ส่วนศิลปินที่เป็นกระแสมาแรงในปัจจุบันเช่น “โบกี้ ไลอ้อน” แนวเพลงที่ได้รับความนิยมเน้นทำนองที่ฟังสบายๆ 

 

ดังนั้นรูปแบบการกินดื่มแบบรีแลกซ์กับเพื่อนฝูง  หรือ  Low energy  จึงเป็นกระแสที่มาแรงมากในปัจจุบัน และมีสัดส่วนที่มากกว่าการกินดื่มในรูปแบบ  High Energy ตั้งแต่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ซึ่งเป็นกะแสที่เกิดทั่วโลกและจะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในระยะยาว 

 

โดยในปี 2566 นี้ “ช้าง โคลด์ บรูว์” จะถูกขับเคลื่อนด้วยกลยุทธิ์ 3 ด้านคือ 1  ผลิตภัณฑ์ ที่มีเอกลักษณ์คือการใช้มอลต์ 100%ในการผลิตผ่านกระบวนการโคลด์บรูว์  process ผ่านการกรองในอุณหภูมิ - 2 องศาจนเกิดเกร็ดน้ำแข็งในฟองเบียร์ ทำให้มีกลิ่นหอมของมอลต์ นุ่มและดื่มง่าย เหมาะกับตลาด low energy ในเรื่องของความรีแลกซ์และการพักผ่อนกับเพื่อน 

 

2 นวัตกรรม ที่ถูกเพิ่มเข้าไปในสินค้านี้ตัวนี้ช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับผลิตภัณฑ์ เพราะคนไทยชอบสินค้าแปลกๆใหม่ๆเสมอ นอกจากนวัตกรรมในกระบวนการผลิตแล้ว ยังมีนวัตกรรมด้านอื่นๆเช่นpackaging เช่นกล่องยาวที่สามารถบรรจุเบียร์ได้ 25 กระป๋อง รวมทั้งถังเบียร์สด 5 ลิตร นวัตกรรมเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภครู้จัก“ช้าง โคลด์ บรูว์”และทดลองสินค้า นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะออกนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 นี้อีกด้วย

 

3 การขยายการกระจายสินค้าให้ครบทุกช่องทาง เพราะในช่วงแรกของการวางจำหน่าย “ช้าง โคลด์ บรูว์”ถูกจำกัดการขายเฉพาะพื้นที่ เชียงใหม่ เชียงราย และกรุงเทพ โฟกัสใน ในlarge mallและ TRADITIONAL TRADE  ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคอย่างมาก โดย 74% ของผู้บริโภคที่ได้ลองกลับมาซื้อซ้ำ แต่ปัญหาคือช่องทางจำหน่ายค้าปลีกที่โฟกัสในเซกเมนต์ AและB ทำให้สินค้าหาซื้อได้ยาก 

 

“เนื่องจากกระแสของ “Low energy” ที่มีการดื่มกินกับเพื่อนในบรรยากาศสบายๆเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสทองของ “ช้าง โคลด์ บรูว์” ที่จะขยายตลาดออกไปทั่วประเทศเพื่อสร้างการเติบโตอย่างเข้มแข็งในทุกช่องทางโดยเฉพาะช่อง  traditional Trade และ on Trade ซึ่งเป็นช่องทางการขายที่กินสัดส่วนมากที่สุดของเบียร์ในตลาดรวมกว่า80%  และ Modern Trade 20%  หลังจากนี้เราจะจับตลาดในทุกแชนแนลรวมทั้งโฮเรก้าของไทยเบฟทั้ง Hotel และ Restaurant ด้วย โดยตั้งเป้าเติบโต 15% ในสัดส่วนตลาดเบียร์ของไทยเบฟ จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียงหลักหน่วยดังนั้นเราต้องการสร้างการเติบโตมากกว่า2 เท่า

 

ทางค้าปลีกเทรดดิชั่นนอลเทรด  เรามีสัดส่วนวอลลุ่มประมาณ 80% ตอนนี้เราจะเข้าตลาดนี้เมื่อก่อนเราไม่ค่อยเข้าตลาดนี้ เป้าหมายเราต้องการที่จะเติบโต 15% ในสัดส่วนตลาดเบียร์ของไทยเบฟจากปัจจุบัน ตัวเลขหลักเดียว เราต้องการสร้างการเติบโตมากกว่า2 เท่า”

 

ผู้บริหารกล่าวต่อไปว่า ในปีนี้บริษัทได้ทุ่มงบมากกว่า 1,000 ล้านบาทเพื่อผลักดัน “ช้าง โคลด์ บรูว์” ในทุกช่องทางพร้อมทั้งมีแผนจะจัดกิจกรรมทางดนตรีและคอนเสิร์ตทั้งในประเทศและระดับสากลตลอดทั้งปี โดยตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งสัดส่วนพอร์ตเบียร์แมสพรีเมียมของช้างเป็น 15% ภายในปีนี้