สศช. หวังเลือกตั้ง 2566 กระตุ้นบริโภค สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

17 ก.พ. 2566 | 10:29 น.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หวังเศรษฐกิจไทยในช่วงศึก “เลือกตั้ง 2566”จะช่วยกระตุ้นการบริโภค สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 แม้จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้จากวิกฤตไวรัสโควิด-19 แต่ก็ยังมีข้อกังวลหลายเรื่อง โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินปัจจัยเสี่ยงสำคัญนั่นคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ซึ่งน่าจะมีผลกระทบไม่น้อยกับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่กำลังเข้าสู่โหมด "การเลือกตั้ง

ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดไทม์ไลน์ออกมาแล้ว โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2566 ซึ่งอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ทำให้ ส.ส.ทั้งหมดต้องพ้นจากตำแหน่ง เหลือแต่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ยังนั่งต่อได้อีก 1 ปี ขณะที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี มีสถานะรักษาการ พร้อมกำหนดให้วันที่ 7 พ.ค. 2566 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เศรษฐกิจไทยโตเปราะบาง สศช. หั่นเป้า GDP ปี 66 เหลือ 3.2% หลังปี 65 โต 2.6%

 

ภาพประกอบข่าว สศช. ประเมินเศรษฐกิจไทยในช่วงของ "การเลือกตั้ง" ของไทยในปี 2566

เศรษฐกิจไทยช่วงการเลือกตั้งเป็นอย่างไร

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่า จะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.2% พร้อมทั้งคาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.2% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัว 2.1% และ 2.7% ตามลำดับ 

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 1.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5 – 3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ของ GDP แต่ทั้งหมดจะเป็นไปได้ต้องมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ดังนี้

  • การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 
  • การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ
  • การขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน 
  • การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร

 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566

การเลือกตั้ง 2566 ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุกับฐานเศรษฐกิจว่า ในช่วงการเลือกตั้งของไทยที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ จะมีผลต่อเรื่องเศรษฐกิจหลัก ๆ คือ ตัวเลขการบริโภคภายในประเทศ โดยทั้งปี สศช. ประเมินการบริโภคยังไปได้ดีอยู่ 

อย่างไรก็ตามในช่วงของการเลือกตั้งนั้น อยากให้ทุกคนช่วยกันรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ ไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือเกิดความรุนแรงขึ้น เพราะถ้าประเด็นปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้ว จะทำให้ภาพออกไปสู่สายตาชาวโลก โดยเฉพาะบรรดานักลงทุนเห็นภาพประเทศไทยว่าน่าลงทุนหรือไม่

“การรักษาบรรยากาศในปี 2566 ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะภาพต่าง ๆ จะส่งต่อไปยังทั่วโลกให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร และภาพเหล่านี้ก็ไม่ใช่สำคัญแค่เฉพาะช่วงการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ช่วงที่ผ่านการเลือกตั้งไปแล้วก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน โดยสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือต้องรักษาบรรยากาศการลงทุนให้ดีไปอย่างนี้เรื่อย ๆ เพราะตอนนี้นักลงทุนต่างชาติก็สนใจเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก”

 

สศช. ประเมินปัจจัยเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ ในปี 2566 หนึ่งในนั้นคือเรื่องการเมือง

 

8 แนวทางบริหารนโยบายเศรษฐกิจปี 2566 

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีข้อเสนอในเรื่องของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2566 ของประเทศไทย ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ ทั้ง 8 เรื่อง ดังต่อไปนี้ 

1. การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งหนี้สินในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 

2. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาด การสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิตของภาคการเกษตร การปรับโครงสร้างการผลิต และการขยายผลการทำเกษตรยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ 

3. การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า ดังนี้

  • การอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก 
  • การส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง 
  • การติดตามประเมินสถานการณ์และเงื่อนไขการค้าโลก 
  • การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิต 
  • การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัด
  • การเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา 
  • การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน 

4. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง ดังนี้

  • การแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมให้ภาคการท่องเที่ยวรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งการพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ ให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ 
  • การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและยั่งยืน 
  • การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
  • การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ 

5. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ดังนี้

  • การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563 - 2565 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะโครงการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 
  • การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต 
  • การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย 
  • การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ 
  • การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ 
  • การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้น 

6. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระยะปานกลางและเพิ่มศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 

7. การติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก 

8. การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ

 

สศช. แนะ 8 แนวทางสำคัญในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจปี 2566