"แลนด์บริดจ์"พลิกโฉมไทยขึ้นชั้นศูนย์กลางเส้นทางขนส่งสินค้าโลก 

09 ก.พ. 2566 | 10:33 น.

ย้ำแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพรไม่ขุดคลอง แต่ทำถนน ทางรถไฟ ทางด่วน ทางท่อเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ที่ทำได้เองเลยในประเทศ

"อนุทิน"ชี้อีกนานกว่าจะเสร็จ แต่ต้องวางรากฐานเพื่ออนาคต เพื่อยกระดับไทยสู่ผู้เล่นระดับโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมาเป็นประธานเปิดการสัมมาวิชาการ การพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเชิงรุก ที่โรงพยาบาลระนอง และกล่าวตอนหนึ่งว่า การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ หรือการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือชุมพร-ระนอง ไม่ใช่การขุดคลอง แต่เป็นการสร้างถนน สร้างทางรถไฟ สร้างทางยกระดับ วางท่อแก๊ส และเจาะอุโมงค์ที่ผ่านภูเขา เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 

 "แลนด์บริดจ์"พลิกโฉมไทยขึ้นชั้นศูนย์กลางเส้นทางขนส่งสินค้าโลก 

 "แลนด์บริดจ์"พลิกโฉมไทยขึ้นชั้นศูนย์กลางเส้นทางขนส่งสินค้าโลก 

นับว่าโชคดีของชุมพร-ระนอง ที่บรรพบุรุษได้วางรากฐานไว้ดี มีสนามบินทั้งสองจังหวัด ส่วนภูมิประเทศก็สามารถทำท่าเรือขนส่งสินค้าได้ โดยที่ไม่ต้องขุดคลอง ไม่ต้องตัดภูเขา ไม่ต้องตัดแผ่นดิน  เพียงแต่ไปทำถนนขึ้นใหม่อีกเส้นหนึ่ง เหมือนกับที่เคยทำถนนเพชรเกษม จากกรุงเทพฯไปถึงหาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในประเทศเราเอง จะสร้างอย่างไรก็ได้เป็นเรื่องของเรา  แต่ว่าคุณูปการนี้จะทำให้ประเทศไทยของเรามีความได้เปรียบทันที 

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ตนและปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปประชุมเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรั่ม (World Economic Forum-WEF)มา ทั่วโลกบอกว่ามีปัญหา  ยุโรปมีปัญหา จีนมีปัญหากับสหรัฐฯ สหรัฐฯก็มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง กับเรื่องสงครามในยุโรป  

 "แลนด์บริดจ์"พลิกโฉมไทยขึ้นชั้นศูนย์กลางเส้นทางขนส่งสินค้าโลก 

โอกาสเศรษฐกิจของโลกในทศวรรษ คือ 10 ปีข้างหน้านี้ อยู่ที่อาเซียน เพราะอาเซียนเป็นตัวลิงก์ (เชื่อมโยง) ตะวันตกกับตะวันออก ต่อไปการขนส่งไม่ต้องอ้อมแหลมมลายู เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์จากยุโรป สามารถขนย้ายขึ้นรถไฟหรือรถบรรทุก จากฝั่งระนองไปลงเรือยังฝั่งชุมพรได้ เพื่อจะส่งต่อไปยังจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน  ได้หมด  จะทำให้เราเป็นชุมทาง เป็น Port เป็นศูนย์กลาง 

"ขณะที่ตลอดเส้นทางระนองไปจนถึงชุมพร การลงทุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้น ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ต้องกลัว เพราะมีวิธีการจัดการสิ่งแวดล้อม เกิดการจ้างงานรายได้ก็จะเกิด แต่กว่าจะถึงวันนั้นเราคงตายหมดแล้ว แต่ต้องวางรากฐานไว้ โดยในระหว่างที่กำลังก่อสร้าง โลกทั้งใบมาอยู่ที่เราแล้ว จะใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ ใช้แรงงานเท่าไหร่ มีสินค้าอะไรเท่าไหร่ที่จะขนส่ง เกิดการวางแผนการลงทุนพัฒนามาใช้ในการคมนาคมขนส่งสินค้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไม่ใช่Regional (ภูมิภาค) อีกต่อไป แต่จะเป็น Player หลักของโลก" 

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า อีก 30-40 ปีถ้าสิ่งเหล่านี้สำเร็จ ถ้าคนระนองและคนใต้ช่วยกัน มองความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นหลัก อีกหน่อยคนทั้งโลกก็จะมาที่ระนอง-ชุมพร  เรามี EEC (Eastern Economic Corridor) หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกแล้ว ทำไมจะมี SEC (Southern Economic Corridor) หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ไม่ได้  ขอให้แค่มีส่วนร่วมและผลักดัน มันจะต้องเกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะอยู่ไม่ได้