"อีสท์ วอเตอร์" ส่งคืนทรัพย์สินให้กรมธนารักษ์ไตรมาส 1/66

01 ก.พ. 2566 | 06:09 น.

"อีสท์ วอเตอร์" ส่งคืนทรัพย์สินให้กรมธนารักษ์ไตรมาส 1/66 ลั่นไม่ใช่การส่งคืนทั้งหมดในครั้งเดียว เหตุส่วนของการจัดการน้ำปัจจุบันยังต้องอาศัยระบบของบริษัท

นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ (EASTW) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการส่งมอบโครงการท่อส่งน้ำอีอีซีให้กับกรมธนารักษ์ว่า ในเบื้องต้นนั้นการส่งมอบจะทยอยส่งทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับส่วนโอเปอเรทก่อน เช่น บ้านพัก และโรงสูบน้ำ 

ทั้งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 อย่างไรก็ดี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการส่งน้ำยังต้องมีการเจรจากับทางกรมธนารักษ์ถึงมาตรการแก้ไขในพื้นที่ทับซ้อนต่าง ๆ ว่าจะดำเนินการในลักษณะใด

สำหรับการส่งมอบคืนนั้น ต้องเรียนว่าว่าอาจจะไม่ใช่การส่งคืนทั้งหมดในครั้งเดียว เนื่องจากในส่วนของการจัดการน้ำปัจจุบันยังต้องอาศัยระบบของบริษัทเราดำเนินการอยู่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ในส่วนทับซ้อนกันซึ่งยังหาข้อตกลงไม่ได้ ซึ่งบริษัทได้เสนอเรื่องไปยังกรมธนารักษ์แล้วให้ดำเนินการหาข้อตกลงสำหรับผู้ประกอบการรายเก่าอย่างบริษัทและผู้ประกอบการรายใหม่ 

ส่วนพื้นที่ทับซ้อนนั้น หากมีการส่งมอบแสดงว่าจะต้องปิดระบบในส่วนของ "อีสท์ วอเตอร์" ซึ่งจะยิ่งทำให้กระทบไปยังผู้ใช้น้ำในพื้นที่ได้ นอกจากนี้ในมุมของผมเองก็อยากจะรอให้ศาลมีคำตัดสินก่อนที่จะมีการเข้าสู่กระบวนการเจรจาด้วย

อีสท์ วอเตอร์ ส่งคืนทรัพย์สินให้กรมธนารรักษ์ไตรมาส 1/66

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการส่งคืนท่อน้ำโครงการดังกล่าวนั้นจะส่งผลกระทบบ้างต่อผลประกอบการของบริษัทเนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่ไม่ถึงขั้นจะทำให้ผลประกอบการในปี 2566 นั้นขาดทุน โดยคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีรายได้เติบโตมากกว่าปี 65 เนื่องจากมองว่าในปีนี้ปริมาณการใช้น้ำจะเติบโตขึ้นโดยเฉพาะน้ำอุตสาหกรรม ซึ่งโตมากกว่าปีก่อนที่มีฝนตกหนักตลอดทั้งปี ทำให้บริษัทหรือโรงงานที่มีแหล่งน้ำเป็นของตัวเองไม่จำเป็นต้องซื้อน้ำใช้

นายเชิดชาย กล่าวอีกว่า บริษัทจะดำเนินการสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างเต็มที่ ด้วยการก่อสร้างระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ-แหลมฉบัง เพิ่มเติมอีกประมาณ 120 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 4,200 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนวางท่อส่งน้ำสายหลักในครั้งนี้ สามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกในอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มศักยภาพโครงข่ายท่อส่งน้ำ เกิดเป็นโครงข่ายท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ หรือ Water Grid ที่สมบูรณ์มากขึ้นโดยเชื่อมโยงแหล่งน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเกือบทั้งหมด
 

นอกจากนี้ ยังมีแผนเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุน ทั้งระยะสั้น  ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อสร้างเสถียรภาพของแหล่งน้ำดิบ  ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้น้ำในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อผู้ใช้น้ำ 

ปัจจุบันบริษัทได้มีการนำเทคโนโลยีการผลิตน้ำอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเกิดมลพิษ ให้บริการแก่ผู้ใช้น้ำ โดบริษัทเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเอง และเปิดให้บริการเชิงพานิชย์ในปี 2564 ระบบผลิตน้ำอุตสาหกรรม ตั้งอยู่ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ใช้เทคโนโลยีการตกตะกอนแบบ External Sludge Return กำลังการผลิตสูงสุด 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งเป็นระบบการตกตะกอนแบบ External Sludge Return แห่งแรก 

โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดของประเทศไทยในปัจจุบัน เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถลดค่าไฟฟ้าในการผลิตลงกว่า 1 ใน 3 เมื่อเปรียบเทียบกับระบบตกตะกอนระบบกรองทั่วไป อีกทั้งยังสามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีในการผลิตน้ำอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้พื้นที่ก่อสร้างน้อยกว่าระบบตกตะกอน และระบบกรองแบบทั่วไปมากกว่า 50%