‘กทท.’ปลุกโมเดลสร้าง 2 ท่าเรือบก ‘ขอนแก่น-โคราช’ 1.4 พันล้าน

01 ก.พ. 2566 | 00:00 น.

กทท. เปิดโมเดลสร้างท่าเรือบก นำร่องพื้นที่ขอนแก่น-โคราช 1.4 พันล้านบาท เล็งศึกษาดึงเอกชนร่วมทุน PPP-จัดตั้งบริษัท คาดได้ข้อสรุปปลายปีนี้ ลุ้นแผนสร้างท่าเรือบกฉะเชิงเทรา 1 พันไร่ในอนาคต

การท่าเรือแห่งประเทศ ไทย (กทท.) เร่งพัฒนา โครงการท่าเรือบก (Dry Port) หนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ในอนาคต

 

 นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยความคืบหน้าดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุนที่จะนำร่องพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา คาดว่า ผลการศึกษารูปแบบการลงทุนจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2566 จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. กระทรวงคมนาคม และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบผลการศึกษา ก่อนจะดำเนินการตามขั้นตอนตามผลการศึกษา หาก PPP ต้องจัดทำการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (เวนคืน) จัดหางบประมาณดำเนินการ และเปิดประกวดราคาต่อไป

สำหรับมูลค่าการลงทุนท่าเรือบก เบื้องต้นเฉลี่ยแต่ละระยะ (เฟส) คาดว่า จะใช้เงินลงทุนแห่งละประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่วนรูปแบบการลงทุนโครงการดังกล่าว จะพิจารณา 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. รูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (Public Private Partnerships หรือ PPP) โดย กทท. ลงทุนทั้งหมด ซึ่งข้อดีรูปแบบ PPP คือ การบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์ แต่มีข้อเสีย คือ ใช้ระยะเวลาดำเนินการค่อนข้างนาน และ 2. รูปแบบการจัดตั้งบริษัทฯ และเชิญภาคเอกชนเข้ามาถือหุ้น ซึ่งรูปแบบนี้จะเพิ่มความน่าสนใจให้เกิดการลงทุนมากขึ้น โดยจะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด และ กทท. จะเป็นแกนกลางดำเนินงาน คล้ายการจัดตั้งสายเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งทำให้เกิดการดำเนินการเร็วที่สุด

 

ทั้งนี้หากใช้รูปแบบการลงทุนโดยการให้เอกชนร่วม ลงทุน (PPP) คาดว่า จะใช้ระยะเวลาตั้งแต่การก่อสร้าง และกระบวนการอื่นๆ จนแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ รวมทั้งหมดประมาณ 5 ปี แต่หากจะจัดตั้งบริษัท และเชิญภาคเอกชนเข้ามาถือหุ้นนั้น คาดว่า จะใช้เวลาดำเนินการที่สั้นกว่ารูปแบบ PPP หรือจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 3 ปี อย่างไรก็ตามรูปแบบการลงทุนทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าวจะต้องพิจารณาข้อดีและข้อเสียให้รอบด้าน ก่อนตัดสินใจว่าจะใช้รูปแบบไหนดำเนินโครงการฯ

“จุดสำคัญของโครงการ คือ การเวนคืนที่ดินในการก่อ สร้าง เนื่องจากการเวนคืนที่ดินเป็นเรื่องของต้นทุน ดังนั้นต้องให้เอกชนเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ โดยการเวนคืนที่ดินจะมีหน่วยงานรัฐเข้ามาดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งการจัดตั้งบริษัทลูกนั้นเชื่อว่า จะเร็วกว่าการร่วม ลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) แน่นอน เพราะขั้นตอนแตกต่างกัน”

 

นายเกรียงไกร กล่าวต่อ ว่า สำหรับท่าเรือบก จ.ขอนแก่น ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโนนพยอม ต.ม่วงหวาน อ.นํ้าพอง จ.ขอนแก่น ใช้พื้นที่ 1,500-2,000 ไร่ ส่วน จ.นครราชสีมา อยู่ระหว่างการพิจารณาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เพราะผลการศึกษาในอดีต ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ที่ ต.กุดจิก อ. สูงเนิน จ.นครราชสีมา แต่ปัจจุบันพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงพิจารณาพื้นที่ใหม่ที่มีความเหมาะสม และมีศักยภาพมากกว่าพื้นที่เดิม เพราะต้องพิจารณาพื้นที่โดยรอบให้ครอบคลุมกับการขนส่งทางถนนและทางราง

 

ส่วนโครงการท่าเรือบก จ.นครราชสีมา มีการเสนอทำเลที่ตั้งใหม่ คือ บริเวณสถานีรถไฟบ้านกระโดน ต.หนองไข่นํ้า อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งติดกับสถานีรถไฟและถนน รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยประสบปัญหานํ้าท่วมด้วย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะใช้พื้นที่เดิมหรือพื้นที่ใหม่ โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสม เนื่องจาก จ.นครราชสีมา เป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ตอนล่าง มีการขนส่งสินค้าเกษตรจำนวนมาก อาทิ แป้ง มันสำปะหลัง และข้าว ซึ่งการผลิตจะสามารถนำส่งสินค้าได้ทันที ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจมหาศาล โดยคาดว่าภายในปี 2566 จะได้ข้อสรุปตำแหน่งที่ตั้งของท่าเรือบก จ.นครราชสีมา ส่วนขนาดพื้นที่ จ.นครราชสีมา จะใช้พื้นที่น้อยกว่า จ.ขอนแก่น เนื่องจาก จ. นครราชสีมา มีโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ต้นทุนอาจมีราคาสูง

‘กทท.’ปลุกโมเดลสร้าง 2 ท่าเรือบก ‘ขอนแก่น-โคราช’ 1.4 พันล้าน

“การดำเนินการท่าเรือบก ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา จะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังนั้น มองว่าทั้ง 2 พื้นที่มีศักยภาพเท่ากัน ขึ้นอยู่กับ ความพร้อมของเอกชน และการให้ความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ ขณะนี้ จ.ขอนแก่น ภาคประชาชนรับรู้เรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว ถือว่ามีความพร้อม เมื่อโครงการแล้วเสร็จ เชื่อว่าท่าเรือบกจะเป็นโครงการฯที่สนับสนุนการขนส่งสินค้าเชื่อมการขนส่งแบบถ่ายลำ และการขนส่งสินค้าเชื่อมระหว่างทางบกและทางรางได้ ตลอดจนให้ทันขีดความสามารถในการแข่งขัน”

 

นอกจากนี้โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรานั้น พื้นที่ราว 1,000 ไร่ ปัจจุบันพบว่าพื้นที่ดังกล่าวยังติดข้อจำกัดเรื่องการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นกับชาวบ้านยังคงมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ในเขตอีอีซี ทำ ให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งในพื้นที่เชิงเทรายังมีโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) อยู่ แล้ว ซึ่งกทท.ไม่อยากให้เกิดการแข่งขันระหว่างกัน ทำให้กทท.มีแผนพัฒนาท่าเรือบกในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน เพราะเป็นพื้นที่ที่จะช่วยสนับสนุนสินค้าทางการเกษตรที่มีค่อนข้างมากในพื้นที่ โดยคาดว่าในอนาคต กทท.จะมีการประเมินผลการศึกษาในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราอีกครั้ง