บิ๊กโปรเจ็กต์ ‘เสถียร คาราบาว กรุ๊ป’ ท้ารบตลาดเบียร์ ชิงดำร้านสะดวกซื้อ

29 ม.ค. 2566 | 09:20 น.

เปิดบิ๊กโปรเจ็กต์ “เสถียร เจ้าพ่อคาราบาว กรุ๊ป” กรุยทางดันยอดขายแตะแสนล้าน ทุ่มลงทุน “เบียร์” ควัก 4,000 ล้านบาท จับ DNA เบียร์เยอรมันตะวันแดงลงขวด สยายปีกร้านค้าปลีก “ซีเจฯ-ถูกดี มีมาตรฐาน” พร้อมปั้นโมเดลใหม่ชิงตลาดร้านสะดวกซื้อ

เสถียร เสถียรธรรมะ” หรือนามสกุลเดิม “เศรษฐสิทธิ์” ที่หลายคนคุ้นเคยถือเป็นผู้ปลุกปั้น “คาราบาว กรุ๊ป” สร้างแบรนด์คาราบาวแดง จนแจ้งเกิดทั้งในไทยและต่างประเทศ ยังไม่นับรวมถึงธุรกิจโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง กลุ่มสุรา และค้าปลีก ด้วยสายตาอันยาวไกลทำให้ “เสถียร” มีวิธีคิดและมองหาการลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่สม่ำเสมอ และในปีนี้ก็เช่นกัน

“เสถียร เสถียรธรรมะ” ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด เปิดศักราชปี 2566 ตามสไตล์ผู้ใหญ่ใจดีว่า แม้ในคาราบาว กรุ๊ปจะมีหลายธุรกิจในมือแต่ยังไม่เพียงพอที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย “แสนล้าน” เพื่อย่นเวลาให้ไปถึงเป้าหมายเร็วขึ้น ในช่วงปลายปี 2566 นี้บริษัทจะลงทุนใหญ่กว่า 4,000 ล้านบาทในธุรกิจใหม่คือ “เบียร์” มีกำลังการผลิต 400 ล้านลิตรต่อปี

เสถียร เสถียรธรรมะ

โดยใช้โรงงานชัยนาทเป็นฐานการผลิตใน ทั้งในรูปแบบของขวดและกระป๋อง ในเฟสแรกบริษัทจะเริ่มจากกำลังการผลิต 200 ล้านลิตร เพื่อผลิตเบียร์ในสไตล์เยอรมันตะวันแดง 2-3 รสชาติก่อนพัฒนารสชาติอื่นๆเพิ่มเติมในอนาคต และจะผลิตสินค้าครบทุกเซ็กเมนต์ คาดว่าจะสามารถจำหน่ายออกสู่ตลาดทั่วประเทศได้ในไตรมาส 4 หรือช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นไป

“ตอนนี้เรามีธุรกิจสุราอยู่ในมือทั้ง เหล้าขาว ,วิสกี้, โซจู แม้จะขายได้ทำกำไร แต่โอกาสที่จะเติบโตหรือขยายตัวค่อนข้างยาก เพราะถ้าจะขายสุราจะต้องขายในร้านอาหาร ผับ บาร์ ซึ่งร้านเหล่านี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขายได้เยอะที่สุดคือ “เบียร์” เมื่อเราไม่มีเบียร์เวลาที่เข้าไปต่อรองในร้านทำให้เราไม่มีอำนาจต่อรองและสู้คู่แข่งไม่ได้

เบียร์ของเราจะแตกต่างเพราะมีพื้นฐานจาก “โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง” ที่ตอนนี้มีคราฟเบียร์กว่า 10 รสชาติหมุนเวียนไปเรื่อยๆเพื่อทดลองตลาด เบียร์ที่แปลกๆจะทำให้คนเปิดใจลองชิมการที่เราเข้าตลาดเบียร์ก็น่าจะทำให้ตลาดเบียร์กะเพื่อมขึ้น แต่สิ่งที่ค้ำคอและน่าหนักใจคือเราจะขายราคาเท่าไหร่ ส่วนชื่อแบรนด์ยังไม่มีข้อสรุปแต่คาดว่าจะไม่ฉีกจาก “เบียร์เยอรมันตะวันแดง” หรือ “เบียร์คาราบาว” มาก

“เสถียร” บอกว่า ตลาดเครื่องดื่มประเด็นร้อนแรงมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมาคือราคาต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” เองอยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นราคาหลังจากยืนราคา 10 บาทมากว่า 20 ปี โดยต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 25% หลักๆคือน้ำตาล ค่าขนส่ง ค่าไฟ และPackaging โดยเฉพาะขวดที่มีทั้งต้นทุนของอลูมิเนียมและใช้ไฟในการหลอม

บิ๊กโปรเจ็กต์ ‘เสถียร คาราบาว กรุ๊ป’ ท้ารบตลาดเบียร์ ชิงดำร้านสะดวกซื้อ

นอกเหนือจากการลงทุนใหญ่ในธุรกิจเบียร์แล้ว “เสถียร” บอกว่า อีกหนึ่งธุรกิจที่จะเป็นแรงส่งให้ คาราบาว กรุ๊ป ไปถึงฝันในเร็ววันคือ “ค้าปลีก” สำหรับธุรกิจค้าปลีก CJ Supermarket หรือ CJ Express ในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายขยาย 250 สาขาเพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่สามารถขยายได้ 240 สาขา ส่วน CJ More มีแผนขยาย 150 สาขา ขณะเดียวกันเริ่มขยายค้าปลีกในรูปแบบใหม่ภายใต้ CJ More บนพื้นที่ 2 ไร่ลักษณะคล้ายๆโมเดิร์นเทรดมีที่จอดรถ มีร้านค้าซึ่งก็จะทำให้บริษัทมียอดขายที่เพิ่มขึ้น

การลงทุนที่เป็นความท้าทายความสามารถในตลาดค้าปลีกชุมชุนหรือ “โชห่วย” อย่าง “ถูกดี มีมาตรฐาน” ในปีนี้นอกจากจากล้างขาดทุนสะสมกว่า 3,000 ล้านบาทคือการพลิกกลับมาทำกำไรเป้าหมาย 4 หมื่นล้านบาทให้ได้ในปีนี้ ผ่านกลยุทธ์การขยายสาขาพาร์ทเนอร์ครบ 8,000 ร้านค้า

“โชห่วยทั่วประเทศน่าจะมีกว่า 3 แสนราย แต่มีไม่เกิน 1 แสนรายที่ทำโชห่วยเป็นอาชีพจริงๆส่วนที่เหลือทำเป็นอาชีพเสริม การที่รายใหญ่ลงมาเล่นตลาดนี้ไม่ได้ทำให้โชห่วย 3 แสนรายหายไป แต่จะทำให้เขาปรับตัว ตอนนี้เรามีพาร์เนอร์เปิดร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” กว่า 5,000 ราย อย่างน้อยในจำนวนนี้ 1,000 -2,000 ราย เคยอยู่ในเขตเมือง เคยเห็นค้าปลีกสมัยใหม่ เมื่อมาทำร้านกับเราจะเดินไปได้ค่อนข้างดี ส่วนคนที่เคยทำอยู่เดิมก็ต้องค่อยๆปรับตัว”

บิ๊กโปรเจ็กต์ ‘เสถียร คาราบาว กรุ๊ป’ ท้ารบตลาดเบียร์ ชิงดำร้านสะดวกซื้อ

ปัจจุบันร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” มีลูกค้าเข้าร้านเฉลี่ยวันละ 150 คนต่อสาขา ค่าใช้จ่ายต่อบิล 100 บาท สำหรับปีนี้คาดว่าจะสามารถขยายจำนวนร้านเป็น 8,000 ร้าน และปี 2567 จะเพิ่มเป็น 1.2 หมื่นร้าน และในปีถัดไปจะเพิ่มเป็น 2 หมื่นร้าน ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคกลางและอีสาน

นอกจากนี้ในปีนี้บริษัทยังจะมีการเพิ่มบริการจุดรับ-ส่งพัสดุ คาดว่าน่าจะได้เห็นภายในครึ่งปีแรก รวมไปถึงการพิจราณาให้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสและตู้ ATM ด้วย เพื่อหารายได้ให้กับพาร์ทเนอร์เพิ่มเติม ปัจจุบันโมเดลของร้าน คือบริษัทลงทุนทั้งอุปกรณ์ ระบบ และสินค้าในร้าน บริษัทจัดส่งสินค้าทุก 3 วันและเข้าไปนับสต๊อกเป็นระยะรวมมูลค่าการลงทุนแต่ละสาขากว่า 1 ล้านบาท

ส่วนพาร์ทเนอร์เจ้าของร้านจะต้องวางเงินประกัน 2 แสนบาท ดูแลการขายและส่งเงินจาการขายในวันถัดไป รายได้หลังหักต้นทุน 85% จะเป็นของร้านค้า และของบริษัท 15% เพราะร้านค้าที่เขาได้เยอะเพราะเขาต้องรับผิดชอบค่าน้ำค่าไฟ และสำคัญคือต้องจ่ายภาษี

บิ๊กโปรเจ็กต์ ‘เสถียร คาราบาว กรุ๊ป’ ท้ารบตลาดเบียร์ ชิงดำร้านสะดวกซื้อ

“โมเดลร้านค้าปลีก “ถูกดี มีมาตรฐาน” เกิดขึ้นจากการที่เราต้องการแก้ปัญหาของร้านโชห่วยไม่มีเงินทุนในการซื้อสินค้ามาหมุนเวียนและไม่มีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการร้านต่างๆ ธุรกิจของเราจะโตได้ก็ต่อเมื่อร้านที่มาเปิดขายดี เราก็จะมีส่วนแบ่งจากรายได้นั้น แต่ตอนนี้ยอมรับว่าเรายังขาดทุนกว่า 3,000 ล้านบาทจากร้านค้าที่เปิดไป และเกเร ไม่ทำตามสัญญาบางรายมีกรณีพิพากเป็นคดีความ มีการปิดร้านลง

ถ้าปีนี้เราสามารถเปิดร้านครบ 8,000 ร้านตามแผนในปีหนึ่งเราจะทำยอดขายได้ 6 ล้านบาทต่อสาขา รายได้รวมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเราเชื่อว่าด้วยไซส์และสเกลขนาดนั้นภายในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมปีนี้เราน่าจะไม่ขาดทุนแล้ว”

“เสถียร” บอกเพิ่มเติมว่า “เป้าหมายรายได้ “แสนล้าน” ของคาราบาว กรุ๊ปน่าจะเป็นไปได้ไม่ยาก เพราะถ้านับยอดขายของ CJ และร้านถูกดี มีมาตรฐาน รวมกันน่าจะเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ธุรกิจสุราอีก 1 หมื่นล้านบาท ถ้าเบียร์ออกสู่ตลาดได้ตามแผนน่าจะทำรายได้อีกเกือบหมื่นล้านบาท ปีนี้น่าจะเห็น 1 แสนล้านบาทได้

เพราะเบียร์มีมูลค่าสูงและตามกำลังการผลิตของเราน่าจะทำรายได้ 3-4 หมื่นล้านบาทไม่ยาก ตอนนี้จุดยากของการทำเบียร์คือการตั้งชื่อแบรนด์เพราะขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการจับตลาดไหน ถ้าเราเกรดดีต้นทุนก็แพง แต่ถ้าขายแพงก็จะขายได้จำนวนน้อย แต่ถ้าขายถูกอาจจะไม่มีกำไรก็ต้องอาศัยจำนวนเข้ามาช่วย ส่วนตลาดต่างประเทศปีนี้จะเปิดตัว คาราบาวแดงที่เวียดนามอย่างเป็นทางการ”

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,857 วันที่ 29 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566