เอกชนเฉ่งยับค่าไฟแพงทำทุนต่างชาติเมินไทย

26 ม.ค. 2566 | 03:52 น.

เอกชนเฉ่งยับค่าไฟแพงทำทุนต่างชาติเมินไทย ชี้ยิ่งส่งให้เวียดนามมีแต้มต่อมากขึ้นจากความได้เปรียบเขตการค้าเสรีที่เซ็นสัญญากับหลายประเทศ รวมถึงค่าแรงที่ต่ำ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้สูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันจากหลายปัจจัย ที่สำคัญคือต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง และงวด ม.ค.-เม.ย.2566 สำหรับประเภทธุรกิจอุตสาหกรรมที่ปรับมาอยู่เฉลี่ย 5.33 บาทต่อหน่วย 

กลายเป็นต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และยังเป็นอุปสรรค ต่อการดึงการลงทุนตรงจากต่างประเทศ ส่งผลให้เวียดนาม ยิ่งมีแต้มต่อมากขึ้นไปอีกจากความได้เปรียบในแง่เขตการค้าเสรีที่เซ็นสัญญากับหลายๆ ประเทศมากกว่าประเทศไทย รวมถึงค่าแรงที่ต่ำอยู่แล้ว

"ปีที่ผ่านมาเวียดนามมีค่าไฟฟ้าพียง 2.88 บาทต่อหน่วย และล่าสุดได้ลดเหลือ 2.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งสวนทางกับประเทศไทย หากไทยยังคงมีค่าไฟที่แพง การลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง หรือเอฟดีไอ (FDI) จากประเทศใด จะเข้ามาลงทุนในไทย จึงต้องการฝากให้ผู้รับผิดชอบทุกคน เพราะหากไม่เร่งแก้ไขอาจจะทำให้ไทยเสียขีดความสามารถในการแข่งขันแบบถาวร"

ขณะที่ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรืออีเอ (EA) กล่าวว่า น่าจะเห็นภาพแล้วว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก เหตุเพราะบุญเก่าที่มีกำลังจะหมดไป ทำให้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไทยจะยังไม่สามารถทำอะไรได้แบบเป็นชิ้นเป็นอัน โดยอาจเห็นลูกหลานไม่มีโอกาสเหมือนกับรุ่นของเราที่เต็มไปด้วยโอกาส ตอนนี้ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีโอกาสเหมือนที่เคยเห็นมาในอดีต

เอกชนเฉ่งยับค่าไฟแพงทำทุนต่างชาติเมินไทย อย่างไรก็ดี สิ่งที่พยายามจะบอกคือในวิกฤตมีโอกาสเสมอ หากเราสามารถมองภาพออกเสมอทั้งในอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจ จะทำให้เห็นภาพว่าโอกาสตรงไหน แต่หากมีวิกฤตที่ต้องมีการปรับปรุง เราจะเข้าไปอยู่ในจุดนั้นได้อย่างไร

ยกตัวอย่างวันที่บริษัทเติบโตขึ้นมานั้น ภาพรวมอุตสาหกรรมของไทยช่วงนั้นมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เหลือเฟือมาก มีกำลังการผลิตที่มากกว่าความต้องการเป็น 10% ถือเป็นการดำเนินนโยบายในการวางแผนพลังงานที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นสาเหตุของค่าไฟฟ้าในไทยราคาแพงวันนี้ รวมถึงการพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติมากเกินไป 

นอกจากนี้ ยังโชคไม่ดีต้องเจอการสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติจากที่อยู่ในระดับต่ำ ช่วงหลังจึงปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ราคาพลังงานในประเทศไทยยังไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เพราะโครงสร้างการใช้ไฟฟ้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงมานาน ทั้งที่ผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว

รวมถึงโครงสร้างสายส่งของไทยก็ถือเป็นอุปสรรคในการทำให้อุตสาหกรรมเดินไปข้างหน้า จึงต้องประเมินภาพใหม่ เพื่อมองหาการดำเนินนโยบายอย่างไร เพื่อให้ได้โอกาสกลับมา