"คมนาคม" ปักธง ปี 66 ดันรถไฟอีวี 50 คัน รุกระบบราง

11 ม.ค. 2566 | 09:09 น.

"คมนาคม" เปิดแผน รฟท. จับมือ สจล.-อีเอ ลุยทดสอบรถไฟอีวีคันแรก เร่งเครื่องจัดหารถครบ 50 คัน ภายในปี 66 ช่วยลดต้นทุน 40-60% หวังติด 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายยานยนต์สมัยใหม่

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับพิธีทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท พลังงานบริสุทธ์ จำกัด (มหาชน) หรืออีเอ เบื้องต้นทั้ง 3 ฝ่ายได้ดำเนินการศึกษาเพื่อเตรียมการการทดสอบการใช้งานในการลากจูงขบวนรถโดยสารขึ้นมาบนสถานีกลางบางซื่อแล้วเสร็จในปี 65 ที่ผ่านมา

"คมนาคม" ปักธง ปี 66  ดันรถไฟอีวี 50 คัน รุกระบบราง

หลังจากนี้ในปี 66 ยังมีแผนดำเนินการประกอบหัวรถจักรเพิ่มเติมอีกจำนวน 3 คัน รวมหัวรถจักรทั้งสิ้น 4 คัน โดยหัวรถจักรดังกล่าว หากชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 1 ครั้ง จะมีสรรถนะในการลากจูงขบวนรถโดยสารได้ในระยะทาง 300 กิโลเมตร (กม.)

"ปัจจุบันมีรถต้นแบบที่อยู่ระหว่างการทดสอบ 1 คัน ซึ่งจะต้องทดสอบให้ครอบคลุมถึงความปลอดภัยทุกด้าน ทั้งระบบเบรก และแรงปะทะในกรณีที่เกิดเหตุต่างๆ ทั้งนี้ตามแผน หากการทดสอบรถต้นแบบนี้ได้ผลสำเร็จ จะจัดหาหัวรถจักรอีวี มาให้บริการ 50 คันภายในปีนี้ เพื่อเป็นการยกระดับบริการรถไฟแก่ประชาชน ลดมลพิษทางอากาศ อีกทั้งหัวรถจักรไฟฟ้ายังลดต้นทุนได้สูง 40-60% หากเทียบกับหัวรถจักรดีเซลในปัจจุบัน"

"คมนาคม" ปักธง ปี 66  ดันรถไฟอีวี 50 คัน รุกระบบราง

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 รฟท. ได้ดำเนินโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า จำนวน 50 คัน โดยส่งมอบรถจักรแล้วจำนวน 20 คัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อตรวจรับขบวนรถ หลังจากนั้นจะมีการส่งมอบในส่วนที่เหลืออีกจำนวน 30 คัน ภายในปี 2566 ทั้งนี้กระทรวงได้มอบนโยบายให้กรมการขนส่งทางราง,รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำแผนการดำเนินงานและขั้นตอนในการนำรถไฟ EV on Train มาใช้ในประเทศไทยให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมต่อไป

"คมนาคม" ปักธง ปี 66  ดันรถไฟอีวี 50 คัน รุกระบบราง

ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาล ได้ส่งเสริมให้มีการใช้งานยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (อีวี) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ 20-25% ภายในปี 2573 และมุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในระบบขนส่งของประเทศ รวมถึงผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การส่งเสริม เพื่อให้สอดรับการกับเปลี่ยนแปลงทั้งทางการแข่งขันทางการค้า การรักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษ ปริมาณฝุ่น PM 2.5 การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด