คุมต่างชาติแพร่โควิด ประเทศไหนตรวจ RT-PCR เข้าไทยต้องซื้อประกัน

05 ม.ค. 2566 | 06:47 น.

อนุทิน ถกมาตรการป้องกันนักท่องเที่ยวต่างชาติแพร่เชื้อโควิด-19 กำหนดแนวทางหากประเทศไหนกำหนดให้ตรวจ RT-PCR เข้ามาในไทยต้องซื้อประกันสุขภาพ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย โดยที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการควบคุมโควิด-19 หากประเทศใดที่มีข้อกำหนดให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ก่อนเข้าประเทศจะต้องซื้อประกันการเดินทางก่อนเข้ามายังประเทศไทย

 

“ประเทศไทยมีความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีความเหมาะสมอยู่แล้ว ส่วนบางประเทศที่มีข้อกำหนดว่าผู้ที่เดินทางกลับเข้าประเทศต้องตรวจ RT-PCR ก่อน ก็กำหนดให้ซื้อประกันสุขภาพก่อนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งต้องครอบคลุมโรคโควิดด้วย ส่วนประเทศใดไม่มีข้อกำหนด ก็อยากแนะนำให้นักท่องเที่ยวซื้อประกันสุขภาพได้ เพื่อเพิ่มความสะดวกหากเกิดกรณีเจ็บป่วยในไทย” นายอนุทิน ระบุ

 

ขณะที่การเตรียมความพร้อมในการให้บริการการตรวจ RT-PCR ในไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่ามีความพร้อม และในที่ประชุมยังหารือด้วยว่า ขอความร่วมมือโรงแรมที่พัก ทำข้อตกลงความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกในการให้บริการการตรวจ RT-PCR ด้วย

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ และกรุงเทพมหานคร ยังจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการรองรับและเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวด้วย

 

ส่วนกรณีการให้วัคซีนแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ว่าจะสัญชาติใดหากต้องการจะรับวัคซีนในไทย แต่จะไม่ให้บริการฟรี เบื้องต้นจะมีค่าใช้จ่ายไม่เกินรายละ 800 บาท โดยรายละเอียดประกันสุขภาพและการให้วัคซีนนั้น กระทรวงสาธารณสุข จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดรายละเอียดข้อกำหนดและประกาศให้ทราบต่อไป

 

การประชุมเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย

สำหรับมาตรการควบคุมโควิด-19 ของประเทศไทย เพื่อรองรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ปี 2566 แบ่งเป็นมาตรการดำเนินการด้านต่าง ๆ ดังนี้

 

มาตรการด้านสาธารณสุข 

กรณีก่อนเข้าประเทศไทย จะต้องมีการฉีดวัคซีนโควิด19 อย่างน้อย 2 เข็ม หากมีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจแนะนำให้เลื่อนการเดินทางและรักษาให้หายก่อนเดินทางเข้าไทย แนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพเดินทางที่ครบคลุมการรักษาโควิด19 ก่อนเข้าไทย เพื่อลดภาระการใช้จ่ายด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในช่วงพำนักในประเทศไทย

ส่วนระหว่างพำนักในประเทศไทย จะมีการแนะนำให้ผู้เดินทางจากต่างประเทศป้องกันตนเองเช่นสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในสถานที่สาธารณะ รถโดยสารขนส่งสาธารณะ ล้างมือบ่อย ๆ เน้นการตรวจคัดกรองด้วย ATK เมื่อมีอาการ

กรณีผู้เดินทางที่จะออกจากไทยไปยังประเทศที่มีนโยบายคัดกรองก่อนเข้าไทย จะมีการแนะนำให้ผู้เดินทางพักในโรงแรม SHA Plus ซึ่งจะมีบริการตรวจเชื้อโควิด-19 โดยสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

พร้อมกันนี้ ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์โรค และตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีพบการระบาดในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ การรายงานสถานการณ์ผ่านเว็บไซต์ การควบคุมโรค เน้นแจ้งจำนวนนักท่องเที่ยวและตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจที่สนามบิน มีการกำหนดเกณฑ์สำหรับการปรับมาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้ออัตราสูงขึ้น หรือมีการกลายพันธุ์ และมีการเฝ้าระวัง ตรวจสายพันธ์เชื้อโควิด19 ในน้ำเสียจากเครื่องบิน

 

การประชุมเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย

 

มาตรการด้านการท่องเที่ยว

กระทรวงการท่องเที่ยวได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกประเทศที่มีการติดเชื้อ โดยสามารถติดต่อหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อให้ความช่วยเหลือในการประสานงานเข้ารับการรักษา อาทิ ตำรวจท่องเที่ยว โทร 1155 , ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (TAC) โทร 02 134 4077 สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด (สทกจ.) ทุกจังหวัด และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โทร 1672

 

มาตรการด้านกระทรวงคมนาคม

กระทรวงคมนาคม ได้รายงานถึงการเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในทุกท่าอากาศยาน ซึ่งขณะนี้สามารถรองรับผู้เดินทางจากต่างประเทศได้เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาประมาณ 50-60% ของปี 2562 ก่อนเกิดโควิด19

ส่วนปัญหาความแออัดที่พบขณะนี้เป็นเพียงเรื่องของการบริหารจัดการที่ผู้ประกอบการยังไม่สามารถเพิ่มผู้ปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับจำนวนผู้เดินทาง 

ล่าสุดกระทรวงคมนาคมกำลังเร่งรัดเพิ่มศักยภาพในการให้บริการให้กลับสู่ภาวะปกติ ควบคู่กับการบริหารจัดการในช่วงเวลาเร่งด่วน และมีการเตรียมแผนระยะสั้น กลาง ยาว สำหรับการให้บริการทั้งการเดินทางผ่านอากาศยาน การให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ณ ท่าอากาศยาน ระบบขนส่งสาธารณะในเมือง และการจัดตั้งศูนย์ประสานงานร่วม 3 กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา