เปิดโครงข่าย"กระเช้าลอยฟ้า"ภูเก็ต 79.9 กิโลเมตร"ยาวสุดในโลก"

29 ธ.ค. 2565 | 08:58 น.

"ก้าน"เปิดรายละเอียด โครงข่ายกระเช้าลอยฟ้า-ระบบขนส่งนักท่องเที่ยวหลากรูปแบบ เกาะภูเก็ต 79.9 กิโลเมตร  ยาวสุดในโลก จากศูนย์กลางสถานีองค์พระใหญ่ยอดเขานาคเกิด เปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่รอบภูเก็ต ลากข้ามทะเลเชื่อมเกาะโหลน-เขตเทศบาล รองรับโครงข่ายขนส่งมวลชนหลัก  

ข่าวฮือฮาภูเก็ตเตรียมก่อสร้างระบบขนส่ง รองรับเมืองและการท่องเที่ยว ด้วยโครงการ “กระเช้าลอยฟ้า” ที่มีความยาว 79.99 กิโลเมตร ซึ่งจะยาวที่สุดในโลก  ระหว่างการเสวนาขับเคลื่อนธุรกิจสุขภาพและการท่องเที่ยว หัวข้อ “เฟรนด์ลี่ ดีไซน์ ภูเก็ตอันดามัน ลงทุนเมืองน่าอยู่" ในงานมหกรรมอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 6 ที่จัดขึ้นระหว่าง 15-18 ธ.ค.2565 ที่ไบเทค บางนา  

 

“ฉื่อ ต้า ถัว” ผู้แทนจากสำนักกฎหมายดีทีแอลลอว์ สำนักกฎหมายที่ดูแลธุรกิจขนาดใหญ่ของจีนที่มาลงทุนในประเทศไทย  เผยว่า เดิมคนจีนมาท่องเที่ยวภูเก็ต มากกว่า 10 ล้านคนต่อปี  และหลังโควิด-19 เมื่อจีนเปิดให้เดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง จะมีเข้ามาเพิ่มอย่างน้อย 2 เท่า

นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เยี่ยมบูธพันธมิตรขับเคลื่อน AWC รับฟังความร่วมมือพัฒนาโครงการกระเช้าลอยฟ้าภูเก็ต

 

มหกรรมอารยสถาปัตย์ชูสัญญลักษณ์ระเบียงสุขภาพอันดามัน 3 จังหวัด

"จึงจำเป็นต้องร่วมลงทุนพัฒนาภูเก็ต ให้เป็นเมืองน่าอยู่และยั่งยืน  โดยจะมีโครงการกระเช้าลอยฟ้าที่ยาวที่สุดในโลก 79.99 กิโลเมตร เริ่มจากพื้นที่ ต.กะรน  ส่วนจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่ อยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจของหลายภาคส่วน  ในการผลักดันให้เกดิโครงการนี้ "

 

ที่สำคัญโครงการกระเช้าลอยฟ้าที่จะเกิดขึ้น ต้องเป็นแบบยูนิเวอซัล ดีไซน์ คือ ทุกคนทุกเพศทุกวัยทุกสภาพร่างกายสามารถใช้ได้  ไม่มีข้อจำกัด และการที่เมืองมีเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะนำคนที่มาเยือนเมืองเป็นคนที่มีคุณภาพและลงทุนมากขึ้น” ฉื่อ ต้า ถัว กล่าว 

เปิดโครงข่าย"กระเช้าลอยฟ้า"ภูเก็ต 79.9 กิโลเมตร"ยาวสุดในโลก"

โครงการกระเช้าลอยฟ้าสู่องค์พระใหญ่ที่กลุ่มเดอะบิชเสนอ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากะรนชุมชนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

นายก้าน ประชุมพรรณ์ ซีอีโอ The Beach Group นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แถวหน้า จ.ภูเก็ต ที่ขยายมุมมองสู่การพัฒนาเมือง ในฐานะประธานกรรมการบริษัท อันดามันพัฒนาเมือง จำกัด ที่จับมือพันธมิตรภาครัฐ วิชาการ เอกชน  และองค์กรพัฒนา ขับเคลื่อนระเบียงสุขภาพอันดามัน (Andaman Wellness Corridor-AWC) รองรับยุทธศาสตร์ภูเก็ต ที่มุ่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ รักษาความเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวระดับโลก ยุคหลังโควิด-19  

 

โดยขับเคลื่อน"โครงการกะรน เวลเนส" หรือการพัฒนาเมืองกะตะ-กะรน สู่ชุมชนสุขภาพ โดยหนึ่งในแผนงานคือ โครงการกระเช้าลอยฟ้า สู่องค์พระใหญ่บนยอดเขานาคเกิด พระพุทธรูปประจำจังหวัด และแลนด์มาร์คของภูเเก็ต

 

แต่จากโครงการกระเช้าลอยฟ้าสู่องค์พระใหญ่ ระยะทาง 2.16 กิโลเมตร กลายเป็นโครงการกระเช้าลอยฟ้าภูเก็ต 79.9 กิโลเมตร ได้อย่างไร  มีที่มาที่ไปจากไหน  โครงข่ายรายละเอียดจะเป็นอย่างไร 

เปิดโครงข่าย"กระเช้าลอยฟ้า"ภูเก็ต 79.9 กิโลเมตร"ยาวสุดในโลก"

"ก้าน ประชุมพรรณ์"เล่าให้ฟังว่า องค์กรพันธมิตรขับเคลื่อนระเบียงสุขภาพอันดามัน(AWC) มาจัดบูธออกงาน ในมหกรรมอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพฯ  ซึ่งเด่นมากบูธหนึ่งของงาน เพื่อสร้างความรับรู้เรื่องระเบียงสุขภาพอันดามัน รวมทั้งเผยแพร่การลงนามความร่วมมือ ระหว่างฝ่ายไทย คือ บริษัท อันดามันพัฒนาเมือง กลุ่มเดอะ บีช 2 บริษัท  กับฝ่ายจีน คือ บริษัทซี หัวเหว่ย และซีอาร์เอสซี  รัฐวิสาหกิจระบบรางและโครงสร้างพื้นฐานรายใหญ่ของจีน ซึ่งได้งานก่อสร้างรถไฟทางคู่นครปฐม-ชุมพร  

 

"ในโอกาสที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เยือนไทย ได้มอบหมายให้วิสาหกิจของจีนไปดูโครงการลงทุนในแถบอันดามัน CRSC จึงมาพบในฐานะนักลงทุนในพื้นที่ จากการแลกเปลี่ยนเราเสนอแผนลงทุนรถกระเช้าลอยฟ้าในโครงการกะรนเวลเนสไป ซึ่งของเดิมมีบริษัทจากยุโรปเป็นที่ปรึกษาความเป็นไปได้และทำแผนแนวคิดเบื้องต้นให้"

การลงนามความร่วมมือระหว่างพันธมิตรขับเคลื่อนAWCโดยบ.อันดามันพัฒนาเมือง กับ CRSC เมื่อ 2 ธ.ค.2565

CRSC ดูโครงการแล้วบอกว่า ระยะทางแค่ 2.16 กิโลเมตร งบประมาณโครงการเพียง 1.5 พันล้านบาท เล็กเกินไป สามารถจะเชื่อมโยงที่ไหนได้อีก "ก้าน"จึงเสนอว่า อีกเส้นทางคือสะพานหิน-ป่าตอง ซึ่งฝรั่งเศสเคยศึกษาไว้ ระยะทาง 11 กิโลเมตร งบประมาณ 5 พันล้านบาท รวมเป็น 6.5 พันล้านบาท ค่อยใหญ่ขึ้นมาหน่อย 

 

ทั้งนี้ โครงการกระเช้าลอยฟ้า เวลานี้เทคโนโลยีค่อนข้างตอบโจทย์ โดยเทคโนโลยีกระเช้าลอยฟ้าของจีนก้าวหน้าไปมาก สามารถตั้งสถานีในระยะห่างได้ถึง 6-7 กิโลเมตร การก่อสร้างจึงยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่รบกวนพื้นที่ป่าข้างล่าง 

แนวคิดโครงข่ายกระเช้าลอยฟ้าและระบบขนส่งนักเดินทางรอบเกาะภูเก็ต

อีกทั้งเนื่องจากภูเก็ตมีเฉพาะเส้นทางทางบก ในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวตามชายหาด และเกาะแก่ง เพิ่งเจอบทเรียนถนนไปป่าตองขาด เนื่องจากไหล่ทางทรุดจากฝนตกหนักที่ผ่านมา ทำให้เห็นจุดอ่อน การสัญจรถูกตัดขาด นักท่องเที่ยวตกเครื่องจำนวนมาก การมีระบบชนส่งรูปแบบอื่นเสริมจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ จึงเป็นได้ทั้งเพื่อการชมทัศนยภาพและการขนส่งนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่

 

"ก้าน"เล่าต่อว่า CSRC บอกว่า ให้ลากต่อ หากจะมีโครงข่ายกระเช้าไฟฟ้า หรือการขนส่งรูปแบบอื่นประกอบ อาทิ ระบบรางเบา(Light Rail) แทรมแบบแขวน  ราง-บันใดเลื่อน  หรือ Sky Shuttle หลากรูปแบบตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ จะไปเชื่อมที่ไหนอย่างไรได้อีกบ้างในภูเก็ต  

 

จากการสำรวจและหารือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีแนวสายทางเพิ่ม เช่น จากกะตะ-ป่าตอง 6-7 กิโลเมตร และจากป่าตอง ถึงทางเข้าเมือง 5-6 กิโลเมตร เพิ่มทางเลือกการเดินทาง โดยที่พระใหญ่จะเป็นศูนย์กลางระบบกระเช้าลอยฟ้า แนวเส้นทางผ่านป่าชุมชน ซึ่งกฏหมายอนุญาตให้สามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ สู่ลานหินขาว ผ่านผาหินดำ แหล่งท่องเที่ยวใหม่ของภูเก็ต ไปสิ้นสุดทางที่วัดในหาน ต.ราไวย์ โดยมีสถานีในบริเวณวัด 

 

อีกเส้นจากป่าชุมชนลานหินขาว ข้ามทะเลไปเกาะโหลน และจากเกาะโหลนเชื่อมไปลงที่อบต.วิชิต ผ่านจุดชมวิว จากจุดนี้ลากไปวัดเกาะสิเหร่  เกาะมะพร้าว ผ่านป่าโกงกางไปวัดสะปำ ได้โดยไม่กระทบผืนป่า 

เปิดโครงข่าย"กระเช้าลอยฟ้า"ภูเก็ต 79.9 กิโลเมตร"ยาวสุดในโลก"

นอกจากนี้ยังเสนอแนวสายทางจากองค์พระใหญ่ ลงไปท่าเรือฉลอง ซึ่งต่อไปจะมีสกาย ซัตเทิล มาจากสนามบิน ซึ่งควรต้องเป็นแบบยกระดับจากพื้นดิน เพื่อไม่กระทบการจราจรระดับดิน และไม่เกิดปัญหาหากมีน้ำท่วม จากจุดนี้สามารถไปปากคลองยามู เป็นอีกสถานีเพื่อการขนส่งคน 

 

ขยายเป็นโครงข่ายขนส่ง-ท่องเที่ยวภูเก็ต ด้วยกระเช้าลอยฟ้า และการขนส่งหลากรูปแบบ รวมระยะทาง 79.9 กิโลเมตร

 

 "โครงข่ายนี้ไม่ซ้ำซ้อนระบบขนส่งมวลชนหลัก ที่รฟม.กำลังศึกษา ที่มีแนวสายทางจากสนามบินถึงแค่ตำบลฉลอง เขตตัวเมืองภูเก็ตเท่านั้น ยังเข้าไม่ถึงแหล่งท่องเที่ยวริมชายหาดของภูเก็ต โครงข่ายกระเช้าลอยฟ้า จะเป็นฟีดเดอร์มารองรับ เพื่อขนส่งคนและการท่องเที่ยวชมทัศนียภาพ เพื่อสร้างจุดขายใหม่ภูเก็ต"

 

นายก้าน กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา ได้เคยเสนอให้พัฒนาระบบการเดินทางหลากรูปแบบ เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางทางถนนของภูเก็ตที่เป็นคอขวด เช่น ลงเรือจากราไวย์ กะตะ ป่าตอง สุรินทร์ ด้วยเรือไฮโดรฟอยล์  ไปถึงสนามบินเพื่อขึ้นเครื่องได้เลย โดยหากโครงการนี้เกิดก็สามารถมาเชื่อมกับเคเบิลคาร์ได้เช่นกัน รวมทั้งต่อไปสามารถขยายไปถึงเขาหลัก หรือกระบี่ได้ด้วย 

 

ด้านการลงทุนนั้น นายก้านเสนอว่า โครงข่ายนี้มีหลายเส้นทาง สามารถเลือกรูปแบบลงทุนตามความเหมาะสม โครงการใดเอกชนสามารถลงทุนได้เองก็ควรเปิดให้ลงทุน เส้นทางไหนต้องเปิดลงทุนร่วมรัฐ-เอกชน อาจเปิดให้เป็นการลงทุนของเอกชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหากสถานีไปตั้งในพื้นที่ชุมชนไหน ควรเปิดให้ชุมชนนั้นสามารถเข้าร่วมถือหุ้นได้อย่างน้อย 25 % 

 

ส่วนการร่วมมือกับ CRSC นั้น ตาม TOR เบื้องต้นเป็นกลุ่มทุนจีนเป็นหลักก่อน ส่วนนักลงทุนชาติอื่นหากสนใจ ก็สามารถเสนอตัวและเข้าร่วมได้ โดยหลังลงนาม MOU จะต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ภายใน 9 เดือน  ด้วยตั้งงบศึกษาออกแบบที่ 10% หรือประมาณ 650 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการ 65,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้ข้อสรุปและดำเนินการได้ภายใน 2 ปี 

 

"การไปร่วมออกบูธในมหกรรมอารยสถาปัตย์ เพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าแผนก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าภูเก็ต โดยได้รับเกียรติจากทั้งฯพณฯเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเทพฯ นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรี GM หัวเหว่ย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และองค์กรพันธมิตร AWC  เป็นสักขีพยาน และรับทราบโครงการนี้แล้ว" นายก้าน กล่าวย้ำทิ้งท้าย 
 

กำพล ฝอยทอง/รายงาน