ชัดแล้วงบปี 67 วงเงิน 3.35 ล้านล้าน กู้เพิ่ม 5.93 แสนล้านรับรัฐบาลใหม่

27 ธ.ค. 2565 | 08:38 น.

สำนักงบประมาณ แจ้งชัดงบประมาณปี 2567 ครม.รับทราบกรอบวงเงินแล้ว 3.35 ล้านล้านบาท กู้ชดเชยขาดดุล 5.93 แสนล้าน รับรัฐบาลใหม่ ไม่ห่วงยุบสภา พร้อมเตรียมงบพลางก่อน

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ได้เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 – 2570) ตามที่ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เสนอ โดยมีการกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 หรือ “งบฯปี67” เอาไว้ภายใต้แผนฉบับนี้ด้วย 

 

สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 กำหนดวงเงินรายละเอียดเบื้องต้นไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นมาจากงบประมาณปี 2566 ที่มีวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.65 แสนล้านบาท 

 

ส่วนการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 กำหนดวงเงินการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 5.93 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณก่อน ซึ่งกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 695,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.88% ของ GDP หรือลดลงประมาณ 1 แสนล้านบาท

“การปรับลดวงเงินการขาดดุลงบประมาณลงในงบประมาณปี 2567 ครั้งนี้ เป็นเจตนาของกระทรวงการคลังที่ต้องการกำหนดวงเงินการขาดดุลลดลงให้ได้ต่ำกว่า 3% ต่อ GDP เพื่อนำไปสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในอนาคต” นายเฉลิมพล กล่าว

 

อย่างไรก็ตามการปรับลดการขาดดุลงบประมาณลงจะส่งผลต่องบทุนต่าง ๆ หรือไม่นั้น นายเฉลิมพล ระบุว่า จะไม่ส่งผลกระทบ เพราะมีการจัดทำงบประมาณเพิ่มขึ้น หลังกระทรวงการคลังประเมินว่าจะจัดเก็บงบรายได้มากขึ้น 

 

ส่วนกรณีรัฐบาลประกาศยุบสภาจะกระทบต่องบประมาณปี 67 แค่ไหนนั้น มองว่า ยังไม่สามารถตอบได้ทั้งหมด เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะทุกอย่างเดินตามกระบวนการจัดทำงบประมาณทั้งหมด โดยเฉพาะรายจ่ายประจำ และรายจ่ายผูกพันงบประมาณ จะไม่กระทบและเปลี่ยนแปลง

 

“เบื้องต้นการจ่ายงบประมาณปี 67 อาจจะช้าเล็กน้อย แต่ก็มีการเตรียมเรื่องของการใช้งบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อนเอาไว้แล้ว เพื่อรองรับการใช้งบประมาณต่อไปได้อีก 6 เดือน คิดเป็น 50% ของวงเงินงบประมาณ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท โดยงบการลงทุนขนาดใหญ่จะยังทำไม่ได้”

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดว่า แผนการคลังระยะปานกลาง มีเป้าหมายเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลเพื่อมุ่งสู่การจัดงบประมาณสมดุลในระยะเวลาทีเหมาะสม โดยจะปรับลดขนาดการขาดดุลให้เหลือไม่เกิน 3% ต่อ GDP ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 และจะปรับลดขนาดการขาดดุลลงอย่างต่อเนื่อง   

 

สำหรับแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) สาระสำคัญ สรุปดังนี้ 

 

1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ  

  • ปี 2567 คาดว่า GDP ขยายตัว 3.3 - 4.3% อัตราเงินเฟ้อ 1- 2%
  • ปี 2568 คาดว่า GDP ขยายตัว 2.9 - 3.9% อัตราเงินเฟ้อ 1.2-2.2%
  • ปี 2569 คาดว่า GDP ขยายตัว 2.9 - 3.9% อัตราเงินเฟ้อ 1.3-2.3%
  • ปี 2570 คาดว่า GDP ขยายตัว 2.8-3.8% อัตราเงินเฟ้อ 1.4-2.4%  

 

2. สถานะและประมาณการการคลัง

 

ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ

  • ปี 2566 คาดรายได้รัฐบาลจำนวน 2.490 ล้านล้านบาท
  • ปี 2567 ประมาณการรายได้จำนวน 2.757 ล้านล้านบาท 
  • ปี 2568 ประมาณการรายได้จำนวน 2.867 ล้านล้านบาท  
  • ปี 2569 ประมาณการรายได้จำนวน 2.953 ล้านล้านบาท 
  • ปี 2570 ประมาณการรายได้จำนวน 3.041 ล้านล้านบาท 

 

ประมาณการงบประมาณรายจ่าย 

  • ปี 2566 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.185 ล้านล้าบาท 
  • ปี 2567 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.350 ล้านล้าบาท 
  • ปี 2568 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.457 ล้านล้าบาท 
  • ปี 2569 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.568 ล้านล้าบาท 
  • ปี 2570 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.682 ล้านล้านบาท

 

หนี้สาธารณะต่อ GDP 

  • ปี 2566 อยู่ที่ 60.64%
  • ปี 2567 อยู่ที่ 61.35% 
  • ปี 2568 อยู่ที่ 61.78% 
  • ปี 2569 อยู่ที่ 61.69%
  • ปี 2570 อยู่ที่ 61.25% 

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมครม. ยังเห็นชอบกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและเป้าหมายในปี 2566 โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% ซึ่งยังมีความเหมาะสม เนื่องจากการกำหนดเป้าหมายแบบช่วงที่มีกว้าง 2% ทำให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลาง