ปิดตำนาน 122 ปี เตรียมทุบทิ้ง “สถานีรถไฟโคราช”

26 ธ.ค. 2565 | 05:19 น.

“รฟท.” เตรียมทุบทิ้ง ตำนาน 122 ปี “สถานีรถไฟโคราช” เริ่มก.พ.66 เล็งสร้างสถานีใหม่ รองรับไฮสปีด-รถไฟทางคู่ หนุนผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนรื้อถอนสถานีรถไฟนครราชสีมา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป เนื่องจากจะมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นสถานีใหม่ที่ทันสมัย รองรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) และรถไฟทางคู่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย และรองรับผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการได้มากยิ่งขึ้น 

ปิดตำนาน 122 ปี เตรียมทุบทิ้ง “สถานีรถไฟโคราช”

ทั้งนี้รฟท.ได้จัดนิทรรศการรำลึกสถานีรถไฟโคราช 122 ปี ขึ้น เพื่อให้พี่น้องชาวจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนนักท่องเที่ยว ได้ร่วมย้อนรำลึกตำนานเส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 21-25 ธันวาคม 2565  โดยย้อนรำลึกประวัติศาสตร์อันยาวนานของสถานีรถไฟเก่าแก่กลางเมืองย่าโม และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระราชดำริให้สร้างเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ใช้สัญจร และเข้าถึงย่านการค้าที่สำคัญในอนาคตอันใกล้ 
 

ส่วนบรรยากาศภายในงานสถานีรถไฟนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครราชสีมา มีนักท่องเที่ยวชาวโคราชเดินทางมาถ่ายรูปเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกหลังจากสถานีรถไฟนครราชสีมาจะมีการปรับปรุงสถานีเพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เป็นไปอย่างคึกคัก มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งโต๊ะเปิดขายอาหารเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่มาร่วมชมงานได้จับจ่ายใช้สอย ซื้ออาหารรับประทาน และดื่มด่ำไปบรรยากาศจำลองย้อนยุค พร้อมทั้งมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาใช้บริการรถไฟกันอย่างเนืองแน่น อีกทั้งมีการเสวนา จัดแสดงรถไฟดีเซลรุ่นเก่า โมเดลรถไฟทุกรุ่น และสิ่งของต่าง ๆ พร้อมกับได้รับชมประวัติความเป็นมาของการรถไฟที่จะนำพาทุกคนย้อนไปในอดีต

ปิดตำนาน 122 ปี เตรียมทุบทิ้ง “สถานีรถไฟโคราช”

นอกจากนี้ในปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างเร่งรัดผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะ(เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร(กม.) มี 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ปัจจุบันคืบหน้าการก่อสร้าง 16% จากการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ,การรื้อย้ายสาธารณูปโภค ฯลฯ ส่งผลให้การก่อสร้างมีความล่าช้าจากแผน โดยไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 1 ประกอบด้วย 6 สถานี ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ดอนเมือง  พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปากช่อง นครราชสีมา มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2569  
 

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท ขณะนี้ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ และได้ยื่นขอพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ (สผ.) แล้ว คาดว่าจะเสนอโครงการฯ ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. พิจารณาในเดือน ม.ค.-ก.พ. 66 ก่อนเสนอกระทรวง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

ปิดตำนาน 122 ปี เตรียมทุบทิ้ง “สถานีรถไฟโคราช”

หากที่ประชุม ครม. เห็นชอบภายในเดือน เม.ย.-พ.ค. 66 คาดว่า รฟท. จะสามารถเริ่มกระบวนการประกวดราคา (ประมูล) และได้ผู้ชนะการประมูล พร้อมลงนามสัญญาภายในปลายปี 66 จากนั้นในปี 67 จะเริ่มงานก่อสร้าง และติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ใช้เวลา 4 ปี โดยงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณจะสามารถเริ่มงานได้ ต้องให้งานโยธาดำเนินการผ่านไปแล้วประมาณ 2-3 ปี ตามแผนคาดว่าโครงการฯ จะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ประมาณกลางปี 72 แต่กระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้เร่งรัดดำเนินการ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 71

 

สำหรับไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย มีจุดเริ่มต้นที่หลังสถานีนครราชสีมา จุดสิ้นสุดที่ริมแม่น้ำโขง ฝั่งไทย ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่  บัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี  หนองคาย