เปิดข้อมูลเด็กเบี้ยวหนี้ กยศ. อึ้ง! หลายคนมีเงินฝากเกิน 5 ล้าน

16 ธ.ค. 2565 | 11:05 น.

สศช. เปิดเปิดข้อมูลเด็กเบี้ยวหนี้ กยศ. จำนวนมาก อึ้ง! เด็กไทยหลายคนที่ผิดนัดชำระหนี้มีเงินฝากเกิน 5 ล้าน และอีกเป็นพันคน มีเงินฝากอู้ฟู่

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดรายงานเรื่อง กยศ. : การส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยให้ยั่งยืน พบว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ยังประสบปัญหาเด็กกู้ยืมเงินที่การขาดวินัยทางการเงิน โดยมีผู้กู้เงินผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก

 

รายงานของ กยศ. ระบุว่า ปัญหาส่วนหนึ่งที่ลูกหนี้ กยศ. ไม่จ่ายชำระ เกิดจากพฤติกรรมของลูกหนี้ที่มักนำเงินไปจ่ายชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง อาทิ หนี้รถยนต์ หรือหนี้บ้าน ซึ่งมีดอกเบี้ยสูง และละเลยหนี้ กยศ. ที่มีดอกเบี้ยต่ำ หรือเพียง 1% ต่อปี 

 

ขณะเดียวกันลูกหนี้บางส่วนมีเจตนาที่จะไม่จ่ายชำระหนี้ แม้จะมีความสามารถในการจ่าย โดยจากการศึกษาของ กยศ. ถึงข้อมูลสืบทรัพย์ที่จะมีการบังคับคดีในปี 2563 พบ ลูกหนี้ กยศ. กว่า 9,000 ราย มีเงินฝากในบัญชีมากกว่า 5 หมื่นบาท 

ทั้งนี้ในจำนวนลูกหนี้ กยศ. กว่า 9,000 รายนี้ ยังพบข้อมูลน่าตกใจด้วยว่า

  • ลูกหนี้จำนวน 40 ราย มีเงินฝาก 5 ล้านบาทขึ้นไป 
  • ลูกหนี้จำนวน 431 ราย มีเงินฝาก ตั้งแต่ 1 ถึง 5 ล้านบาท 
  • ลูกหนี้จำนวน 637 ราย มีเงินฝาก 5 แสนบาท ถึงต่ำกว่า 1 ล้านบาท 

 

รายงานเรื่อง กยศ. : การส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยให้ยั่งยืน

 

ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดวินัยทางการเงินและขาดความรับผิดชอบ แม้ว่า กยศ. จะมีมาตรการกระตุ้นให้ลูกหนี้ชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น ลดเบี้ยปรับสำหรับผู้ปิดบัญชี ขอความร่วมมือกับองค์กรนายจ้าง/สถานประกอบการในการหักเงินเดือนผู้กู้เพื่อชำระหนี้รวมทั้งมีมาตรการเสริมสร้างความรู้การบริหารจัดการทางการเงินให้แก่ลูกหนี้ กยศ. 

 

แต่มาตรการดังกล่าวยังมีข้อจำกัด เนื่องจากการอบรมที่ กยศ. จัดขึ้นร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นแบบสมัครใจที่ให้ผู้กู้ยืมสามารถนับเป็นชั่วโมงจิตสาธารณะเพื่อใช้ในการขอกู้ยืมในปีการศึกษาถัดไปเท่านั้น

อย่างไรก็ตามในกลุ่มของเด็กที่ผิดนัดชำระหนี้ ส่วนหนึ่งได้ตรวจสอบพบว่า ประสบปัญหาหรือวิกฤตต่าง ๆ จริง เช่น ตกงาน ไม่มีงานทำ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ลูกหนี้ กยศ. ประสบปัญหาเป็นจำนวนมาก ทั้งตกงานหรือถูกลดเงินเดือน ทำให้ยอดการชำระหนี้ กยศ. ในปี 2563 ลดลง 10.7% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562

 

ทั้งนี้ สศช. มีข้อเสนอแนะว่า กยศ. ต้องดำเนินการเชิงรุกในการนำลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ มาเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ และไกล่เกลี่ยหนี้ก่อนฟ้องคดี โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แม้ว่าปัจจุบัน กยศ. ได้มีการดำเนินมาตรการแล้ว ทั้ง การจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนร่วมกับกระทรวงยุติธรรม แต่ลูกหนี้ส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงหรือรับรู้มาตรการช่วยเหลือเท่าที่ควร 

 

ดังนั้น กยศ. ต้องเร่งค้นหาและนำลูกหนี้ที่มีปัญหาเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้เสียที่มีอยู่เดิม เพื่อให้กองทุนฯ มีเสถียรภาพทางการเงินหรือมีรายได้สำหรับให้กู้กับนักเรียนนักศึกษารุ่นใหม่ต่อไป

 

รายงานเรื่อง กยศ. : การส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยให้ยั่งยืน