4.6 หมื่นล้าน หนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ที่ถูกเมิน

15 ธ.ค. 2565 | 01:19 น.

ดร.สามารถ แนะภาครัฐเร่งแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว 4.6 หมื่นล้านบาท หลังบีทีเอสแบกหนี้อ่วมนานกว่า 3 ปี หวั่นเอกชนเสียโอกาสร่วมทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระทบภาพลักษณ์ของประเทศ

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและ ท่าอากาศยาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า แม้ว่า BTSC จะออกมาทวงหนี้หลายครั้งด้วยสารพัดวิธี แต่ดูเหมือนว่าโอกาสที่จะได้เงินคืนยังริบหรี่ คงไม่มีผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้ารายใดในโลกที่อดทนให้บริการโดยไม่ได้รับค่าจ้างมานานกว่า 3 ปีแล้ว การให้บริการผู้โดยสารเป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐ แล้วทำไมจึงปล่อยให้ภาคเอกชนที่รับจ้างทำหน้าที่แทนภาครัฐเคว้งคว้าง อย่างไร้อนาคตเช่นนี้ 

 

1. ถึงเวลานี้ BTSC เป็นเจ้าหนี้เท่าไหร่ 
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยังไม่ได้รับค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลประมาณ 46,000 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย) ในส่วนของค่าจ้างเดินรถนั้น BTSC ไม่ได้รับค่าจ้างมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม BTSC ยังคงให้บริการเดินรถตลอดมาทุกวัน ไม่มีวันหยุด แม้ไม่ได้รับค่าจ้างก็ตาม
 

2. กทม. ในฐานะลูกหนี้แก้ปัญหานี้อย่างไร 
ผู้ว่าฯ กทม. มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ขอให้รัฐบาลช่วยชำระค่างานโยธา (ที่รับโอนมาจาก รฟม.) และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลของส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต) รวมทั้งค่าจ้างเดินรถค้างจ่ายแทน กทม.

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ กทม. ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถค้างจ่ายทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ถึงเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นเงิน 11,755 ล้านบาท แต่ กทม. ยังไม่ชำระ โดยได้อุทธรณ์มูลค่าหนี้ต่อศาลปกครองสูงสุด
 

3. มหาดไทยในฐานะผู้กำกับดูแล กทม. ว่ายังไง 
หลังจาก กทม. มีผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือลงวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ถึงผู้ว่าฯ กทม. ขอทราบแนวทางการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอ ครม. ต่อไป

4.6 หมื่นล้าน หนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ที่ถูกเมิน

เหตุที่ มท. 1 ขอความเห็นจากผู้ว่าฯ กทม. ก็เพราะว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 ผู้ว่าฯ กทม. (ในขณะนั้น) ได้มีหนังสือถึง มท. 1 ขอความเห็นชอบให้ขยายสัมปทานให้ BTSC เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2572-2602 โดยมีเงื่อนไขให้ BTSC แบกภาระหนี้สินทั้งหมดที่ กทม. มีอยู่กับ BTSC และ รฟม. พร้อมกับแบ่งรายได้ให้ กทม. ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท อีกทั้ง กำหนดให้ BTSC เก็บค่าโดยสารในอัตรา 15-65 บาท (สูงสุดไม่เกิน 65 บาท)

 

แต่หลังจากที่ มท. 1 ได้รับหนังสือตอบจากผู้ว่าฯ กทม. แล้ว มท.1 ยังไม่ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ ครม. พิจารณา ผมเห็นว่า มท.1 มีข้อมูลครบถ้วนพร้อมที่จะตัดสินใจได้แล้วว่าจะแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างไร จะชำระหนี้หรือขยายสัมปทานแทนหนี้ มีแค่ 2 ทางเลือกเท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่น ไม่มีประโยชน์ที่จะปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไป ถ้าไม่ตัดสินใจในวันนี้ก็ต้องตัดสินใจในวันหน้า คนตัดสินใจในวันหน้าถ้าไม่ใช่ท่าน เขาก็จะตำหนิท่านได้ว่าปล่อยให้หนี้พอกหางหมู ไม่ตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง

 

4. นายกฯ ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ให้กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งให้แก้ปัญหาการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพื่อให้เดินรถได้ต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน เมื่อคณะกรรมการฯ ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ภาระหน้าที่จึงตกอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ด้วยเหตุนี้ ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จึงควรเร่งรัดการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย

 

ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ก็เป็นผู้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 42/2559 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2559 ให้คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ แก้ปัญหาการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพื่อให้เดินรถได้ต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ซึ่งในที่สุด ได้มีการลงนามขยายสัมปทานให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในปี 2560

 

ดังนั้นหากกระทรวงมหาดไทยเสนอแนวทางการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาลน่าจะมีข้อมูลพร้อมที่จะตัดสินใจได้ว่าจะชำระหนี้หรือขยายสัมปทานแทนหนี้ให้ BTS

 

อย่างไรก็ตามทั้งท่านนายกฯ และท่าน มท. 1 มีข้อมูลพร้อมแล้วที่จะตัดสินใจแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว การตัดสินใจเร็วเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การลังเลจะทำให้เอกชนไม่มั่นใจที่จะมาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐโดยเฉพาะเอกชนจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย และที่สำคัญ จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่ทั้ง 2 ท่าน จะต้องตัดสินใจ อย่าเมินหน้าหนีหนี้อีกเลย