ผู้ว่า กนอ. ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต้องอยู่ในจังหวะที่เหมาะสม

11 ธ.ค. 2565 | 04:51 น.

ผู้ว่า กนอ. ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต้องอยู่ในจังหวะที่เหมาะสม ชี้ถ้ามีการปรับจะส่งผลให้ค่าจ้างระดับอื่นสูงตามด้วย

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยถึงนโยบายหาเสียงพรรคเพื่อไทยในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันภายใน 5 ปีภายในปี 2570 ว่า อัตราค่าจ้างดังกล่าวต้องขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันอัตราที่จ่ายของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอัตราสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว จากศักยภาพแรงงานที่ต้องมีทักษะตามที่แต่ละอุตสาหกรรมต้องการ 

 

อย่างไรก็ตามแม้โรงงานในนิคมฯจะจ่ายสูงกว่า แต่ถ้ามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็จะส่งผลให้ค่าจ้างระดับอื่นสูงตามด้วย ถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจของนักลงทุน

 

นายวีริศ กล่าวอีกว่า ในปี 66 กนอ.ยังเตรียมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ภายใต้โมเดลบีซีจี ตามนโยบายรัฐบาลและเทรนด์ของโลก เบื้องต้นเคาะแล้ว 2 พื้นที่ คือ จ.ระยอง 1,482 ไร่ และจ.ลำพูน 653 ไร่ เน้นอุตสาหกรรมไบโอ อุตสาหกรรมเซอร์คูลา และอุตสาหกรรมสีเขียว 

ล่าสุดจ.ลำพูน นักลงทุนต่างชาติสนใจจองพื้นที่แล้วประมาณ 500 ไร่ ลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์แต่เน้นการรีไซเคิล ขยะเป็นศูนย์ รวมเงินลงทุนรวม 2 แห่งประมาณ 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 

 

ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต้องอยู่ในจังหวะที่เหมาะสม

 

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษานิคมอุตสาหกรรมไผ่ ในภาคเหนือ คือ จ.พิจิตร และจ.พิษณุโลก เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ถ่าน โดยสมาคมส่งเสริมความร่วมมือและเรื่องการลงทุนอาเซียน-จีน ให้ความสนใจ

 

ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2566 กนอ.ตั้งเป้าหมายดึงดูดการลงทุนผ่านการขาย/เช่าที่ดินนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 2,500 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ซึ่งอยู่ที่ 2,016.24 ไร่ เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญมาจากการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้าชมพื้นที่เพิ่มขึ้น จึงตัดสินใจลงทุนจริงมากขึ้น หลังจากประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกจนการลงทุนชะงักงันทั้งหมด 

ประกอบกับเทรนด์การย้ายฐานการลงทุนเกิดขึ้นทั่วโลกเพื่อกระจายความเสี่ยงการลงทุนกรณีเกิดวิกฤต อาทิ โรคระบาด สงคราม ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายสำคัญ ดังนั้นการจะทำให้ประเทศน่าสนใจ ดึงดูดการลงทุนก็ต้องขึ้นกับทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมมือกัน โดยปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติที่สนใจลงทุนไทย กลุ่มหลักคือ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ยุโรป อินเดีย และล่าสุดซาอุดิอาระเบียที่มาแรง

 

"แม้ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจะมีทั้งปัญหาเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ปัญหาว่างงาน แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งปัจจัยเหล่าเป็นโมเมนตัมตามผลการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จึงไม่น่ากังวลมากนัก แต่ปัจจัยที่ต้องกังวลจริงๆ คือ สงคราม ที่ต้องติดตาม เฝ้าระวัง และรับมือ"