สนามบินโกลาหล เร่งแก้ปัญหาผู้โดยสารพุ่งสวนทางผู้บริการหด

07 ธ.ค. 2565 | 04:50 น.

ปัจจุบันไทยมีผู้โดยสารระหว่างประเทศกลับมาอยู่ที่ 50% ผู้โดยสารในประเทศ 80% แล้ว แต่ด้วยการเติบโตของผู้โดยสารที่สวนทางกับจำนวนผู้ให้บริการในสนามบิน ที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้ผู้ใช้บริการสนามบินวันนี้ ต้องเผชิญกับความโกลาหล ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

แม้ในปีนี้ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางกลับมาเที่ยวไทย ราว 10 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 25% จากก่อนโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ 40 ล้านคน แต่เมื่อรวมกับการเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทย ก็จะเห็นถึงปริมาณของผู้ใช้สนามบินที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในช่วงเดือนธันวาคม 2565 สนามบินสุวรรณภูมิจะมีผู้โดยสารระหว่างประเทศและภายในประเทศ รวม 130,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 13% จากเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่มีจำนวนผู้โดยสารรวมประมาณ 115,000 คนต่อวัน

 

สนามบินโกลาหล เร่งแก้ปัญหาผู้โดยสารพุ่งสวนทางผู้บริการหด

 

คอขวดสนามบินอ่วมรอคิวนาน

 

เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ก็จะพบว่าขณะนี้ไทยมีผู้โดยสารระหว่างประเทศกลับมาอยู่ที่ระดับ 50% ผู้โดยสารในประเทศกลับมา 80% แล้ว

 

การเพิ่มขึ้นของผู้โดยสาร แม้จะยังอยู่ห่างจากจำนวนที่สนามบินเคยรองรับอยู่มาก แต่ปัญหาที่ผู้โดยสาร  ต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ ความล่าช้าในการให้บริการ ภายในสนามบิน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการจราจรคับคั่ง

 

เราจึงเห็นภาพของสนามบินในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อคิวในการตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงการรอรับกระเป๋าที่มีความล่าช้าเป็นชั่วโมงๆ หรือหลายชั่วโมง หรือแม้แต่การรอคิวแท็กซี่ในสนามบิน

 

ปัญหาความโกลาหลภายในสนามบินที่เกิดขึ้น เกิดจากปริมาณของซัพพลาย หรือจำนวนผู้ให้บริการในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายในสนามบิน มีจำนวนไม่เพียงพอกับดีมานต์ของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น

 

จุดหลักมาจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการด้านการบินมาร่วม 3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนได้จากผลประกอบการของสายการบินต่างๆ ที่ขาดทุนปักโกรก หรือแม้แต่ทอท.เอง ก็ยังขาดทุนเป็นครั้งแรกอีกด้วย

 

ผลประกอบการสายการบิน ปี2565

การขาดทุนที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการสนามบิน ต้องเลย์ออฟพนักงานออกไปเกินครึ่งและในปีนี้แม้การบินไทยเริ่มฟื้นตัว การขาดทุนเริ่มลดลง หากเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

ธุรกิจก็ยังคงปรับตามไม่ทัน ทำให้ในขณะนี้เมื่อผู้โดยสารเริ่มกลับมา จึงขาดแคลนพนักงานในการให้บริการ จึงทำให้เกิดปัญหาในการให้บริการต่อเนื่อง

 

โดยเฉพาะจุดรับกระเป๋าสัมภาระล่าช้า เพราะปัจจุบันบริษัทผู้ให้บริการภาคพื้น (Ground Handling) จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (BFS) ที่ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์

 

เนื่องจากช่วงโควิดบริษัทฯ มีการลดพนักงานและอุปกรณ์เกิดชำรุด ทำให้การบริการขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระขาเข้ามีความล่าช้า เฉลี่ยประมาณ 40% จากเที่ยวบินทั้งหมด โดย BFS สามารถจัดการกระเป๋าให้ผู้โดยสารได้ประมาณ 25 นาที ส่วนการบินไทย ประมาณ 30 นาที แต่พบบางเที่ยวบินการบินไทยใช้เวลาถึง1.30 ชั่วโมง

 

เบื้องต้นจึงแก้ปัญหาโดยให้แจ้งข้อมูลประมาณการผู้โดยสารขาเข้ารายเที่ยวบินล่วงหน้าให้เจ้าหน้าที่หน้างานเพื่อเตรียมความพร้อม กรณีตรวจพบว่ามีการลำเลียงสัมภาระใบแรก (First Bag) ล่าช้าเกินกว่า 15 นาที จะดำเนินการแจ้งบริษัทผู้ให้บริการภาคพื้นเร่งดำเนินการแก้ปัญหา

 

ประกอบกับขณะนี้บริษัทผู้ให้บริการภาคพื้นอยู่ระหว่างการจัดหาอุปกรณ์และบุคลากรมาให้บริการเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถขนถ่ายสัมภาระของเที่ยวบินต่างได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ขู่“การบินไทย-BFS”เร่งปรับปรุง

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าได้มอบให้ปลัดกระทรวงคมนาคมเร่งประชุมแก้ปัญหารับกระเป๋าสัมภาระล่าช้า โดยทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) กำหนด KPI ให้เวลาปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการภายใน 1 เดือน หากทั้ง 2 บริษัททำไม่ได้ตามแผน จำเป็นต้องเพิ่มผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามา

 

เพราะตอนนี้แก้ปัญหา ตม.ได้แล้ว โดยปัญหาแออัดบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทางผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ได้จัดเจ้าหน้าที่ให้บริการเต็มทุกเคาน์เตอร์ ซึ่งในส่วนของอัตรากำลังที่ไม่พอนั้น ตม.เกลี่ยเจ้าหน้าที่จากสนามบินนานาชาติอื่นที่ยังมีผู้โดยสารไม่หนาแน่นมาช่วยบริการที่สุวรรณภูมิก่อน ในช่วงที่ดำเนินการเรื่องการเพิ่มอัตรากำลัง โดย  ทอท.ช่วยงบประมาณด้านเบี้ยเลี้ยงให้เจ้าหน้าที่

 

รวมถึงการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน โดยการบริหารจัดการคิวรอ ผู้โดยสารได้รับการ บริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยใช้เวลารอคิวเพื่อตรวจหนังสือเดินทางเฉลี่ย 15 นาทีต่อคน และใช้เวลาหน้าจุดตรวจหนังสือเดินทาง 60 วินาทีต่อ คน ในช่วงเวลาคับคั่งที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก

 

ล่าสุดพบว่าผู้โดยสารขาเข้า 3,000 คน สามารถระบายได้ภายในเวลา 20 นาที เท่านั้น ซึ่งถือว่าสามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว โดยคำนึงถึงมาตรฐานการตรวจฯ เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบการปฏิบัติฯ

 

แต่กลับมาติดเรื่องรับกระเป๋าเป็นคอขวดอีก เพราะจะเข้าไฮซีซัน ผู้โดยสารจะเพิ่มอีกมาก และคาดว่าไม่เกินไตรมาส 1/2566 หรือประมาณเดือนมีนาคม 2566 จะเห็นนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามา ดังนั้นต้องเตรียมพร้อมรับการเดินทางที่เพิ่มขึ้น

 

“เป้าหมายคือรอรับกระเป๋าต้องไม่เกิน 30 นาที ซึ่งตามเกณฑ์ ในการบริการ กรณีเครื่องบินลำใหญ่ จะต้องมีพนักงานและเครื่องมือ 3 ชุดบริการ แต่ตอนนี้เหลือชุดเดียว ทำ ให้ล่าช้า”

 

นอกจากนี้ยังให้ ทอท.เร่งดำเนินการเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ในไตรมาส 1/2566 เพิ่มขีดความสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีพื้นที่ Visa on Arrival ซึ่งตนให้พิจารณาเรื่องเคาน์ เตอร์ตรวจหนังสือเดินทางด้วย เพื่อลดความแออัดในพื้นที่ตรวจหนังสือ เดินทางบริเวณอาคารผู้โดยสารหลัก และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้น นายศักดิ์สยาม กล่าวทิ้งท้าย

 

สนามบินโกลาหล เร่งแก้ปัญหาผู้โดยสารพุ่งสวนทางผู้บริการหด

 

ทย.ทุ่ม 4,568 ล้านขยายสนามบิน

 

ในส่วนของสนามบินภูมิภาค นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ทย.) กล่าวว่าภายหลังจากที่สถานการณ์การบินเริ่มกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ สายการบินเริ่มเพิ่มเที่ยวบินที่จะให้บริการมากขึ้น ทย. จึงมีเป้าหมายที่จะเร่งพัฒนาขยายขีดความสามารถสนามบินภูมิภาคที่อยู่ในความรับผิดชอบให้มีศักยภาพ ในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น

 

โดยในปี2566 มีแผนลงทุนรวมกว่า 4,568 ล้าน บาท เพื่อส่งเสริมโครงข่ายคมนาคมทางอากาศของประเทศ โดยมีเป้าหมายว่าในปี 2566 จะมีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางผ่านสนามบิน ทย. รวม 41 ล้านคนจากเดิมช่วงก่อนหน้ามีปริมาณการเดินทางที่ 29 ล้านคน

 

สนามบินโกลาหล เร่งแก้ปัญหาผู้โดยสารพุ่งสวนทางผู้บริการหด

 

สำหรับแผนเพิ่มขีดความสามารถ สนามบินในปี 2566 ทย. มีแผนลงทุนรวมกว่า 4,568 ล้านบาท นั้น ในส่วนนี้จะเป็นการเปิดให้บริการของท่าอากาศยานที่พัฒนาแล้วเสร็จ และเตรียมเปิดให้บริการ ประกอบด้วย

 

  • สนามบินกระบี่ ที่เปิดให้บริการอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1- 3 (ในประเทศและระหว่างประเทศ) โดยแพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 1,500 คนต่อชั่วโมงหรือ 4 ล้านคนต่อปี เป็น 3,000 คนต่อชั่วโมงหรือ 8 ล้านคนต่อปี

 

  • สนามบินขอนแก่น เปิดให้บริการอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารจากเดิม 1,000 คนต่อชั่วโมงหรือ 2.8 ล้านคนต่อปี เป็น 2,000 คนต่อชั่วโมงหรือ 5 ล้านคนต่อปี

 

  • สนามบินนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการอาคารที่พักผู้โดยสาร หลังใหม่ ทำให้รองรับผู้โดยสารจากเดิม 450 คนต่อชั่วโมงหรือ 1.3 ล้านคนต่อปี เป็น 1,600 คนต่อชั่วโมง หรือ 4 ล้านคนต่อปี

 

นอกจากนี้ทย.ยังมีนโยบายที่จะเพิ่มความสะดวกสบายการบริการให้กับผู้โดยสาร และสายการบินที่มาใช้บริการที่สนามบินของ ทย.ด้ว การเปิดให้บริการเคาน์เตอร์เช็คอินร่วมสายการบิน

 

ขณะนี้ ทย.ได้เริ่มดำเนินการที่จะลงระบบ และพัฒนาระบบให้เป็นเคาน์เตอร์เช็คอินร่วมแล้ว ใน 6 สนามบิน ประกอบด้วยสนามบินสุราษฎร์ธานี สนามบินนครศรีธรรมราช สนามบินตรัง สนามบินขอนแก่น สนามบินอุบลราชธานี และสนามบินพิษณุโลก เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นนับจากนี้ด้วยเช่นกัน