แผนวิสาหกิจ 5 ปี กนอ. มุ่งพัฒนานิคมฯ และภาคอุตสาหกรรม สู่ความยั่งยืน

01 ธ.ค. 2565 | 05:49 น.

แผนวิสาหกิจ 5 ปี กนอ.มุ่งพัฒนานิคมฯ และภาคอุตสาหกรรม สู่ความยั่งยืน : คอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ โดย... รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3840

สวัสดีครับท่านผู้อ่านฐานเศรษฐกิจ กลับมาพบกันอีกครั้งกับคอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ กับผม รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เดือนนี้อยากชวนท่านผู้อ่านเกาะติดเทรนด์และการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมไทย ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2565 ซึ่ง กนอ. ก็ได้มีการปรับแผนวิสัยทัศน์ใหม่ ที่จะใช้ในปี 2566-2570 ซึ่งจะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่จะมีส่วนขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมครับ


ก่อนอื่น ผมอยากให้ทุกท่านเข้าใจถึงบทบาทของ กนอ. ที่มีภารกิจหลักในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ที่ให้บริการระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการอย่างครบวงจรแก่การประกอบอุตสาหกรรม การให้บริการอนุมัติและอนุญาตการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม สิทธิประโยชน์ต่างๆ

 

 

 

ตลอดจนการควบคุมและกำกับดูแลการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เราจึงจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรอบคอบและต่อเนื่อง  รวมทั้งประเมินศักยภาพการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อเตรียมพร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างเหมาะสม


ทั้งนี้ การจัดทำแผนวิสาหกิจและแผนปฏิบัติการในครั้งนี้ กนอ. ได้ดำเนินการตามแนวทางหลักเกณฑ์การประเมินกระบวนการปฏิบัติงานและการจัดการ Enablers (ฉบับปรับปรุงปี 2565) ของรัฐวิสาหกิจ ด้านการวางแผนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Planning) และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) และ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 - 2570 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)


ประกอบกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กนอ. คาดการณ์แนวโน้มความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อนำมาปรับเป็นวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับสภาพสังคม โดยในปี 2566-2570 จะดำเนินแผนวิสาหกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “นํานิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน”


โดย กนอ. ได้กำหนดพันธกิจ 3 ด้าน คือ

 

1. พัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรอย่างยั่งยืน โดยเป็นผู้นำการพัฒนาและการให้บริการสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและดิจิทัลที่ครบวงจรด้วยมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ


2. ยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันแก่นักลงทุน พัฒนารูปแบบและคุณภาพการให้บริการเพื่อเอื้อต่อการลงทุนและการประกอบกิจการให้สามารถ แข่งขันได้

 

3. เพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมบนหลักธรรมาภิบาล สร้างความเจริญเติบโตของนิคมอุตสาหกรรม/ ท่าเรืออุตสาหกรรม สังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างมีส่วนร่วมที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลบน พื้นฐานของคุณธรรมและความโปร่งใส

                               แผนวิสาหกิจ 5 ปี กนอ. มุ่งพัฒนานิคมฯ และภาคอุตสาหกรรม สู่ความยั่งยืน


ทั้งนี้ กนอ. กำหนดแผนในการรับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Voice of stakeholders) สามารถสรุปประเด็นที่สำคัญ ดังนี้ จัดหาพื้นที่เพื่อการลงทุนและพัฒนาให้มากขึ้น, ส่งเสริม SMEs โดยจัดสรรพื้นที่ภายในนิคมอุตสาหกรรม, คำนึงถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม, มีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง/ บริการใหม่ของ กนอ. จากการที่มีกฎหมายใหม่, เน้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์และแจ้งข้อมูลข่าวสารเชิงรุก


ทบทวนสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ส่งผลต่อการลงทุน, ปรับปรุง หรือ ลดขั้นตอนการให้บริการให้มีความชัดเจน และกระชับ สามารถดำเนินการได้ง่าย, จัดกิจกรรมร่วมกันกับท้องที่เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชน, สนับสนุนช่วยเหลือชุมชนทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม และปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) ที่เป็นที่ยอมรับ

 

โดยการรับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นประโยชน์อย่างมากในการวางตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) ที่เราจะมุ่งสู่การเป็น Personalizing Smart Eco Industrial Estate โดยกำหนดให้ส่วนตลาดเป้าหมาย ประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ

 

1) นิคมอุตสาหกรรมเน้นตอบสนองต่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

 

2) นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

 

และ 3) นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อให้ตอบสนองลูกค้าได้ทั้งทางด้านผลิตภัณฑ์ และบริการที่มีความแตกต่างกันตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งระยะเวลาดำเนินการของลูกค้า กลุ่มสัญชาติ และกลุ่มอุตสาหกรรม


ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทาย อาทิ สภาวะที่การลงทุนค่อยๆ ฟื้นตัวช้าๆ จากโควิด-19 ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบาง

 

ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่อาจยืดเยื้อ และราคาพลังงานและน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง เป็นต้น ซึ่ง กนอ. นำปัจจัยเสี่ยงทุกด้านมาประเมินในการกำหนดแผนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนในนิคมฯ


การกำหนดแผนวิสาหกิจของ กนอ. มีการประเมินโอกาสและความเสี่ยงจากกระแสการเปลี่ยนแปลงระดับโลกร่วมด้วย ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้ว ขณะเดียวกันยังคำนึงถึงความมุ่งมั่นของนานาชาติในการลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยเทคโนโลยีสีเขียว ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้นทุนในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมลดลง

 

อาทิ พลังงานหมุนเวียน จึงนำมาสู่กรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) กรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Environmental, Social and Governance : ESG) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้เป็นพื้นฐานในการกำหนดเป็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน 


โดยได้กำหนดเป็นนโยบายการพัฒนาความยั่งยืนเชิงยุทธศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานของ กนอ. รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรได้รับทราบเจตนารมณ์ และกรอบแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนเชิงยุทธศาสตร์ที่มุ่งสร้างจิตสำนึกภายในองค์กร และสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือแก่สังคม โดยนโยบายการพัฒนาความยั่งยืนเชิงยุทธศาสตร์ของ กนอ. แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านเศรษฐกิจ 2) ด้านสังคม 3) ด้านสิ่งแวดล้อม และ 4) ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี


กนอ. ประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลต่อการพัฒนาขององค์กรทั้งภายนอก ภายในอย่างต่อเนื่องครบถ้วนและรอบคอบ พร้อมทั้งประเมินศักยภาพของ กนอ. และผลการพัฒนาของ กนอ. ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม จึงนำมาสู่การกำหนดแผนวิสาหกิจระยะ 5 ปี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อหนุนของภาคอุตสาหกรรม สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของคุณธรรมและความโปร่งใสครับ