เปิดแผนล้อมนิคมฯ รับมือน้ำ ป้องกันอุทกภัย (2)

27 ต.ค. 2565 | 01:30 น.

เปิดแผนล้อมนิคมฯ รับมือน้ำ ป้องกันอุทกภัย (2) : คอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ โดย... รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3830

สวัสดีครับท่านผู้อ่านฐานเศรษฐกิจ กลับมาพบกันอีกครั้งกับคอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ กับผม รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เมื่อครั้งที่แล้วผมได้เล่าเรื่องแผนการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัย ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมในกรุงเทพและปริมณฑล ตลอดจนนิคมอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ตั้งอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และ นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า ไปแล้วนั้น ในครั้งนี้ ผมขอเล่าถึงการประสานความร่วมมือระหว่าง กนอ. กับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงชุมชนรอบข้างนิคมฯ ท่านได้กำชับให้ กนอ. เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรับมืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยรอบนิคมฯ ทั้งในระหว่างน้ำท่วมและการฟื้นฟูหลังน้ำลด 

 

กนอ. ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุม โดยได้รายงานสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมทั้งความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำของแต่ละนิคมอุตสาหกรรม อาทิ ระบบป้องกันน้ำท่วม คันป้องกันน้ำท่วม ระบบสูบน้ำ และพื้นที่รองรับน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมที่มั่นคงเพียงพอ ซึ่งได้สร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วน

ตลอดเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้ติดตามสถานการณ์การเฝ้าระวังอุทกภัยร่วมกับผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในแต่ละนิคมฯ อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ก็ได้รับรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับนิคมฯ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่ม กนอ. ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มีความแบ่งปันเกื้อกูล และเอื้ออาทรในการอยู่ร่วมกัน สอดคล้องกับหนึ่งในปรัชญาการดำเนินงานของเรา

 

กนอ.ได้มีการประสานกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชนอย่างใกล้ชิด ได้รับทราบถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จึงพยายามเข้าไปให้ความช่วยเหลือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

โดยเมื่อวัน 7 และ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ผม พร้อมด้วยพี่น้องชาว กนอ. และผู้พัฒนานิคมฯ ได้นำสิ่งของที่จำเป็น และถุงยังชีพไปมอบให้กับชุมชนที่อยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 1,000 ชุด และมีแผนที่จะไปมอบถุงยังชีพในพื้นที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

 

ในส่วนของความเสี่ยงของการเกิดอุทกภัยในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใน จ. พระนครศรีอยุธยา นั้นนับว่ายังน้อย เนื่องจากปัจจุบันระดับน้ำตามจุดเฝ้าระวังต่างๆ เมื่อเทียบกับคันป้องกันน้ำท่วมของแต่ละนิคมอุตสาหกรรมแล้ว ยังอยู่ในระดับที่ห่างพอสมควร ถือว่าปลอดภัย โดยมวลน้ำยังอยู่ภายนอกแนวคันป้องกันชั้นนอก ยังไม่ข้ามเข้ามายังคันป้องกันน้ำท่วมของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ยังมีความกังวลของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ที่สอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ หากน้ำสูงขึ้นท่วมถนนภายนอกนิคมอุตสาหกรรมที่มีระดับต่ำกว่าแนวป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเดินทางมาทำงานของคนงาน การขนส่งวัตถุดิบ และสินค้า

 

ผมได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันเส้นทางสัญจร ในพื้นที่ที่รับผิดชอบให้ด้วย เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาล

 

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ณ วันที่ 20 ต.ค.2565 มีระดับน้ำห่างจากหลังคันป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 2.62 เมตร ส่วนนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำภายนอกแนวป้องกัน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเทียบกับความสูงของเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังคงเหลือระยะห่างจากสันเขื่อนอยู่ 2.04 เมตร 


โดยระดับน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ อ.บางปะอิน อยู่ที่ 3,483 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ระดับน้ำภายในแนวป้องกัน คือ ประตูคลองจิก เมื่อเทียบกับระดับถนนอุดมสรยุทธ์ภายในนิคมอุตสาหกรรม ยังมีระยะห่างอยู่ที่ประมาณ 4.15 เมตร

 

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำภายนอกแนวป้องกัน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำห่างจากหลังคันป้องกันน้ำท่วมนิคมฯ ประมาณ 1.99 เมตร โดยมีปริมาณอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 2,878 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที


นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการปรับลดการระบายน้ำอย่างต่อเนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนพระรามหก และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้ระดับน้ำเริ่มทรงตัวและลดลงตามลำดับ ถึงแม้ว่าจะยังคงมีมวลน้ำค้างทุ่งที่ถูกระบายลงมาเติมบ้างเล็กน้อย แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบมากนัก ดังนั้น หากไม่มีพายุเข้ามาเพิ่มเติมอีก สถานการณ์น้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งจะอยู่ในระดับปกติ ถึงระดับเฝ้าระวัง 

 

ขณะเดียวกันผมได้กำชับให้สำนักงานนิคมฯ ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เตรียมประสานกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเข้าไปให้การสนับสนุนในการฟื้นฟูพื้นที่ชุมชนต่างๆ หลังน้ำลด ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สถาบันการศึกษา และโรงพยาบาล ในการเข้าไปช่วยทำความสะอาดพื้นที่ชุมชน ซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ และดูแลสุขภาพคนในชุมชนต่อไป


ผมขอยืนยันว่า ภาพรวมขณะนี้ กนอ.ยังสามารถรับมือและป้องกันสถานการณ์น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมได้ และเชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นตามลำดับ