4 หน่วยงานนัดถก นายกฯ สั่งปรับแผนดึงต่างชาติตั้ง "เฮดควอเตอร์"

01 ธ.ค. 2565 | 05:39 น.

4 หน่วยงานนัดถก เดือนธ.ค.นี้ หลัง นายกรัฐมนตรี สั่งการให้เร่งปรับปรุงการอำนวยความสะดวกนักลงทุนเพิ่มเติม ดึงต่างชาติตั้ง "เฮดควอเตอร์" ในประเทศไทย

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ปรับปรุงการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดการเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาค หรือ "เฮดควอเตอร์" ในไทยมากขึ้น

 

ทั้งนี้ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2565 นี้ คณะอนุกรรมการแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการลงทุน ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงานเป็นประธาน จะประชุมร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 

 

เกี่ยวกับการตั้งศูนย์ให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) แก่ต่างชาติจะเข้ามาติดต่อเรื่องการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาค ซึ่งจากปกติหากเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยจะต้องขออนุญาตทั้ง 4 หน่วยงานก็ให้มาดำเนินการทุกขั้นตอน ณ จุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จได้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพของประเทศไทยและนโยบายการบริหารความต่อเนื่องทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นและให้ความสนใจที่จะลงทุนในไทย เห็นได้จากนักธุรกิจหลายคณะที่เดินทางมาพบนายกรัฐมนตรีทั้งจากสหรัฐฯ และยุโรป ในระยะนี้ต่างให้ความสนใจสอบถามถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนและโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่

 

รวมถึงจะการสนับสนุนแนวนโยบายที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ โดยการให้สิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อดึงบรรษัทข้ามชาติมาตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาค ในประเทศไทย โดยจากที่ผ่านมามีหลายบริษัทเข้ามาตั้งแล้ว เช่น 

 

สำนักงานใหญ่ภูมิภาคอโกด้า แพลตฟอร์มรับจองโรงแรมทั่วโลก,บริษัท เอ็กซอน โมบิล, บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นอัลสตอม ประกอบธุรกิจการพัฒนาระบบรางของรถไฟฟ้า ซึ่งการเข้ามาของบริษัทเหล่านี้ได้ให้ประโยชน์กับไทยอย่างมากโดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนยีและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล

ล่าสุดนายกฯ ยังได้รับทราบจากระทรวงการคลังถึงกรณีที่บริษัท ฟิทช์ เรตติ้ง (Fitch Ratings) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ได้ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

 

โดยการคงมุมมองความน่าเชื่อถือต่อประเทศไทยดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปี 2565-66 จะเติบโตร้อยละ 3.3 และ 3.8 ตามลำดับซึ่งสูงกว่าระดับเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกัน ภาคการคลังสาธารณะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ มีแนวโน้มการขาดดุลภาคการคลังลดลงอย่างต่อเนื่องลดลง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ 

 

ขณะที่ภาคการเงินต่างประเทศก็มีความเข้มแข็งและยืดหยุ่น ทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอและอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกัน