ดัน “ชุมชนดีพร้อม” 5 จังหวัดชายแดนใต้ ฟื้นรายได้หลังวิกฤตโควิด-19

21 พ.ย. 2565 | 09:53 น.

ดันชุมชนดีพร้อม 5 จังหวัดชายแดนใต้ รมว.อุตสาหกรรม สั่งเดินหน้าพัฒนาอาชีพเสริม ส่งเสริมความรู้ ต่อยอดธุรกิจ สร้างรายได้ให้ชุมชนหลังผ่านวิกฤตโควิด-19

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เร่งพัฒนาอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้ "ชุมชนดีพร้อม" ตั้งเป้าหมายให้ประชาชนในระดับฐานรากมีรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพโดยเน้นอัตลักษณ์ของชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

 

โดยนำเอาองค์ความรู้ หลักวิชาการ และวิทยากรผู้มีความสามารถมาถ่ายทอดให้ชุมชนได้ศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน ผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจให้กับประชาชน

 

ทั้งนี้ได้เริ่มต้นจากในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งประกอบด้วย หลักสูตรด้านการบริการ วิธีการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มกําไร แนะเทคนิคการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยความคิดสร้างสรรค์ พบว่าชุมชนมีศักยภาพที่สามารถนำความรู้ไปต่อยอดกับสินค้าของชุมชนได้ ซึ่งทางศูนย์ฯ จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเพื่อช่วยให้ชุมชนที่มีศักยภาพเหล่านั้นได้เดินต่อไป

สำหรับการดำเนินการในพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 ครอบคลุมการดำเนินงาน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส แม้ชุมชนในพื้นที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่พบว่าชุมชนมีความเข้มแข็ง สินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนมีเอกลักษณ์ เชื่อว่าโครงการนี้จะสามารถช่วยเหลือ ส่งเสริมความรู้ พัฒนาทักษะประชาชน ให้สามารถต่อยอดเชิงธุรกิจ สร้างเป็นชุมชนดีพร้อมได้ในอนาคต 

 

โดยกลุ่มเป้าหมาย แยกเป็น กลุ่มผู้รับประโยชน์โดยตรง ซึ่งเป็นคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่ ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ประชาชนที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ถูกเลิกจ้างและกลับคืนถิ่น

 

รวมทั้งประชาชนที่สนใจเพิ่มทักษะองค์ความรู้ให้ตัวเองกว่า 7 แสนคน และผู้รับประโยชน์โดยอ้อม จะมีชุมชนอย่างน้อย 400 พื้นที่ทั่วประเทศ ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งภายหลังสถานการณ์โควิด-19

นางสาววรรณี พุฒแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กล่าวว่า จากผลการอบรมพบว่าประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลาพึงพอใจกับความรู้ใหม่ที่ได้รับ หลายชุมชนมีสินค้าอยู่แล้วแต่ยังไม่ได้รับการยอมรับทางการตลาดในระดับประเทศ การส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ให้สินค้ามีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม

 

รวมถึงรายละเอียดอื่น เช่น การคิดต้นทุนและกำไร ซึ่งหลังจากนั้นทางชุมชนจะนำความรู้ที่ได้ไปปรับปรุงและพัฒนาสินค้าทั้งรูปแบบและการจัดจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิกต่อไป