“นิตินัย” ส่งไม้ต่อ ผู้บริหารคนใหม่ สานเมกะโปรเจ็กต์ ทอท.

17 พ.ย. 2565 | 00:00 น.

“นิตินัย” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กางเมกะโปรเจ็กต์ เล็งส่งต่อผู้บริหารคนใหม่ หลังครบรอบเกษียณราชการ เตรียมสละเก้าอี้พ้นตำแหน่ง เม.ย.66

บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่  ผลักดันผู้บริหาร 2 ราย นั่งคณะกรรมการ (บอร์ด) ของทอท.คือ “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง ที่ได้เลื่อนตำแหน่งจากรองประธานบอร์ดมานั่งแท่นเป็นประธานบอร์ดแทน และแต่งตั้ง “อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย” อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เป็นกรรมการทอท. แทน “สราวุธ เบญจกุล” ที่ลาออกไป

 

ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในรอบ 8 ปี โดยจะมีการสรรหากรรมการผู้อำนวยการคนใหม่ เนื่องจาก “นิตินัย ศิริสมรรถการ” จะหมดวาระเมษายน ปี 2566 ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์  นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เพื่อเตรียมภารกิจให้กับกรรมการผู้อำนวยการคนใหม่ สานต่อเมกะโปรเจ็กต์ของทอท.ต่อไป

ชงครม.ยก 3 ท่าอากาศยาน

 

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับความคืบหน้าการยก 3 ท่าอากาศยาน คือ อุดรธานี ,บุรีรัมย์ และกระบี่ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริหารจัดการแทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) นั้น ที่ผ่านมามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการในการยก 3 ท่าอากาศยาน โดยทอท.จะต้องศึกษาจัดทำแผนดำเนินงาน เช่น ความคุ้มค่า,ฐานะทางการเงิน,ส่วนแบ่งรายได้ให้ทย. ฯลฯ ตามที่กระทรวงการคลังได้ให้ความคิดเห็นในช่วงที่ผ่านมา  ซึ่งจะศึกษาแล้วเสร็จ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายต่อไป 

 

หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบแล้ว ตามหลักการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะต้องออกใบรับรองท่าอากาศยานสาธารณะให้ครบท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง หลังจากนั้นทอท.จะเข้าไปบริหารในการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร รวมทั้งติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก และจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) รวมทั้งจะต้องเปิดรับบุคคลากรในทย.เพื่อเข้ามาทำงานกับทอท.แทนด้วย งบประมาณราว 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในกลางปี 2566 

 

ขณะที่สัดส่วนการแบ่งรายได้ทั้ง 3 ท่าอากาศยานของทอท.ให้กับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอดำเนินขั้นตอนของกฎหมายให้แล้วเสร็จ เบื้องต้นทย.จะต้องมีรายได้เข้ากองทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่าเดิมที่บริหารในปัจจุบัน จากการที่ทอท.เข้าไปบริหารและพัฒนาทั้ง 3 ท่าอากาศยาน เพื่อให้ทย.มีงบประมาณบริหารในท่าอากาศยานอื่นๆได้ 
 

ชะลอ สร้างสนามบินภูเก็ต 2 

ด้าน ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 ปัจจุบันทอท.อยู่ระหว่างรอความชัดเจนแผนการยก 3 ท่าอากาศยานให้แล้วเสร็จก่อน  ทำให้ภาครัฐสั่งให้ทอท.ชะลอการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดของโครงการฯออกไปก่อน 

 

จ้างที่ปรึกษา ดันสนามบินเชียงใหม่ 2

 

ขณะที่แผนพัฒนาท่าอากาศยานเขียงใหม่แห่งที่ 2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกวดราคาจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อทบทวนรายละเอียดของโครงการฯ แต่เนื่องจากมีข้อสังเกตว่าควรว่าจ้างหน่วยงานกลางมาทำหน้าที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่งในขณะนั้น ทอท. ได้เตรียมว่าจ้างศึกษา แต่มีนโยบายการให้ ทอท. บริหาร 3 สนามบิน ทย. ทางกระทรวงคมนาคมจึงให้รอผลการเข้าบริหาร 3 สนามบินของ ทย.ก่อน อีกทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีความสามารถในการรองรับปริมารผู้โดยสารได้

“นิตินัย” ส่งไม้ต่อ ผู้บริหารคนใหม่ สานเมกะโปรเจ็กต์ ทอท.

8 ปี กับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.

 

นายนิตินัย เล่าต่อว่า หลังจากที่ได้รับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ถึง 8 ปี สิ่งที่ภูมิใจที่สุดคือ การบริหารบุคลากรในองค์กรให้เติบโตในทางที่ดีขึ้น เพราะทอท.เป็นองค์กรที่เน้นการให้บริการ ที่ผ่านมาทอท.ได้มีการตั้งบริษัทลูก โดยมีการดำเนินธุรกิจบางส่วนให้เอกชนสามารถดำเนินการได้ ทำให้การปรับโครงสร้างองค์กรเร็วกกว่ารัฐวิสาหกิจ 

 

“จากการบริหารบุคลากรในองค์กร ทำให้หน้าตาของทอท.เปลี่ยนแปลงไป โดยส่วนใหญ่จะพบบุคลากรที่ประสบความสำเร็จในช่วงอายุน้อย พร้อมที่จะนำทัพในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่าน เช่น การดิสรัปชั่น ฯลฯ หากมีการพัฒนาบุคลากรในช่วงอายุน้อยได้ ทำให้สามารถเติบโตในองค์กรต่อไปได้ ซึ่งในอนาคตมีแผนจะทำแอปพลิเคชัน โดยใช้เทคโนโลยีสำหรับบุคลากรของทอท.เพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆด้วย”


ปรับที่ดินสุวรรณภูมิ 723 ไร่ ปลุกพื้นที่เชิงพาณิชย์

 

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยระบุว่า ปัจจุบัน ทอท.ได้ประมูลงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและระบบสาธารณูปโภคหลักในที่ดินแปลงถนนวัดศรีวารีน้อย 723 ไร่ ในวงเงินราว 1,769 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ต่างๆ ที่จะเข้ามาเปิดให้บริการในพื้นที่ โดยคาดว่างานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานฯ จะแล้วเสร็จภายใน 1 ปีหลังจากนี้

 

ขณะที่การพิจารณาโครงการลงทุนในที่ดินแปลง 723 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อให้เอกชนเข้ามาประกวดราคาร่วมลงทุนในโครงการเชิงพาณิชย์ต่างๆ ซึ่ง ทอท.จะเน้นโครงการที่สนับสนุนธุรกิจหลักด้านการบิน แต่เบื้องต้นมีเอกชนมาเสนอไอเดียพัฒนาโครงการแล้วราว 40 – 50 โครงการ โดย ทอท.จะต้องเลือกโครงการที่เหมาะสม หากมีเอกชนสนใจรายเดียวก็สามารถทำสัญญาได้เลย หากมีเอกชนสนใจหลายรายก็จะต้องเปิดประมูล

 

สำหรับโครงการที่ ทอท.เล็งเห็นว่าจะเป็นโอกาสในการพัฒนา เป็นโครงการที่สนับสนุนธุรกิจด้านการบิน อาทิ ตลาดกลางสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่ต่อยอดกับธุรกิจศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรก่อนส่งออก ที่ ทอท.ดำเนินการในนาม บริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอเรเตอร์ จำกัด (AOT TAFA Operator Co.,Ltd : AOTTO) รวมไปถึงโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ โครงการบ้านพักพนักงาน และศูนย์กระจายสินค้าส่งออก โชว์รูมรถซุปเปอร์คาร์ เพื่อทดลองขับและชำระภาษีนำเข้าเบ็ดเสร็จได้ที่นี่ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ทอท.ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในที่ดินแปลง 37 เนื้อที่ 1,470 ไร่ ซึ่งปัจจุบัน ทอท.ได้นำไปพัฒนาเลนจักรยานแล้วบางส่วน จะเหลือให้เอกชนลงทุนได้ประมาณ 700 ไร่ โดย ทอท.จะพิจารณาธุรกิจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ เช่นเดียวกับที่ดินแปลง 723 ไร่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้พื้นที่ด้านการบิน มีข้อจำกัดเรื่องความสูง ดังนั้นโครงการที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้ ต้องตอบโจทย์เป็นโครงการไม่กระทบด้านการบินและเป็นโครงการที่สนับสนุนธุรกิจการบิน

 

ถือเป็นโจทย์ท้าทายของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ของทอท.ว่าจะสามารถเข้ามาบริหารและสานต่อเมกะโปรเจ็กต์ที่ยังคงค้างคาหลายโครงการได้สำเร็จหรือไม่