คาราบาวกรุ๊ป ส่ง 3 เรือธง ลุยปั้มยอดโค้งท้าย

11 พ.ย. 2565 | 03:38 น.

“คาราบาวกรุ๊ป” ชู 3 โปรดักต์ฮีโร่เขย่าตลาดเครื่องดื่ม กระทุ้งยอดขายโค้งท้ายปี 65 อัดโปรแรงดัน “คาราบาวแดง” โกยแชร์ 25% พร้อมส่ง “คันโซ คูณสอง” เจาะตลาดชูกำลังพรีเมียมก่อนรีอิมเมจ “วู้ดดี้ ซี+ ล็อค กลูต้า” เจาะกลุ่มบิวตี้ ดริ้งก์

นายกมลดิษฐ สมุทรโคจร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงโค้งท้ายของปีซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มกลับมาคึกคักส่งสัญญาณบวกอย่างเห็นได้ชัด ทำให้บริษัทมีแผนรุกหนักด้วยการส่ง 3 ผลิตภัณฑ์เรือธงที่จะมาช่วยกระตุ้นยอดขายและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค พร้อมเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังและเครื่องดื่มวิตามิน

 

ประกอบไปด้วย คาราบาวแดง ซึ่งบริษัทได้ปรับสูตรใหม่ “คาราบาวแดง” พร้อมวางจำหน่ายในราคา 10 บาทเท่าเดิม ไปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้เชื่อมั่นว่าคาราบาวแดงสูตรใหม่ จะช่วยผลักดันส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 25%

  กมลดิษฐ สมุทรโคจร           

“การทำตลาดคาราบาวแดง จะเน้นสร้างการรับรู้ และเกิดประสบการณ์การดื่มรสชาติใหม่ผ่าน “ทีมสาวบาวแดง” มากกว่า 600 ชีวิต ถือเป็นหมัดเด็ดแต้มต่อของคาราบาวแดงในการสื่อสารประชาสัมพันธ์เข้าถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนผนึกกำลังกับทีมขายคาราบาวภาคมากกว่า 1,500 คน เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ และกระจายสินค้าไปยังเครือข่ายร้านค้าคาราบาว และการจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย “บาวแดงช่วยคนไทยสร้างอาชีพ” แจกมอเตอร์ไซค์ 500 คันทุกเดือนๆ ละ 50 คัน ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566”

คาราบาวกรุ๊ป ส่ง 3 เรือธง ลุยปั้มยอดโค้งท้าย            

นอกจากนี้บริษัทได้เปิดตัว “คันโซ คูณสอง” (KANZOU X2) เครื่องดื่มชูกำลังพรีเมียมออกวางจำหน่ายตั้งแต่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมาในราคา 15 บาท โดยเน้นเจาะเซ็กเมนต์เครื่องดื่มชูกำลังพรีเมียม ซึ่งจากการศึกษาตลาดพบว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% และมีแนวโน้มการเติบโตเช่นนี้ต่อเนื่อง เนื่องมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น และมีความต้องการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังที่ผสมส่วนผสมที่มีประโยชน์ และดีต่อสุขภาพ

 

“ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง จะมีทั้งเครื่องดื่มชูกำลังทั่วไป, เครื่องดื่มชูกำลังพรีเมียม, เครื่องดื่มชูกำลังผสมโสมและสมุนไพร โดยกลุ่มพรีเมียมถือว่าเป็นเซ็กเมนท์ที่มีศักยภาพมีสัดส่วนราว 10% มีการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มนี้จะเน้นแข่งขันกันที่มีคุณประโยชน์เป็นหลัก ควบคู่ไปกับเรื่องรสชาติและภาพลักษณ์ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการ จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบัน

คาราบาวกรุ๊ป ส่ง 3 เรือธง ลุยปั้มยอดโค้งท้าย

สินค้าใหม่ที่เข้ามาจะเป็นจิ๊กซอว์ผลักดันให้ตลาดเติบโต ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โควิดฉุดตลาดทำให้หดตัวแรงจากเดิมที่มีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาทหรือมากกว่า 180 ล้านขวดต่อปี ลดลงเหลือ 140 ล้านขวด ซึ่งปัจจุบันตลาดค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นกลับมาอยู่ที่ 160 ล้านขวดต่อปี อย่างไรก็ดี บริษัทตั้งเป้าที่จะผลักดันให้คาราบาวแดง มีส่วนแบ่งตลาดราว 24-25% ในปีหน้า จากปัจจุบันที่มีอยู่ 21-22%

 

นายกมลดิษฐ กล่าวอีกว่า จากพฤติกรรมผู้บริโภคทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสทางการตลาด โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งเป็นผู้บริโภคมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงทำร้ายตับ เช่น ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ทานอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องตับ รวมถึงเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ตับต้องทำงานหนักในการขับสารพิษ เป็นต้น

 

แผนการตลาดมุ่งเน้นการสื่อสารที่เจาะตรงเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ได้มากที่สุด ทั้งการสื่อสารในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ การทำกิจกรรมเจาะตรงไปยังพื้นที่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการแจกสินค้าเพื่อให้เกิดการทดลองดื่ม ปูพรมจำหน่ายสินค้าผ่านทาง ร้านซีเจมอลล์, ร้านถูกดี มีมาตรฐาน, เซเว่น อีเลฟเว่น และเครือข่ายร้านค้าคาราบาวทั่วประเทศ โดยตั้งเป้ายอดขาย “คันโซ คูณสอง” จำนวน 100 ล้านขวดในปีแก ซึ่งจะมีส่วนแบ่งตลาดในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังไม่ต่ำกว่า 5%

 

นอกจากนี้บริษัทยังเปิดตัว “วู้ดดี้ ซี+ ล็อค กลูต้า” กลิ่นลิ้นจี่ ออกวางตลาดตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา พร้อมสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับแบรนด์ “วู้ดดี้ ซี+ ล็อค” เพื่อขยายฐานกลุ่มเป้าหมายในตลาดวิตามินซี โดยเน้นกลุ่มบิ้วตี้อย่างต่อเนื่อง หลังจากประสบความสำเร็จในภาพลักษณ์ที่มีต่อกลุ่มคนรักสุขภาพ ด้วยจุดขายการเป็นเครื่องดื่มวิตามินซีขวดเขียวที่ให้ปริมาณวิตามินซีสูง คงคุณภาพ ทำให้ปัจจุบันวู้ดดี้ซี+ล็อค กลูต้า มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าจะก้าวขึ้นเป็นอันดับ 2 ในตลาดเครื่องดื่มวิตามินซีเพื่อสุขภาพและความงามได้ภายในปีนี้

คาราบาวกรุ๊ป ส่ง 3 เรือธง ลุยปั้มยอดโค้งท้าย

“ในปีหน้าบริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทสำหรับขยายโรงงานผลิตขวดแก้วอีก 1 เตาหลอม ขณะที่การทำตลาดสินค้าเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์จนถึงปี 2566 จะใช้งบราว 300 ล้านบาท ปูพรมสื่อสาร สร้างการรับรู้แบรนด์และสินค้า ผลักดันยอดขายให้เติบโต หลังจากที่ตลาดมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งการสภาพเศรษฐกิจ การบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยว”

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,834 วันที่ 10 - 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565