กรมพัฒน์ฯเตือนเหยื่อโจร ‘ฟิชชิ่ง’ พลาดแค่คลิ๊กเดียว! เสียเงินในพริบตา

10 พ.ย. 2565 | 07:53 น.

กรมพัฒน์ฯ ย้ำชัด ไม่ทักก่อน เตือนธุรกิจและประชาชนป้องกันตัวเองทุกทาง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโจร ‘ฟิชชิ่ง’ พลาดแค่คลิ๊กเดียว! เสียเงินในพริบตา ตั่งสติทุกครั้งก่อนกดลิ้งค์ ป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้น

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่า มีผู้ไม่หวังดีโทรศัพท์หรือส่งข้อความไปยังผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่สร้างปลอมขึ้นมาอย่าง Facebook และแอปพลิเคชัน Line โดยแอบอ้างใช้ชื่อรหัสประจำตัว (Username) เป็นชื่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และใช้โลโก้กรมฯ เป็นรูปโปรไฟล์ พร้อมขอตรวจสอบธุรกิจเรื่องต่างๆ หรือเสนอเงินให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

โดยให้กดเพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อขอข้อมูล รวมถึงการปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์ให้มีรูปแบบคล้ายกับหน้าเว็บไซต์กรมฯ หรือบางกรณีหลอกลวงให้กดลิงค์เว็บไซต์ บางรายแจ้งให้คลิ๊กเปิดไฟล์เอกสารที่แนบมาด้วย ทั้งที่ผู้เสียหายไม่ได้มีการติดต่อกับกรมฯ มาก่อน ทำให้ภาคธุรกิจหรือประชาชนบางรายต้องสูญเสียเงินในบัญชีจากการหลงเชื่อข้อมูลเท็จดังกล่าว เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการให้บริการของกรมฯ อย่างมาก ที่สำคัญยังทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายหรือสูญเสียทรัพย์สินอีกด้วย

ขณะนี้กรมฯ ได้พัฒนาช่องทางการติดต่อสื่อสารกับภาคธุรกิจและประชาชนให้ใกล้ชิดและรวดเร็วยิ่งขึ้นผ่านช่องทาง Social Media เพื่อให้ประชาชนติดต่อสอบถามข้อมูลมายังกรมฯ ได้สะดวกขึ้น และขอยืนยันว่า กรมฯ ไม่มีนโยบายที่จะติดต่อหรือทักหาประชาชนไปก่อน โดยที่ประชาชนท่านนั้นไม่ได้สอบถามข้อมูลมา รวมถึงให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจด้วยเงิน จึงฝากให้ประชาชนพึงระวังหากไม่ได้ดำเนินการติดต่อใดๆ กับกรมฯ แต่ได้รับข้อมูลหรือการติดต่อจากบุคคลในลักษณะดังกล่าวต้องพิจารณาให้ดีก่อน อย่าหลงเชื่อหรือกดไฟล์เอกสารที่แนบมาโดยไม่สังเกตความผิดปกติ และปฏิเสธการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่น

ปัจจุบันมิจฉาชีพได้เปลี่ยนกลวิธีการหลอกลวงให้แนบเนียนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเข้าถึงทุกคน และได้แอบอ้างเอาหน่วยงานราชการมาใช้สร้างความเสียหาย การกระทำลักษณะดังกล่าวเรียกว่า การฟิชชิง (Phishing) เป็นการหลอกลวงผ่านช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงแต่ละบุคคลเช่น โทรศัพท์ อีเมล Social Media และเว็บไซต์ปลอม เพื่อล่อลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้โจรกรรม ซึ่งจะใช้การสร้างสถานการณ์ให้เกิดความกลัว หรือได้รับผลประโยชน์บางอย่าง จนหลงเชื่อทำตามและบอกข้อมูลส่วนบุคคลไป

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังการเปิดรับข้อมูลจากแหล่งที่ไม่มั่นใจ และรู้ทันกลโกงของมิจฉาชีพ สามารถสังเกตจากถ้าได้รับอีเมลควรเป็นชื่อที่รู้จักหรือติดต่อไว้เท่านั้น หากระบุให้คลิ๊กลิงค์หรือเปิดไฟล์ต้องแน่ใจว่าไม่มีความผิดปกติ เมื่อนำเมาส์ไปชี้ที่ลิงค์ URL จะต้องมี URL ที่ตรงกันกับหน่วยงานที่ติดต่อเท่านั้น อีกทั้ง การเข้าใช้งานในเว็บไซต์ควรพิมพ์ URL โดยตรงจะปลอดภัยกว่าการเข้าใช้งานผ่านลิ้งค์