“สัญญาเช่าซื้อรถ” ผู้บริโภค-ผู้ประกอบการ ได้ประโยชน์ทั้งคู่

02 พ.ย. 2565 | 10:02 น.

สคบ. ประกาศ “สัญญาเช่าซื้อรถ” ทั้ง รถยนต์และรถจักรยานยนต์ใหม่ ผู้บริโภค-ผู้ประกอบการ ได้ประโยชน์ทั้งคู่ พร้อมเปิดช่องการทบทวนความเหมาะสมข้อกฎหมายทุก ๆ 3 ปี

นายกิตติ อึ้งมณีกรณ์ ผู้อำนวยการส่วนประสานและส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยในงาน The BIG Issue 2022 คุมสัญญาเช่าซื้อลิสซิ่งสะเทือน เรื่อง “สคบ. คุมสัญญาเช่าซื้อ ผู้บริโภคได้หรือเสีย” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ โดยระบุว่า

 

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 ที่ออกมาจะเป็นประโยชน์ทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์

 

ทั้งนี้ยืนยันว่า ที่ผ่านมา สคบ.ได้มีฐานการคิดโดยศึกษาข้อมูลมาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องของต้นทุนด้านต่าง ๆ เช่น ต้นทุนการดำเนินการ ต้นทุนดอกเบี้ย ต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมไปถึงจุดคุ้มทุน ค่าคอมมิชชั่น และต้นทุนของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อนจะมีการประกาศกฎหมายออกมา เพื่อดูแลธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์

สำหรับสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์มีด้วยกันหลายกรณี ดังนี้

 

1. การได้รับส่วนลดการปิดบัญชีก่อนกำหนด ของผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ คือ 

  • ถ้าจ่ายมาแล้วไม่เกิน 1 ใน 3 จะได้รับส่วนลดไม่น้อยกว่า 60% 
  • ถ้าจ่ายมาแล้วเกิน 1 ใน 3 แต่ไม่เกิน 2 ใน 3 จะได้รับส่วนลดไม่น้อยกว่า 70%
  • ถ้าจ่ายมาแล้วเกิน 2 ใน 3 จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยทั้งหมด 

 

 2. ลดอัตราค่าเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้

 

ประกาศฉบับนี้จะไม่คอยซ้ำเติมภาระให้กับผู้บริโภคมากเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการผ่อนชำระในวงดต่อ ๆ ไป จึงได้ปรับอัตราค่าเบี้ยปรับให้เรียกเก็บได้ไม่เกิน 5% ต่อปีจากยอดเงินที่ผิดนัดชำระ ลดลงจากประกาศฉบับเดิมเมื่อปี 2561 กำหนดไว้สูงสุดไม่เกิน 15% ต่อปี

3. การยกเว้นดอกเบี้ยเช่าซื้อในกรณีบอกเลิกสัญญา

 

โดยยกเว้นไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระทั้งหมด หลังจากที่บอกเลิกสัญญา กรณีการคืนรถที่มีการบอกเลิกสัญญา ยังให้สิทธิผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันหาเงินมาปิดบัญชี และได้สิทธิประโยชน์ในส่วนลดการปิดบัญชีก่อนกำหนดด้วย 

 

ขณะเดียวกันยังเปิดช่องหู้บริโภคที่ทำสัญญาเช่าซื้อ สามารถให้ผู้ค้ำประกัน หรือบุคคลที่สามจ่ายเงินปิดบัญชี เพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาทในอนาคตได้ด้วย

 

ส่วนกรณีที่ผู้บริโภคไม่สามารถปิดบัญชีได้จนทำให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องการนำรถออกประมูลหรือขายทอดตลาด ประกาศฉบับนี้ยังกำหนดว่า เมื่อประมูลขายแล้วมีเงินรวมกับเงินที่ผู้บริโภคผ่อนมาในอดีตแล้วเกินกว่าสัญญา หรือท่วมกว่าสัญญา ต้องคืนเงินให้ผู้บริโภค 
แต่ถ้ากรณีมีเงินไม่ครบตามสัญญาผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงิน แต่ก็มีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากขึ้น คือ ผู้ให้เช่าซื้อต้องไม่เก็บดอกเบี้ยของงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ เพื่อให้ผู้บริโภครับภาระน้อยลง

 

4. การขอเปลี่ยนบุคคลในสัญญาเช่าซื้อ

 

ประกาศฉบับนี้ก็ช่วยลดภาระให้กับผู้บริโภคที่ต้องการเปลี่ยนให้บุคคลอื่นมาถือสัญญาเช่าซื้อแทน โดยที่ผ่านมามีการคิดค่าเปลี่ยนสัญญาจากผู้ประกอบธุรกิจค่อนข้างสูง และไม่มีเกณฑ์กำหนดอัตราเอาไว้อย่างชัดเจน ก็ให้คิดค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 2,500 บาทต่อครั้ง

 

นายกิตติ กล่าวว่า ประกาศที่ออกมายังมีการเปิดช่องเอาไว้ในทุก ๆ 3 ปี จะมีการทบทวนความเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องของการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเอาไว้ เพื่อให้เหมาะสมและยืดหยุ่นเข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจ และสภาพธุรกิจในขณะนั้นที่เปลี่ยนแปลงไป 

 

“ประกาศฉบับนี้นอกจากจะช่วยผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อด้วย เพราะเมื่อประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในปีหน้า ผู้ประกอบธุรกิจจะมีความเสี่ยงน้อยลง เพราะลูกค้าที่มาเป็นคู่สัญญาจะมีคุณภาพ ลดปัญหาผู้บริโภคที่ไม่พร้อมมาซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์แล้วเกิดปัญหาทีหลังด้วย”