BEM จ่อเซ็นสัญญา สร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.39 แสนล้าน

19 ต.ค. 2565 | 12:55 น.

28 พ.ย.นี้ BEM เล็งลงนามสัญญา ดึงช.การช่าง ติดตั้งระบบ-ตอกเสาเข็มสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.39 แสนล้านบาท เผยผลตอบแทนพันธมิตรผู้รับเหมาแตะ 1.09 แสนล้านบาท

รายงานข่าวจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ (BEM) เปิดเผยว่า สำหรับมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 5/2565 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 17 ต.ค.65 ให้กำหนดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 28 พ.ย.65 เพื่อพิจารณาเข้าทำสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบาง ขุนนนท์-มีนบุรี  (สุวินทวงศ์) มูลค่าโครงการ 139,127 ล้านบาท กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ

 

ทั้งนี้ บริษัทกำหนดให้วันที่ 31 ต.ค.65 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อสิทธิเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XM หรือวันที่ไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 28 ต.ค.65)

 

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีมูลค่าการลงทุน 139,127 ล้านบาทประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1) มูลค่างานการออกแบบและก่อสร้างงานโยธาและดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้าง จำนวน 95,432 ล้านบาท และ 2)มูลค่างานจัดหาระบบรถไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการให้บริการการเดินรถไฟฟ้า จำนวน 43,695 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอร่วมลงทุนของ BEM ที่เสนอต่อ รฟม.

นอกจากนี้ได้พิจารณาว่าจ้าง บมจ.ช.การช่าง (CK) ในลักษณะจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Lump Sum Turnkey) เป็นผู้บริหารและก่อสร้างงานโยธา ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (ไม่รวมการว่าจ้างที่ปรึกษารฟม.) มีค่าตอบแทน 82,502 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และเป็นผู้ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบอุปกรณ์งานระบบ และทดลองเดินรถไฟฟ้า ช่วงตะวันออกและตะวันตก มีค่าตอบแทน 26,714 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งนี้ภายหลังจากบริษัทได้เข้าทำสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มกับ รฟม.

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์– มีนบุรี ซึ่งโครงการนี้มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทางรวม 35.9 กม.จำนวน 28 สถานี โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

  1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออก มีระยะทาง 22.5 กม. จำนวน 17 สถานีตั้งแต่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จนถึงสถานีสุวินทวงศ์ โดยเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี
  2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก มีระยะทาง 13.4 กม.จำนวน 11 สถานีตั้งแต่สถานีบางขุนนนท์จนถึงสถานี ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยเป็นสถานีใต้ดินทั้งหมด

ส่วนระยะเวลาของโครงการ 33 ปี 6 เดือน แบ่งระยะเวลาดำเนินการเป็น 2 ระยะ

 

ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้างงานโยธาและการจัดหาระบบรถไฟฟ้า

  1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออกระยะเวลา 3 ปี 6 เดือนนับจากวันที่ รฟม.ระบุในหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน
  2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตกระยะเวลา 6 ปี นับจากวันที่ รฟม. ระบุในหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน

 

ระยะที่ 2 การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและบำรุงรักษา ระยะเวลา 30 ปีนับจากวันที่เริ่มการบริการที่ก่อให้เกิดรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออก

 

ในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริษัทจะมีแหล่งรายได้หลักจาก 2 ส่วน ได้แก่ (1) รายได้จากการจัดเก็บค่าโดยสาร และ (2) รายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์

 

นอกจากนี้ รฟม.จะรับผิดชอบจ่ายค่างานโยธาช่วงตะวันตก และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างโดยแบ่งชำระเป็นรายปีตามที่ได้มีการจ่ายจริงจากการดำเนินงานก่อสร้างเป็นระยะเวลา 6 ปี เริ่มตั้งแต่ปีที่3 ถึงปี ที่ 8 นับจากวันที่ รฟม. ระบุในหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน

 

ขณะเดียวกันบริษัทมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่รฟม.โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 การจ่ายเงินตอบแทนคงที่ให้ รฟม. ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอร่วมลงทุนของบริษัทที่เสนอต่อ รฟม.และส่วนที่ 2 การจ่ายผลตอบแทนผันแปร เมื่อบริษัทมีผลตอบแทนการลงทุน (Equity Internal Rate of Return หรือ “Equity IRR”) จากการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เกินกว่าร้อยละ 9.75 การเข้าทำสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะทำให้เพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และขยายโครงข่ายของระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าที่บริษัทบริหารอยู่ในปัจจุบันให้ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการที่มากขึ้น และเพิ่มจำนวนผู้โดยสารและรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าภายใต้สัมปทานของบริษัท

 

อย่างไรก็ตามบริษัทคาดว่าจะใช้แหล่งเงินทุนจากภายนอก โดยการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน หรือการออกหุ้นกู้หรือการใช้แหล่งเงินทุนภายในจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน รวมถึงเงินสนับสนุนที่ได้รับจาก รฟม. สำหรับงานโยธาช่วงตะวันตก