ไฟเขียวเปิดโควตานำเข้า "กาแฟ" เพิ่มเติม 200 ตัน ตามกรอบ WTO

13 ตุลาคม 2565

คณะกรรมการนโยบาย และแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ไฟเขียวเปิดโควตานำเข้า "กาแฟ" เพิ่มเติม 200 ตัน กรอบ WTO ตามที่สมาคมกาแฟร้องขอ อ้าง” รง.แปรรูป-โรงคั่วกาแฟ” นำเข้ามาเพิ่มความหลากหลายในกลิ่น รสของกาแฟให้สอดรับกับความนิยมของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการทบทวนประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ การส่งออกกาแฟที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ (วก.) และการรกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอนุญาตให้นำเข้ากาแฟจาก ประเทศที่ไม่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)

 

แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าสมาคมกาแฟไทย เสนอขอให้คณะอนุกรรมการพืชสวน พิจารณาทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกกาแฟ เพื่อเป็นการสนับสนุนการส่งออกกาแฟคั่วที่นำเข้าจากเมล็ดกาแฟไทยและที่ผสมเมล็ดกาแฟจากแหล่งปลูกประเทศอื่น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการโรงคั่วได้นำเสนอสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศด้วยรสชาติที่ตลาดยอมรับ ซึ่งจะเป็นการสร้างอัตลักษณ์กาแฟไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ

 

ไฟเขียวเปิดโควตานำเข้า "กาแฟ"  เพิ่มเติม 200 ตัน ตามกรอบ WTO

 

เนื่องจากปัจจุบันกาแฟคั่วที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ซึ่งในการประชุมคณะอนุกรรมการพืชสวน ครั้งที่ 3/2563 มอบหมายกรมการค้าต่างประเทศพิจารณาตามข้อเสนอของสมาคมกาแฟไทย โดยมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

1 ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งกาแฟออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2551 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

 

1.1 กำหนดให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

 

1.2 กำหนดให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามข้อบังคับของICO ซึ่งออกโดยกรมการค้าต่างประเทศในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แต่ไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์กาแฟซึ่งผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ

 

2 ระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ส่งกาแฟออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2551 กรณีการส่งออกกาแฟที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ (เอกสารแนบ 10)

 

2.1 ให้ส่งออกได้เฉพาะกรณีที่ได้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟเท่านั้น

 

2.2 ผู้ส่งออกต้องทำสัญญาการนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบและการรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบภายในประเทศสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟเพื่อส่งออกให้ไว้ต่อกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแบบที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด

 

2.3 จะพิจารณาอนุญาตให้ส่งออกได้ไม่เกินปริมาณการผลิตรวมของผลิตภัณฑ์กาแฟเพื่อการส่งออกแต่ละรายการตามที่ระบุไว้ในสัญญาการนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบและการรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบภายในประเทศสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟเพื่อส่งออก

 

ทั้งนี้ การดำเนินการให้คณะอนุกรรมการพืชสวน ในคราวประชุม ครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563มีมติเห็นชอบแนวทางการทบทวนประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งกาแฟออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถส่งออกเมล็ดกาแฟคั่วที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบนำเข้าได้ตามที่กรมการค้าต่างประเทศเสนอพร้อมข้อคิดเห็นของคณะทำงานพืชกาแฟ สรุปได้ ดังนี้

 

1.ปรับแก้ไขประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ใน 2 ประเด็น (1) การเพิ่มคำนิยาม “เมล็ดกาแฟคั่ว” ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ (2) การยกเว้นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามข้อบังคับขององค์การกาแฟระหว่างประเทศ(International Coffee Organization : ICO) สำหรับการส่งออกเมล็ดกาแฟคั่วที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ หรือการส่งออกเมล็ดกาแฟคั่วที่ผสมระหว่างเมล็ดกาแฟดิบในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ

 

2.ปรับแก้ไขระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ส่งกาแฟออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ให้ครอบคลุมการอนุญาตส่งออกเมล็ดกาแฟคั่วที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ และเมล็ดกาแฟคั่วที่ผสมระหว่างเมล็ดกาแฟดิบในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยผู้ส่งออกต้องทำสัญญาการนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบและการรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบภายในประเทศเช่นเดียวกับการอนุญาตส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบนำเข้าจากต่างประเทศ

 

สรุปคณะอนุกรรมการพืชสวน ในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 มีมติ

 

1) เห็นชอบการทบทวนประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกกาแฟที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ ตามที่กรมการค้าต่างประเทศเสนอ โดยอนุญาตให้ส่งออกได้ในกรณีที่ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟ เมล็ดกาแฟคั่ว และเมล็ดกาแฟคั่วที่ผสมระหว่างเมล็ดกาแฟดิบในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ และเห็นควรให้ปรับแก้ไขระเบียบกระทรวงพาณิชย์ฯ โดยให้แสดงเอกสารหลักฐานการรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบในประเทศแทนการทำสัญญารับซื้อฯ ไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของปริมาณที่คณะอนุกรรมการพืชสวนเห็นชอบให้นำเข้า หรือตามปริมาณที่มีการนำเข้าจริง

 

2) ให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อรับทราบก่อนแจ้งกรมการค้าต่างประเทศดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

 

การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอนุญาตให้นำเข้ากาแฟจากประเทศที่ไม่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)ตามข้อสังเกตของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้การนำเข้าเป็นไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์การผลิต และการตลาด รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมภายในประเทศเนื่องจากกาแฟ เป็นสินค้าอ่อนไหวและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายฯประกอบกับภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟจากประเทศนอกความตกลงที่มิใช่สมาชิก WTO มีอัตราร้อยละ 40 ซึ่งต่ำกว่าภาษีนำเข้านอกโควตาความตกลง WTO ที่มีอัตราร้อยละ 90 จึงอาจส่งผลให้มีการนำเข้าเมล็ดกาแฟเข้ามาเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมภายในประเทศได้การพิจารณาอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศนอกความตกลงที่ไม่เป็นสมาชิก WTO

 

 โดยมอบให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาเพียงหน่วยงานเดียวอาจทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณการนำเข้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการพืชสวน ได้มอบหมายสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาในการอนุญาตให้นำเข้าเมล็ดกาแฟจากประเทศที่ไม่เป็นสมาชิก WTO พร้อมแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอนุญาตนำเข้า และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการพืชสวนพิจารณาอีกครั้ง

 

สศก. ได้ประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 เพื่อพิจารณาการอนุญาตให้นำเข้ากาแฟจากประเทศที่ไม่เป็นสมาชิก WTO ซึ่งที่ประชุมฯ เห็นควรอนุญาตให้มีการนำเข้าเฉพาะเมล็ดกาแฟดิบจากประเทศเอธิโอเปีย และประเทศติมอร์-เลสเต ก่อนในเบื้องต้น โดยกำหนดปริมาณไม่เกิน 100 ตัน/ปี ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมในประเทศ โดยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอนุญาต

 

2.1.1 ใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจัดสรรโควตาเมล็ดกาแฟตามความตกลง WTO ตามแนวทางปัจจุบันของกรมการค้าต่างประเทศ โดยผู้ยื่นขอนำเข้าจะต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจแปรรูปกาแฟ

 

2.2.2 ผู้นำเข้าต้องแสดงเอกสารหลักฐานการรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบในประเทศไม่น้อยกว่าปริมาณที่ยื่นขอรับการจัดสรรปริมาณที่จะอนุญาตให้นำเข้า ในอัตราส่วน 1 : 1 ทั้งนี้ จะต้องไม่ใช้เอกสารหลักฐานดังกล่าวซ้ำซ้อนกับการขอใช้สิทธินำเข้าหรือส่งออกตามความตกลงอื่น ๆ และหลักฐานการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟภายในประเทศ (หากมี)

 

 

ตามที่คณะทำงานพืชกาแฟมีมติเพิ่มเติมในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้

 

1.ให้ผู้ประกอบการรับรองหลักฐานการรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบในประเทศไม่น้อยกว่าปริมาณที่ยื่นขอรับการจัดสรร (1 : 1) ด้วยตนเองตามแบบฟอร์มที่ คต. กำหนด

 

2. ให้ผู้ประกอบการแสดงหลักฐานการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างใดอย่างหนึ่งประกอบการพิจารณา (1) การสนับสนุนการวิจัย การผลิต การแปรรูป และ (2) การส่งเสริมและให้ความรู้การผลิตกับเกษตรกร

 

3. หลักฐานการรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบต้องไม่เป็นเอกสารชุดเดียวกับที่ยื่นขอนำเข้ากาแฟภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)

 

4. เห็นชอบให้ คต. แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ผู้ประกอบการยื่นประกอบการพิจารณา

 

ไฟเขียวเปิดโควตานำเข้า "กาแฟ"  เพิ่มเติม 200 ตัน ตามกรอบ WTO

 

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจัดสรรปริมาณการนำเข้าเมล็ดกาแฟในโควตาตามความตกลง WTO ในปัจจุบันของกรมการค้าต่างประเทศ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

 

3.1 การจัดสรร : จัดสรรให้ตามปริมาณที่ยื่นขอ ในกรณีปริมาณที่ยื่นขอรวมเกินกว่าปริมาณที่จะจัดสรร จะจัดสรรตามสัดส่วนปริมาณที่ยื่นขอทั้งในการจัดสรรครั้งที่ 1 -3

 

3.2 การแจ้งคืนโควตา : ให้ผู้ได้รับการจัดสรรที่ไม่นำเข้าหรือนำเข้าเพียงบางส่วน แจ้งคืนโควตาที่ไม่นำเข้า โดยจะนำปริมาณที่แจ้งคืนมาจัดสรรให้ผู้ประสงค์จะขอรับการจัดสรรต่อไป 2 – 3 ครั้งต่อปี (แล้วแต่กรณี) กรณีแจ้งคืนภายหลังการจัดสรรครั้งที่ 3 ซึ่งจะไม่สามารถนำปริมาณที่แจ้งคืนมาจัดสรรได้ ต้องแจ้งเหตุผลความจำเป็น ดังนี้ (1) ปริมาณที่ได้รับการจัดสรรน้อยเกินกว่าที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงการค้า (2) ถูกปฏิเสธคำสั่งซื้อ (3) เหตุสุดวิสัย และ (4) เหตุผลทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

 

ไฟเขียวเปิดโควตานำเข้า "กาแฟ"  เพิ่มเติม 200 ตัน ตามกรอบ WTO

 

ข้อกำหนด

3.1 ห้ามมิให้ผู้ได้รับการจัดสรรโอนสิทธิที่ได้รับจัดสรรให้แก่ผู้อื่น หากฝ่าฝืนจะถูกระงับการจัดสรรโควตาในปีถัดไป

 

3.3.2 ผู้ได้รับการจัดสรรที่ไม่นำเข้าและไม่แจ้งคืนปริมาณที่ไม่นำเข้าจะถูกระงับการจัดสรรโควตาในปีถัดไป

 

3.3.3 ผู้ได้รับการจัดสรรที่ใช้ปริมาณโควตาที่ได้รับจัดสรรไม่ถึงร้อยละ 95 จะนำปริมาณที่ใช้ไม่ถึงไปหักลบปริมาณโควตาที่ได้รับการจัดสรรในปีถัดไป

 

3.3.4 ผู้ได้รับการจัดสรรที่ไม่นำเข้าหรือนำเข้าเพียงบางส่วนที่แจ้งคืนภายหลังจากการจัดสรรครั้งที่ 3 โดยอ้างเหตุผลความจำเป็นทางเศรษฐกิจติดต่อกัน 2 ครั้ง จะถูกระงับการได้รับจัดสรรในปีถัดไป

 

3.3.5 ต้องรายงานการนำเข้าภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นำเข้าสินค้าในแต่ละครั้งผ่านระบบ e-Report ของกรมการค้าต่างประเทศ หากไม่รายงานภายในระยะเวลาที่กำหนดจะถูกระงับการออกหนังสือรับรองจนกว่าจะรายงานการนำเข้าครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์