ดาวโจนส์ปิดบวกกรอบแคบ 36.31 จุด กังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย

11 ต.ค. 2565 | 23:33 น.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยในวันอังคาร (11 ต.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบ ตลาดได้รับแรงกดดันจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ส่งสัญญาณยุติการพยุงตลาดพันธบัตร

 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,239.19 จุด เพิ่มขึ้น 36.31 จุด หรือ +0.12%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,588.84 จุด ลดลง 23.55 จุด หรือ -0.65% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,426.19 จุด ลดลง 115.91 จุด หรือ -1.10%
         

นายแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการ BoE สั่งการให้บรรดาผู้จัดการกองทุนบำนาญเร่งปรับงบดุลบัญชีให้กลับมามีความสมดุลภายในวันศุกร์นี้ (14 ต.ค.) ซึ่งเป็นวันที่ BoE จะยุติโครงการสนับสนุนตลาดพันธบัตร
         

คำสั่งดังกล่าวของนายเบลีย์มีขึ้นหลังจาก BoE เข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรอีกครั้งเมื่อวานนี้ โดยประกาศขยายการดำเนินการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินให้ครอบคลุมพันธบัตรที่อ้างอิงกับดัชนี (Index-Linked Gilt) ตั้งแต่วันที่ 11-14 ต.ค. ทั้งนี้ พันธบัตรที่อ้างอิงกับดัชนีหมายถึงพันธบัตรที่จ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือครองพันธบัตรโดยอิงกับดัชนีราคาค้าปลีกของอังกฤษ
         

 

แรนดี้ เฟรเดริค นักวิเคราะห์จากบริษัทชาร์ลส์ ชวาบ กล่าวว่า ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวลงหลังจาก BoE ส่งสัญญาณว่าจะยุติการพยุงตลาดพันธบัตรภายใน 3 วันนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้สมาคมบำนาญและการออมของอังกฤษได้เรียกร้องให้ BoE ขยายเวลาโครงการรับซื้อพันธบัตรออกไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.ก็ตาม

 

ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจาก IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 สู่ระดับ 2.7% จากเดิมที่ระดับ 2.9% โดยระบุว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ได้แก่ การที่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครน วิกฤตค่าครองชีพ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และนิเวศวิทยา
         

นอกจากนี้ IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้และปีหน้า สู่ระดับ 1.6% และ 1% ตามลำดับ โดยได้รับผลกระทบจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พร้อมกับปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้และปีหน้า สู่ระดับ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับ โดยถูกกระทบจากการที่จีนใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด และวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์
         

นักลงทุนจับตาการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสัปดาห์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าผลประกอบการจะชะลอตัวในไตรมาส 3 โดยได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ การพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Refinitiv Data ระบุว่า บริษัทในดัชนี S&P 500 มีผลประกอบการเพิ่มขึ้นเพียง 4.1% ในไตรมาส 3 โดยลดลงจากระดับ 11.1% ที่มีการคาดการณ์ในช่วงต้นเดือนก.ค.
         

นอกจากนี้  นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ย.ของสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะปรับตัวขึ้น 8.1% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 8.3% ในเดือนส.ค.
         

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานนั้น นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6.5% โดยสูงกว่าระดับ 6.3% ในเดือนส.ค.