BTS อุทธรณ์ต่อ ฟันเจ้าพนักงานรัฐปมรื้อเกณฑ์ “สายสีส้ม”

29 ก.ย. 2565 | 07:29 น.

BTS อุทธรณ์ต่อ ฟันผู้ว่า รฟม.-คณะกรรมการ ม.36 รื้อเกณฑ์ทีโออาร์ หลัง “ศาลอาญาคดีทุจริตฯ” พิพากษายกฟ้องปม เปลี่ยน แปลงหลักเกณฑ์ประมูลสายสีส้ม               

 

กรณีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBTSC ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางปมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ทั้ง 7 คน

 

 

แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอใหม่ โดยให้พิจารณาคะแนนด้านเทคนิคและการลงทุนและผลตอบแทนร่วมกัน โดยกำหนดสัดส่วนการให้คะแนนด้านเทคนิคเป็นร้อยละ 30 คะแนน ด้านการลงทุนและผลตอบแทนเป็นร้อยละ 70 คะแนน ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

 

 

ล่าสุดศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอ่านคำพิพากษาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นได้พิจารณายกฟ้องคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักในหลายประเด็น อาทิ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่โจทก์รับทราบในเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารประกาศประกวดราคา (RFP)

 

ที่ รฟม.ระบุถึงข้อสงวนสิทธิแก้ไขรายละเอียด RFP รวมทั้งสามารถขยายวันรับข้อเสนอได้ โดยโจทก์ได้เข้าซื้อซองเอกสาร RFP โดยไม่ได้มีข้อโต้แย้งใดๆ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทราบดีถึงข้อกำหนดในการสงวนสิทธิปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยศาลฯให้สิทธิทางโจทย์สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทได้รับทราบจากทีมทนายกฎหมายว่าภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตฯ

 

มีคำพิพากษายกฟ้องนั้น ยังมีหลายประเด็นที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯไม่ได้อ่านคำพิพากษา เบื้องต้นบริษัทจะขอคัดคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์เพื่อนำรายละเอียดปรึกษาหารือร่วมกับทีมกฎหมายในการยื่นอุทธรณ์ต่อไป

              

“ส่วนประเด็นที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯอ่านคำพิพากษากรณีที่รฟม.มีการสงวนสิทธิเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในเอกสารประกาศประกวดราคา (RFP)ของโครงการฯ โดบบริษัทยอมรับเงื่อนไขการประมูลในครั้งแรก เป็นเหตุให้ศาลฯยกฟ้องนั้น เบื้องต้นบริษัทขอพิจารณารายละเอียดคำพิพากษาทั้งฉบับก่อนว่าเป็นอย่างไร ถึงแม้ฝ่ายนั้นจะขอสงวนสิทธิแล้ว แต่ที่ผ่านมาคำสั่งของศาลปกครองพิจารณาเห็นว่าสามารถทำได้ แต่ต้องมีเหตุผลเพียงพอ”

              

นายธงชัย ทองเศรษฐ หัวหน้าคณะทนายความ ผู้ดูแลคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศาลอาญาคดีทุจริตฯ

 

มีการพิจารณาประเด็นหลายเรื่องอย่างละเอียด โดยทีมกฎหมายของบริษัทจะต้องนำข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายบางประเด็นไปพิจารณาด้วย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบในการดำเนินการ

              

“ทางฝ่ายบริษัทยังเชื่อมั่นในพยานและหลักฐานที่นำเสนอต่อศาล หลังจากศาลฯมีคำสั่งพิพากษายกคำฟ้องคดีฯแล้ว ทางคณะทำงานคงใช้สิทธิในการพิจารณาเพื่อหารือทั้งคดีดังกล่าวและเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่อไป”

              

สำหรับสาเหตุการยกฟ้องคดีในครั้งนี้ เนื่องจากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 สามารถกระทำได้โดยชอบ

              

นายธงชัย กล่าวต่อว่า การรับฟังคำพิพากษาในครั้งนี้เป็นเพียงร่างเอกสารเท่านั้น หลังจากนี้ภายใน 10 วันทำการ ทีมกฎหมายของบริษัทจะได้รับคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์ โดยทีมกฎหมายและบริษัทรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาในสิ่งที่ควรเรียกร้องและควรดำเนินการต่อไป

              

ขณะเดียวกันทางบริษัทมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯภายในระยะเวลา 30 วัน แต่เนื่องจากคำพิพากษาของศาลในครั้งนี้มีรายละเอียดข้อกฎหมายภายในเอกสารค่อนข้างมาก คาดว่าจะขอใช้สิทธิขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามเวลาที่สมควร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาข้อเท็จจริงของพยานและเอกสาร รวมทั้งข้อกฎหมาย ที่มีรายละเอียดค่อนข้างมากด้วย

              

“สิ่งใดที่เราโต้แย้งเพื่อขอความเป็นธรรมได้ก็ต้องดำเนินการ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์แก่ประเทศชาติ ในฐานะบริษัทที่เป็นเอกชนยึดการทำงานด้านนี้ด้วยหลักธรรมาภิบาล มาโดยตลอด” นายธงชัย กล่าว