“ฐาปน” นำทัพไทยเบฟ ผงาดผู้นำธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มอาเซียน

27 ก.ย. 2565 | 09:25 น.

“ไทยเบฟ” สยายปีกลงทุนกลุ่มแอลกอฮอล์-นอนแอลกอฮอล์ ผงาดผู้นำธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มอาเซียน หลังโชว์ผลงาน 9 เดือนโกยรายได้ทะลุ 2 แสนล้าน กำไรเฉียด 4 หมื่นล้าน เติบโต 8.2% สวนทางเศรษฐกิจ

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ ประกาศกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน พร้อมทั้งโครงการและเป้าหมายที่ชัดเจนด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาธิบาล ซึ่งรวมถึงการตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2583 ขณะที่ด้านธุรกิจยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจทั้งในไทยและภูมิภาค เพื่อเป้าหมายการเป็นเบอร์ 1 ในตลาดอาหารและเครื่องดื่มของอาเซียน

 

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ  เปิดเผยว่า  ไทยเบฟมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งแม้ต้องเผชิญกับความท้าทายจากโควิด-19 โดยในปีนี้ ประเทศไทยและเวียดนามซึ่งเป็นตลาดหลักทั้ง 2 แห่ง ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ซึ่งรวมถึงข้อจำกัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศและมาตรการทางสังคม

 

นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ผู้บริโภคกลับมารับประทานอาหารภายในร้านได้ตามเดิม ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และการบริโภคกลับมาฟื้นตัว โดยปัจจัยดังกล่าวช่วยให้รายได้และกำไรของกลุ่มเติบโตขึ้นเห็นจากผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรก ซึ่งมีรายได้รวม 207,922 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 8.2% มีกำไร 39,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

“ฐาปน” นำทัพไทยเบฟ ผงาดผู้นำธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มอาเซียน

ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับโครงสร้างการบริหารโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สุรา เบียร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าได้ในช่วงที่มีการใช้มาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ไทยเบฟได้ปรับวิธีการดำเนินงานอย่างรวดเร็วและใช้มาตรการควบคุมต้นทุนเพื่อลดผลกระทบจากการปิดร้านอาหารและสถานบันเทิงชั่วคราวที่ส่งผลต่อการบริโภค

 

สายธุรกิจต่างๆ ของกลุ่มได้มุ่งเน้นใช้ทรัพยากรเพื่อเพิ่มมูลค่าของตราสินค้าในพื้นที่ขายด้วยการจัดกิจกรรมโฆษณาและส่งเสริมการขายให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนาส่วนประสมของผลิตภัณฑ์ และดำเนินแผนการปฏิบัติงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

หลังจากประเทศไทยและเวียดนามยกเลิกข้อจำกัดด้านสังคมและการเดินทางระหว่างประเทศ กิจกรรมทางสังคมก็เริ่มฟื้นตัว ประชาชนในประเทศและนักท่องเที่ยวกลับมารับประทานอาหารในร้านและพบปะสังสรรค์กันอีกครั้ง โดยปริมาณขายของกลุ่มเพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 นอกจากนี้ การรับประทานอาหารในร้านอาหารภายใต้กลุ่มธุรกิจอาหารของเราก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

“ฐาปน” นำทัพไทยเบฟ ผงาดผู้นำธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มอาเซียน

“ถือว่ารายได้จากการขายในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้สูงกว่าตัวเลขในช่วงเดียวกันของสามปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ของตลาดกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและการบริหารตราสินค้าของเราประสบความสำเร็จ”

 

ด้านนายประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา กล่าวว่า ในปีนี้ภาพรวมของกลุ่มธุรกิจสุราในประเทศยังคงมีความแข็งแกร่ง และสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้ดี โดยรวงข้าวยังคงเป็นสุราขาวอันดับหนึ่ง ควบคู่กับหงส์ทอง สุราสีอันดับหนึ่งของประเทศไทย

 

หากดูผลการวิจัยช่วง 12 เดือนย้อนหลัง แสงโสมสามารถเติบโต 9%  เนื่องจากความแข็งแรงของตราสินค้า ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในประเทศไทยฟื้นตัว ซึ่งมีส่วนช่วยให้ตลาดสุรา โดยเฉพาะสุราสีในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้น ในส่วนของธุรกิจในประเทศเมียนมา แม้ว่าสถานการณ์ในเมียนมาช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะมีความท้าทาย แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป ยังมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและสามารถครองตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งในเมียนมาไว้ได้ รวมถึงมีเสถียรภาพของกระแสเงินสดที่ดี

 

นายไมเคิล ไชน์ ฮิน ฟา ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า ผลประกอบการของธุรกิจเบียร์มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม โดยรายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจเบียร์เพิ่มขึ้น 15.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 92,573 ล้านบาท มีกำไร 13,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.5%  ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขายและส่วนประสมของผลิตภัณฑ์ที่เอื้ออำนวย รวมถึงการขึ้นราคาและมาตรการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ฐาปน” นำทัพไทยเบฟ ผงาดผู้นำธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มอาเซียน

นายเลสเตอร์ ตัน เต็ก ชวน ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจเบียร์ในประเทศไทย มีผลประกอบการดีขึ้น เนื่องจากการบริโภคในร้านและกิจกรรมการตลาด เช่น คอนเสิร์ตและอีเวนต์ต่างๆ ได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง โดยธุรกิจเบียร์ในไทยยังมีอัตรากำไรเพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา

 

ท่ามกลางความพยายามในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มสินค้าระดับ Mass Premium อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดตัว Chang Cold Brew นอกจากนี้เรายังวางแผนอนาคตด้วยการบริหารตลาดแบบเจาะรายพื้นที่ในเชิงรุก และจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถใช้ต้นทุนได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น

 

นายเบนเน็ตต์ เนียว กิม เซียง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซาเบโก้ กล่าวว่า การที่เวียดนามกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งช่วยให้การบริโภคฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้ซาเบโก้มีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและมีอัตรากำไรเพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนด้วยตราสินค้าของซาเบโก้ที่มีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเราทุ่มศักยภาพเพื่อสริมความแข็งแกร่งให้กับ Bia Saigon ในฐานะตราสินค้าที่เป็นความภาคภูมิใจของเวียดนาม

“ฐาปน” นำทัพไทยเบฟ ผงาดผู้นำธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มอาเซียน

ด้วยการเปิดตัว Bia Saigon Lager รุ่นลิมิเต็ดสำหรับเทศกาล Tet ปี 2565 ที่นำจุดเด่นของแต่ละจังหวัดในเวียดนามมาออกแบบเป็นลวดลายกระป๋อง 63 แบบ นอกจากนี้เรายังดำเนินแผนงานซาเบโก้ 4.0 อย่างต่อเนื่องซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในแผนกลยุทธ์หลักของเรา โดยมุ่งเน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานผ่านการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง การลดความซับซ้อน และการสร้างมาตรฐาน

 

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ซาเบโก้ได้ขยายการลงทุนเพื่อสนับสนุนด้านกีฬาและทีมฟุตบอลทีมชาติของเวียดนาม โดยล่าสุด บริษัทเป็นผู้สนับสนุนระดับ Diamond ให้กับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ประจำปี 2565 และได้เปิดตัว Bia Saigon กระป๋องสีทองรุ่นพิเศษสำหรับซีเกมส์โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังเปิดตัว Bia Saigon Special โฉมใหม่ในเดือนเมษายน 2565 โดยปรับรสชาติใหม่และปรับเปลี่ยนโฉมบรรจุภัณฑ์เพื่อให้มีความน่าสนใจตามรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีรายได้จากการขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เป็นจำนวน 12,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน อันเป็นผลจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น 8.4% ท่ามกลางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้น 5.4%  เป็น 1,717 ล้านบาท

 

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า ช่องทางการบริโภคในร้านอาหารกลับมาฟื้นตัว เนื่องจากผู้บริโภคกลับมารับประทานอาหารในร้านกันอีกครั้ง นอกจากนี้ยังเห็นโอกาสและได้ดำเนินการเพื่อจับกระแสของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ เช่น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ZEA Tuna Essence เป็นต้น

 

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจอาหาร ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 38.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 11,990 ล้านบาท เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในร้านอาหาร และการขับเคลื่อนการดำเนินกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความสามารถในการเจาะตลาดและเข้าถึงลูกค้า

 

รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของร้านอาหารในกลุ่มธุรกิจอาหาร ทำให้ธุรกิจมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เป็นจำนวน 1,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104.1%  เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก