รพ.เอกชน แข่งดุ ชูจุดขายศูนย์แพทย์เฉพาะทาง ชิงคนไข้

17 ก.ค. 2565 | 11:50 น.

เทรนด์รักสุขภาพ-สังคมสูงวัยหนุนธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเติบโต กลุ่มทุนปรับทัพวางโพชิชั่นความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง หนีการแข่งขันเดือด พร้อมตั้งรับคนไข้ต่างชาติที่รีเทิร์นกลับมาใช้บริการหลังไทยเปิดประเทศ

ศูนย์วิจัยกรุงศรีระบุว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนโดยภาพรวมมีความมั่นคงและมีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสุขภาพซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้อ่อนไหวต่อความผันผวนของเศรษฐกิจน้อยกว่าธุรกิจบริการอื่นๆ ทั้งยังสามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายไปยังผู้ใช้บริการได้ง่าย โดยโครงสร้างรายได้ของโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่มาจากค่ายาซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดคือ 35.2% ของรายได้ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ รายได้จากบริการทางการแพทย์ 20.0% การวิเคราะห์ผลจากห้องปฏิบัติการและห้องเอ็กซเรย์ 13.7% ห้องพักผู้ป่วย 8.5% และอื่นๆ 22.6%

              

ที่ผ่านมา ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเติบโตต่อเนื่องตามความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นจากผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่งผลให้ผู้ประกอบการขยายการลงทุนอย่างรวดเร็ว โดยโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพเร่งขยายกิจการผ่านการซื้อ/ควบรวม เปิดสาขาใหม่ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดที่เป็นเมืองสำคัญ

รพ.เอกชน แข่งดุ ชูจุดขายศูนย์แพทย์เฉพาะทาง ชิงคนไข้

ขณะที่โรงพยาบาลขนาดกลางและเล็กต่างเร่งปรับตัวไปสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche market)และเน้นกลุ่มคนไข้ในประเทศที่ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพเพื่อเป็นหลักประกันด้านรายได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีการแข่งขันที่เข้มข้นเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ​

 

นายแพทย์ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเครือ บริษัท โมเดอร์นฟอร์ม เฮลท์แอนด์แคร์ จำกัด (มหาชน) “MHC” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เทรนด์การดูแลสุขภาพมาเร็วมาก และมีการเปลี่ยนแปลงบางส่วนโดยโรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลทั่วไปบทบาทจะน้อยลง แต่โรงพยาบาลเฉพาะทางจะมีบทบาทมากขึ้น ทำให้เทรนด์ของการรักษาสุขภาพจะมุ่งไปที่โรงพยาบาลเฉพาะทางมากขึ้น

 

“MHC” เล็งเห็นโอกาสจากการเติบโตของรพ.เฉพาะทาง บวกกับปัจจุบันการเข้าถึงบริการทางด้านมะเร็งกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งคือส่วนกลางหรือกรุงเทพฯทำให้คนที่จะเข้าถึงการรักษาลำบากเพราะจะต้องไปต่อคิวที่โรงพยาบาลรัฐบาลยิ่งรอคอยการรักษานานมะเร็งยิ่งโตขึ้น กระบวนการรักษาก็จะซับซ้อนและมีผลข้างเคียงที่เยอะขึ้นและโอกาสหายลดลง

รพ.เอกชน แข่งดุ ชูจุดขายศูนย์แพทย์เฉพาะทาง ชิงคนไข้               

“MHC” ตั้ง โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อรองรับลูกค้าในภาคอิสานและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่มีผู้เล่นในตลาด หลังเปิดโควิดซาและเปิดประเทศเชื่อว่าจะมีลูกค้ามาใช้บริการมากขึ้น และในอนาคตเราจะจัดตั้งโรงพยาบาลมะเร็งในหัวเมืองภาคอิสานและภาคเหนือ ซึ่งเป็นโซนที่มีผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุด”

รพ.เอกชน แข่งดุ ชูจุดขายศูนย์แพทย์เฉพาะทาง ชิงคนไข้               

ด้านพญ.ศิเรมอร ทองสิมา รองผู้อำนวยการสายงานแพทย์ โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า รพ.นครธน ปรับเปลี่ยนการให้บริการ โดยพัฒนาการรักษาและบริการจากโรงพยาบาลรักษาโรคทั่วไปสู่การเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีความพร้อมในการรักษาและการบริการโดยบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละวิชาชีพ

 

โดยจะยกระดับศูนย์เดิมที่มีในโรงพยาบาลให้มีความเฉพาะทางมากขึ้น ล่าสุดได้ร่วมมือกับสไมล์ โอเปอเรชั่นส์ ตั้งศูนย์ทันตกรรม ให้บริการแก่ผู้มีปัญหาด้านทันตกรรม และให้การรักษาแบบเฉพาะบุคคล โดยวางแผนร่วมกันกับผู้รับบริการ เพื่อหาโซลูชั่นที่เหมาะสมกับแต่ละคนทำให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

              

รพ.มุ่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับศูนย์ทันตกรรม เพื่อให้เป็นที่รู้จัก หลังจากที่พบว่ามีคนไข้ในย่านพระราม 2 และชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนที่อาศัยในบริเวณนี้มาใช้บริการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีศูนย์เฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นศูนย์มะเร็ง ศูนย์กระดูกสันหลัง ศูนย์สมองและระบบประสาท โดยรพ.จะใช้งบการลงทุนราว 150 ล้านบาท ในการสร้างทีมจัดหาบุคลากรทางการแพทย์และจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มเติมด้วย

              

ขณะที่นายแพทย์สันติ เอื้อนรเศรษฐ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวิมุต สะท้อนมุมมองว่า กล่าวว่า ความเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางเท่าที่เราเห็นช่วงแรกอาจจะเติบโตเร็วแต่มักจะนิ่ง เพราะจำกัดอยู่แค่กลุ่มนั้นเพียงกลุ่มเดียว และหา s-curve ไม่ค่อยเจอ เพราะฉะนั้นมันจะเติบโตในจุดอื่นได้ยาก และไปต่อไม่ได้ ดังนั้นการตั้ง special list โดดๆคงยาก

รพ.เอกชน แข่งดุ ชูจุดขายศูนย์แพทย์เฉพาะทาง ชิงคนไข้

เพราะฉะนั้นวิมุตขอเซตเป็น general ก่อนและเซตบางส่วนเป็น specialized อยู่ข้างในเพื่อให้ครบวงจร ในช่วงแรกโรงพยาบาลโฟกัสไปที่หัวใจ กระดูกและสมอง ขณะเดียวกันเราก็เน้นในกลุ่มที่เป็นโรคเรื้อรังเช่น NCD ทั้งหลาย เพื่อสร้างฐานลูกค้ากลุ่มหนึ่งนี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราเข้าไปถือหุ้นอยู่ในโรงพยาบาลเทพธารินทร์ 51% เพื่อสร้างฐานลูกค้าได้เร็วขึ้น

              

ซึ่งเทพธารินทร์เป็นที่รับรู้อยู่ในวงการอยู่แล้วว่าเก่งในเรื่องของเบาหวาน และต่อมไร้ท่อและเป็นสถาบันซึ่งมีจุดแข็งแรงก็คือ ความเป็น อะคาเดมิก เซ็นเตอร์ และมีพื้นความรู้ที่สามารถใช้ได้เลยทันที เพราะฉะนั้นจึงเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งก็จะเติบโตยากแต่เราสามารถใช้โอกาสในเรื่องของความแข็งแกร่งของเขาในการเสริมจุดอ่อนของโรงพยาบาลเกิดใหม่ได้พอดี นอกจากนี้เราไปโฟกัสในเรื่องของดิจิตอลแพลตฟอร์มเยอะขึ้น โฟกัสแอพพลิเคชั่นวิมุตเยอะขึ้น เพื่อ connect กับคนไข้ได้ตลอดเวลา

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,800 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2565