วอนรัฐแก้กม. ผ่อนมาตรการ พยุง‘ร้านอาหาร’ฟื้นตัว

05 ก.ค. 2565 | 10:17 น.

ผู้ประกอบการร้านอาหาร ชงรัฐผ่อนมาตรการพยุงธุรกิจ หลังเปิดประเทศ ชี้วิกฤตโควิดฉุดธุรกิจเข้าขั้นโคม่า ขณะที่ยกเลิกโซนสี แต่ยังไม่เปิดบริการ 100% ขอผ่อนปรนให้ขายแอลกอฮอล์ช่วงบ่าย 2 ถึง 5 โมงเย็น

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด- 19 ที่สั่งปิดบริการชั่วคราวร้านอาหาร สถานบริการ ผับ บาร์ฯลฯ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการ ทำให้ขาดรายได้ สภาพคล่องและกระทบต่อภาคแรงงาน  ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องรวมตัวกันยื่นหนังสือต่อภาครัฐในฐานะผู้กำกับดูแลเพื่อหาทางออกและฟื้นฟูธุรกิจร่วมกัน

 

จากก่อนหน้าที่ ศบค. มีมติเห็นชอบให้ผ่อนปรนมาตรการทางสาธารณสุข โดยยกเลิกพื้นที่ควบคุม พร้อมปรับโซนพื้นที่สีเขียว สีเหลือง สีฟ้า รวมทั้งผ่อนคลายให้เปิดสถานบริการและสถานบันเทิงได้บางส่วน และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จนถึงเวลาเที่ยงคืนในพื้นที่สีฟ้าและสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 ตามเงื่อนไขที่กำหนด

วอนรัฐแก้กม. ผ่อนมาตรการ พยุง‘ร้านอาหาร’ฟื้นตัว

และนับจากวันที่ 1 ก.ค. 2565  จะไม่มีโซนพื้นที่สีตางๆ โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศ และการอนุญาตให้ธุรกิจสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์กลับมาเปิดได้ตามปกติ รวมไปถึงการอนุญาตให้ร้านอาหารในโรงแรมสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ถือเป็นการปลดล็อกเกือบเต็มรูปแบบ

           

แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการเตรียมยื่นข้อเรียกร้องต่อภาครัฐอีกครั้งในสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นหลัก คือ ยกเลิกห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลา 14.00-17.00 น. ในร้านอาหารทั่วประเทศ และยกเลิกการจัดโซนนิ่งและการห้ามสถานบริการ ผับ บาร์ เปิดให้บริการถึงตี 2 ทั่วประเทศ

 

เพราะแม้ ศบค. จะอนุญาตให้ร้านอาหารในโรงแรมสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในเวลา 14.00-17.00 น. เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทย แต่ก็เป็นเพียงกลุ่มเล็กเท่านั้น ขณะที่ร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากยังไม่ได้รับการอนุญาตให้จำหน่ายได้ โดยนายเสน่ห์ สมศรี นายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือ RGPA (Restaurant and Goods Product Association) กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า

           

การมีกฎหมายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาบ่าย 2-5 โมงเย็นนั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เข้าใจในเหตุผลที่ห้ามขายในช่วงเวลาดังกล่าวว่าเพราะอะไร และการที่ร้านไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ลูกค้าก็ไม่ยอมทานอาหารทำให้เสียโอกาส และเมื่อถูกห้ามผู้บริโภคบางรายก็จะขอสั่งซื้อไว้ก่อนแล้วก็ให้เก็บเงินแล้วนั่งทานอาหารและดื่มต่อไป นอกจากนี้เมื่อไม่ได้ขายสุรา ก็มีผู้บริโภคบางรายนำสุราเข้ามาดื่มเองซึ่งร้านไม่สามารถห้ามได้เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามดื่มในร้าน ซึ่งมันผิดกับธรรมชาติและความเป็นจริง

 

“เราได้ประโยชน์อะไรจากการห้ามขายในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เพราะเราก็ไม่ขายให้กับเด็กอยู่แล้ว เพราะผิดกฎหมาย การห้ามขายนี้ไม่เหมาะกับความเป็นจริง ขัดกับธรรมชาติของผู้บริโภค ควรไปหาวิธีในการควบคุมเรื่องอื่นจะดีกว่า”

 

อย่างไรก็ดี ร้านอาหารและผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาอย่างหนัก จึงอยากขอให้ภาครัฐได้มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจกับธุรกิจบริการร้านอาหาร ก็ขอให้ทบทวนยกเลิกกฎหมายห้ามขายสุราในช่วงเวลาบ่าย 2-5 โมงเย็นออกไป

 

นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร กล่าวว่า หลังวันที่ 1 มิ.ย. ที่ศบค.ผ่อนคลายมาตรการ พบว่าไม่มีคลัสเตอร์ใหม่ที่เกิดขึ้นจากสถานบันเทิงแต่อย่างใด แต่ในทางเศรษฐกิจของภาคการท่องเที่ยวกลางคืนมีการฟื้นตัวขึ้นมาจากเดิมอีกประมาณ 40% ซึ่งหากพิจารณาจะเห็นว่าการฟื้นตัวดังกล่าวมาจากธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เช่นสตรีทฟู้ด การบริการของรถรับจ้างสาธารณะ ร้านค้าต่างๆ และร้านขายของที่ระลึก ทำให้มีการจ้างงานและการหมุนเวียนในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงภาคธุรกิจ ร้านค้า หรือการท่องเที่ยวกลางวันก็พลอยคึกคักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมจะส่งสัญญาณดีขึ้น แต่หากถามว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการในตอนนี้คืออะไร“สง่า” สะท้อนให้ฟังว่า อยากให้สถานบันเทิงกลับมาเปิดได้จนถึงตีสองทุกพื้นที่ เพราะบางพื้นที่แม้จะเป็นสีเขียวแต่จังหวัดยังไม่อนุญาตให้เปิด รวมทั้งยกเลิกเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาบ่าย 2-5 โมงเย็น เพราะเป็นอุปสรรคต่อบรรยากาศและการประกอบธุรกิจประเภทร้านอาหารและโรงแรมเพราะเวลาห้ามดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ากับการที่ต้องเสียโอกาสในการประกอบธุรกิจไปอย่างไม่จำเป็น

           

อีกมุมมองจากผู้ประกอบการที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจซึ่งภาครัฐก็ยังต้องบาลานซ์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นระหว่างภาคเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตด้วย