ธนจิรา กรุ๊ป ปรับเกมรุก ไดเวอร์ซิฟาย ต่อยอด ‘มารีเมกโกะ’ สู่ F&B

03 ก.ค. 2565 | 08:59 น.

“ธนจิรา กรุ๊ป” เดินหน้ารุกธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม ต่อยอดแบรนด์ Marimekko จากไลฟ์สไตล์ แฟชั่นสู่ธุรกิจ F&B ประเดิมเปิด “มารีเมกโกะ ป๊อบ อัพ คาเฟ่” แห่งแรกของโลก ณ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ตามด้วย “แคท คิดสตัน” ในปลายปี มั่นใจรีเทิร์นทำกำไร พร้อมเดินหน้าเข้าตลาดหุ้นปี 66

นายธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท ธนจิรา กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์จากต่างประเทศ ได้แก่ Pandora (แพนดอร่า), Marimekko (มารีเมกโกะ), Cath Kidston (แคท คิดสตัน) และ HARNN (หาญ) เปิดเผยว่า บริษัทต่อยอดธุรกิจจากไลฟ์สไตล์ รีเทลสู่ Food & Beverage

 

ด้วยการเปิดตัวร้าน “มารีเมกโกะ ป๊อบ อัพ คาเฟ่” (Marimekko Pop-Up Cafe) สาขาแรกในไทยและในโลกขึ้น ณ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจจากแบรนด์ “มารีเมกโกะ” (Marimekko) ไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์ ที่โดดเด่นด้วยลายพิมพ์และสีสันอันเป็นเอกลักษณ์จากประเทศฟินแลนด์

ธนจิรา กรุ๊ป ปรับเกมรุก ไดเวอร์ซิฟาย ต่อยอด ‘มารีเมกโกะ’ สู่ F&B               

แบรนด์มารีเมกโกะ มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนตั้งแต่เมื่อก่อตั้งแบรนด์ในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่งานต้นน้ำในการคัดเลือกสินค้าให้ตรงกับเทสต์ของลูกค้าคนไทยในปริมาณที่เหมาะสม การวางกลยุทธ์สินค้าให้เข้ากับกลุ่มลูกค้า YWN (youth-women-netizens) ที่ไม่จำกัดที่ราคา แต่เน้นการใช้งานได้จริงอย่างกระเป๋าผ้ายอดนิยมซึ่งเป็นเหมือนการสร้างฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นในช่วง 2-3 ปีแรก

 

ก่อนที่จะต่อยอดด้วยการสร้างกลยุทธ์การสื่อสารที่ครบ 360ํ จากลายพิมพ์อันเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกเรื่องราวที่เป็นมากกว่าจุดขาย และการเข้าสู่ Omni marketing ที่เชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกันโดยมี Live streaming เป็นแกนกลางสำคัญในการสร้างการรับรู้ และส่งประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าใหม่ไปพร้อมๆกับการสร้างยอดขายแบบไม่ต้องลดแลกแจกแถม ทำให้สามารถเติบโตได้แม้จะอยู่ในภาวะการระบาดของโควิด-19 โดยปัจจุบันมารีเมกโกะมีสาขารวมทั้งสิ้น 10 สาขา 1 เอ้าท์เล็ท และมีช่องทางการขายบนโลกออนไลน์อีก 4 ช่องทาง

ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล               

“สถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนใช้ชีวิตที่บ้าน สั่งของออนไลน์มากขึ้น และสิ่งที่พบคือ ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน ในครัวมากขึ้น ทำให้สินค้าในแผนกครัวของมารีเมกโกะ ได้รับความนิยมตามไปด้วย ซึ่งการจะทำให้ลูกค้าใกล้ชิดกับสินค้าและมีประสบการณ์ตรง จึงถูกนำมาต่อยอดเป็นร้าน Marimekko Pop-Up Cafe ซึ่งเป็นโมเดลแรกของโลกที่พัฒนาขึ้นที่ไทย”

              

“ธนพงษ์” บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ร้านอาหารได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะคนไทยคุ้นเคยและรู้จักแบรนด์มารีเมกโกะ ขณะที่ยอดขายในร้านก็เพิ่มสูงขึ้น 50% ทำให้บริษัทเชื่อมั่นและมีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้น โดยสาขาของร้าน Marimekko Pop-Up Cafe จะต้องอยู่ใกล้เคียงกับร้านมารีเมกโกะ (ไลฟ์สไตล์แฟชั่น) ด้วย

 

โดยในปีนี้บริษัทเตรียมงบลงทุนราว 100 ล้านบาท ในการขยายสาขาร้าน Marimekko Pop-Up Cafe อีก 3 สาขา นอกจากนี้ความสำเร็จของโมเดลดังกล่าว จะนำไปต่อยอดให้กับแบรนด์ Cath Kidston ด้วย โดยคาดว่า สาขาแรกจะเปิดให้บริการในเซ็นทรัลเวิลด์ ในเดือนธันวาคมนี้

              

“ปัจจุบันแบรนด์มารีเมกโกะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปิดให้บริการหมดแล้ว เหลือเพียงประเทศไทย ที่ยังคงได้รับความนิยม ขณะที่ด้วยเศรษฐกิจโดยรวมบริษัทจะยังไม่มีการขยายสาขาเพิ่ม แต่จะเน้นการทำตลาดรอบด้าน

ธนจิรา กรุ๊ป ปรับเกมรุก ไดเวอร์ซิฟาย ต่อยอด ‘มารีเมกโกะ’ สู่ F&B

ขณะที่ในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ในประเทศเวียดนาม จะขยายสาขาแบรนด์แคท คิดสตัน เพิ่มอีก 1 แห่งในเดือนก.ค. นี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 5 สาขาในโฮจิมินต์และฮานอย และมีแผนเปิดช้อปมารีเมกโกะอีก 1 แห่งในฮานอยด้วย  นอกจากนี้ยังมีแผนขยายช้อปสปา ภายใต้ชื่อ HARNN JAPAN ในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือกับนักธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งเบื้องต้นเปิดให้บริการแล้ว 3 สาขา”

              

อย่างไรก็ดีในช่วงวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายในปี 2564 ลดลงไปเกือบ 50% จากปี 2562 ที่มีรายได้ราว 1,300 ล้านบาท ลดลงเหลือกว่า 900 ล้านบาท ขณะที่ในปีนี้ตั้งเป้าหมายที่จะกลับมามีรายได้รวมกว่า 1,150 ล้านบาท หลังจากที่พบว่ามียอดขายเติบโตแล้วกว่า 50% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และทำให้บริษัทกลับมามีกำไรอีกครั้งในปีนี้ที่ 90 ล้านบาท พร้อมกับเดินหน้ายื่นไฟล์ลิ่งในเดือนมีนาคม 2566 เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์ในปลายปีเดียวกัน หลังจากที่เจอวิกฤตโควิดทำให้ต้องเลื่อนมาก่อนหน้านี้

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,796 วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2565