ด่วน "การบินไทย" ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูแล้ว เพิ่มทุน8หมื่นล้าน-รัฐถือหุ้น40%

01 ก.ค. 2565 | 05:31 น.

"การบินไทย" ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว วันนี้ แจงแผนใหม่เพิ่มทุน 8 หมื่นล้านบาท เน้นปรับโครงสร้างทุนแปลงหนี้เป็นทุน โดยคลังรวมถึงหน่วยงานภาครัฐยังถือหุ้นในสายการบินรวม 40% หนุนส่วนทุนกลับมาเป็นบวกปี2567 พร้อมลดวงเงินสินเชื่อใหม่เหลือไม่เกิน 12,500 ล้านบาท

วันนี้(วันที่ 1กรกฏาคม 2565) คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันนี้ 

 

ด่วน \"การบินไทย\" ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูแล้ว เพิ่มทุน8หมื่นล้าน-รัฐถือหุ้น40%

 

โดยมีรายละเอียดสาระสำคัญในการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. จัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปี และ/หรือตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นจำนวนไม่เกิน 12,500 ล้านบาท นอกจากนั้น บริษัทยังได้เตรียมการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Facility) ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาทเผื่อไว้อีกด้วย

 

2. ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนประมาณ 31,500 ล้านหุ้น โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนทุนเป็นบวกเพื่อทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีความมั่นคงและเพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัทสามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง ด้วยแนวทางต่อไปนี้

 

(ก) ให้สิทธิผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้สินเชื่อใหม่ที่บริษัทเบิกใช้จริง (Drawdown Amount) เป็นจำนวนเงินประมาณ 12,500 ล้านบาท

 

(ข) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เดิมของเจ้าหนี้ทางการเงินตามแผนด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยกระทรวงการคลังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหนี้ทางการเงินและผู้ถือหุ้นหลักเดิมจะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นทั้งจำนวนเป็นทุน

 

ในขณะที่เจ้าหนี้ทางการเงินกลุ่มอื่น ๆ และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นจำนวน ร้อยละ 24.5 เป็นทุน โดยหนี้เงินต้นส่วนที่เหลือในอัตราร้อยละ 75.5 จะได้รับชำระหนี้จากกระแสเงินสดของการบินไทยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนเดิม ซึ่งการแปลงหนี้เป็นทุนนี้จะทำให้การบินไทยสามารถมีส่วนทุนเพิ่มเติมและลดภาระหนี้ตามแผนลงได้ประมาณ 37,800 ล้านบาท

(ค) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อร้องรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักตามแผนเป็นทุน  ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งทำให้การบินไทยอาจสามารถลดภาระการชำระหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักไปได้ประมาณ 4,845 ล้านบาท 

 

(ง) จัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ ในราคาที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเห็นสมควรและไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม และในกรณีที่ไม่มีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน หรือผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เต็มจำนวน ให้นำหุ้นส่วนที่มาเสนอขายให้แก่พนักงานบริษัท และหรือบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งคาดว่าจะสามารถระดมทุนให้แก่การบินไทยเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 25,000 ล้านบาท 

 

รวมเป็นส่วนทุนที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุนตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนประมาณ 80,000 ล้านบาทเศษ

 

ด่วน \"การบินไทย\" ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูแล้ว เพิ่มทุน8หมื่นล้าน-รัฐถือหุ้น40%

 

โดยการบินไทยคาดหมายว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนข้างต้นให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งหากการดำเนินการเป็นไปตามข้อเสนอข้อแก้ไขแผน ส่วนของทุนจะกลับมาเป็นบวกในปี 2567 และหลักทรัพย์ของบริษัทน่าจะสามารถกลับมาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2568 

 

ด่วน \"การบินไทย\" ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูแล้ว เพิ่มทุน8หมื่นล้าน-รัฐถือหุ้น40%

 

 

ทั้งนี้การขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการสร้างความเชื่อมั่นรับธุรกิจการบินฟื้นตัว รายได้เติบโตแบบก้าวกระโดด ส่งผลสภาพคล่องสูงสุดในรอบ 24 เดือน

 

การบินไทยมีการเติบโตด้านรายได้อย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา โดยในช่วงวันที่ 1 - 27 มิถุนายน 2565 จำนวนผู้โดยสารรวมเฉลี่ยในแต่ละวันของบริษัทและสายการบินไทยสมายล์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12,568 และ 12,257 คนต่อวัน จาก 269 และ 4,929 คนต่อวันในช่วงเดือนเมษายน - เดือนตุลาคม 2564 อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในส่วนของการบินไทยช่วงดังกล่าวปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 75 และมีอัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังการเปิดประเทศ

 

ด่วน \"การบินไทย\" ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูแล้ว เพิ่มทุน8หมื่นล้าน-รัฐถือหุ้น40%

 

นายปิยสวัสด์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจะยื่นขอปรับแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันนี้ (1 ก.ค.) หลังจากรายได้มีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าคาดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลงและหลายประเทศรวมถึงไทยได้กลับมาเปิดประเทศให้มีการเดินทางระหว่างประเทศกันมากขึ้น


แผนฟื้นฟูกิจการฉบับเดิม จัดทำขึ้นจากคาดการณ์ว่าบริษัทจะขาดกระแสเงินสด ดังนั้น เป้าหมายหลักของการฟื้นฟูนำเงินทุนใหม่เข้ามาจำนวน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากภาครัฐ 2.5 หมื่นล้านบาท และอีก 2.5 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงิน แต่เมื่อพบว่าการกู้เงินมีความยุ่งยากและซ้ำซ้อน บริษัทจึงได้หาวิธีช่วยเหลือตัวเองก่อนด้วยการขายทรัพย์สินและเครื่องบินเก่าออกไปได้เงินกว่า 9 พันล้านบาท

 

ประกอบกับ ขณะนี้การเดินทางระหว่างประเทศทำได้มากขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ทำให้ยอดผู้โดยสารฟื้นตัวเร็วมาก โดยจำนวนผู้โดยสารของการบินไทยที่เดินทางต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 64 ที่มีจำนวนไม่ถึง 1,000 คน/วัน มาเป็น 13,000 คน/วัน อัตราขนส่งผู้โดยสารขึ้นมาระดับ 80% ซึ่งหลายเส้นทางก็ขึ้นมาถึงระดับ 90% ส่งผลให้รายได้ในเดือน มิ.ย.65 คาดว่าจะอยู่ที่ 6,800 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ค.65 มาเป็น 8,000 ล้านบาทจากยอดตั๋วล่วงหน้า

 

ดังนั้นปัญหาขาดกระแสเงินสดก็ลดลงจากรายได้ขายตั๋วโดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเงินสดในมือช่วงปลายเดือน มิ.ย.65 เพิ่มเป็น 1.4 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะมี 5 พันล้านบาท ดังนั้น การกู้เงินจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของแผนฟื้นฟูแล้ว

 

ในแผนฉบับเดิมที่ต้องการหาเงินทุนใหม่ 5 หมื่นล้านบาทจากภาครัฐและเอกชน จะปรับเป็นให้เป็นเงินกู้ระยะยาวไม่เกิน 6 ปี จำนวน 1.25 หมื่นล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้น 1.25 หมื่นล้านบาท โดยเงินกู้ยืมระยะยาวจะให้สิทธิเจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน แต่ก็อาจจะดูสถานการณ์อีกครั้งหากสภาพคล่องของบริษัทดีขึ้นเร็วก็อาจจะไม่ต้องใช้เงินกู้ส่วนนี้ก็ได้ อาจจะใช้เฉพาะเงินกู้ระยะสั้นก็น่าจะเพียงพอ

 

เมื่อรวมกับส่วนเจ้าหนี้เดิมที่มีทั้งเจ้าหนี้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้หุ้นกู้ รวมมูลหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท ให้แปลงหนี้เป็นทุนจำนวนประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 25% ของมูลหนี้ เมื่อรวมกับเงินกู้ระยะสั้น 1.25 หมื่นล้านบาท บริษัทก็จะได้เงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เหมือนกับการเพิ่มทุน และจะช่วยลดการขาดทุนส่วนของทุน

 

นอกจากนี้ก็ยังเปิดขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมอีก 2.5 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับส่วนที่ได้จากเจ้าหนี้ทำให้บริษัทจะเพิ่มทุนได้ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าสามารถทำได้ และทำให้การบินไทยมีส่วนของทุนเป็นบวกในช่วงปลายปี 2567 และหุ้น THAI ก็สามารถกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้งปี 2568

 

"หลังการปรับโครงสร้างทุนในครั้งนี้กระทรวงการคลัง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอย่าง ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย กองทุนวายุภักษ์ ก็จะยังถือหุ้นอยู่การบินรวม 40% โดยในแผนฟื้นฟูกำหนดชัดเจนว่าการบินไทยจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนในอดีตอีกแล้ว" นายปิยสวัสด์ กล่าวทิ้งท้าย