การบินไทยยื่นศาลล้มละลาย แก้แผนฟื้นฟูกิจการ ปรับแผนใช้เงิน-รื้อฝูงบิน

30 มิ.ย. 2565 | 02:20 น.

การบินไทย ชงศาลล้มละลายกลาง ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ต้นเดือนก.ค.นี้ หลังเดินแผนมาร่วม 1 ปี รวมถึงอานิสงส์เปิดประเทศ ส่งผลให้การหาแหล่งเงินใหม่ลดจาก 5 หมื่นล้านบาทเหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท รื้อแผนฝูงบินใหม่ ลั่นปัจจุบันเหลือความต้องการใช้เงินอยู่ที่ 1 หมื่นล้านเศษ

นับเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่การบินไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบกับการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวของไทยและประเทศต่างๆที่เกิดขึ้น ส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของการบินไทยเป็นอย่างมาก ทำให้การบินไทยเตรียมจะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบริษัทในปัจจุบัน ซึ่งหากศาลฯ เห็นชอบการแก้ไขแผนฟื้นฟู ก็จะมีการนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อขอความเห็นชอบในการแก้ไขแผนฟื้นฟูที่จะเกิดขึ้น

การบินไทยชงแก้ไขแผนฟื้นฟูก.ค.นี้

           

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จุดสำคัญในการยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ คือ เรื่องของการหาแหล่งเงินใหม่ ซึ่งตามแผนเดิมการบินไทยมีความต้องการเงินใหม่ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อมาใช้ในช่วงระหว่างการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู แต่ปัจจุบันการบินไทยไม่ได้มีความต้องการใช้เงินมากขนาดนั้นแล้ว จึงจะขอแก้ไขแผน โดยจะขอใช้แหล่งเงินใหม่ภายใต้กรอบวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท จากภาคเอกชน ที่อาจจะเป็นเงินกู้ หรือเงินใหม่ที่อาจจะมาจากการเพิ่มทุน หรือวอร์แรนต์ (ตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือ ในการซื้อหลักทรัพย์)

 

การบินไทยยื่นศาลล้มละลาย แก้แผนฟื้นฟูกิจการ ปรับแผนใช้เงิน-รื้อฝูงบิน

 

โดยต้องการใช้เงินในช่วงปี 2566-2567 ซึ่งความต้องการใช้เงินจริงวันนี้ก็ไม่น่าจะถึง 2.5 หมื่นล้านบาทด้วยซ้ำ แต่ที่เราต้องขอเป็นกรอบเผื่อไว้ เพื่อสำรองไว้ เพราะวันนี้แม้การเดินทางจะกระเตื้องขึ้น แต่เรายังจะต้องประเมินสถานการณ์โควิดสายพันธุ์ใหม่และสงครามรัสเซียยูเครนว่าจะไปในทิศทางไหน

ในช่วงแรกที่การบินไทยต้องการแหล่งเงินใหม่ 5 หมื่นล้านบาท ทั้งจากภาครัฐและเอกชนคนละ 2.5 หมื่นล้านบาท เพราะตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าจะมีใครให้เงินกู้เราหรือไม่  ช่วงแรกก็ยังไม่รู้ว่าจะเปิดประเทศเมื่อไหร่ แต่ที่ผ่านมา การบินไทยก็ช่วยเหลือตัวเอง ลดค่าใช้จ่าย มีการปฏิรูปองค์กร ลำจำนวนพนักงาน ขายทรัพย์สินรองที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งที่ผ่านมาเราขายที่ดิน อาคาร หุ้นของบาฟส์, นกแอร์

 

รวมถึงขายเครื่องบิน 11 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง 737-400 จำนวน 1 ลำและโบอิ้ง 747-400 อีก 10 ลำ ซึ่งในขณะนี้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ลงนาม อนุมัติการบินไทยโอน (ขาย) เครื่องบินทั้ง 11 ลำแล้ว ขายอะไหล่เครื่องบิน รวมมูลค่าสินทรัพย์ที่ขายออกไปก็อยู่ที่ราว 9,000 ล้านบาท รวมถึงการหารายได้ในทุกทาง ก็ทำให้วันนี้การบินไทยมีกระแสเงินสดในมือราว 1 หมื่นล้านบาท

 

รื้อแผนนำเครื่องกลับมาใช้ใหม่

 

รวมทั้งจะมีการปรับแผนการใช้เครื่องบินใหม่ โดยในการแก้ไขแผนฟื้นฟูใหม่จะขอนำเครื่องบินจำนวน 5 ลำได้แก่ โบอิ้ง 777-200 ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัสเอ 330-300 จำนวน 3 ลำ  ที่ตามแผนจะปลดระวางนำกลับมาทำการบินใหม่ในช่วง 4 ปีนี้ เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยมีฝูงบินที่ทำการบินอยู่ 66 ลำหากหักของเครื่องบินที่ให้ไทยสมายล์ทำการบินอยู่ออกไป การบินไทยก็ใช้เครื่องบินทำการบินอยู่ที่ 41 ลำขณะที่ดีมานต์ของผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

จากในเดือนต.ค.ปี63 การบินไทยมีรายได้ราว 300 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากคาร์โก้ แต่หลังจากรัฐบาลไทยทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้การบินไทยมีรายได้จากผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนมี.ค.65 ที่ไทยเปิดลงทะเบียนแบบ Test & Go การบินไทยมีรายได้ 3,567 ล้านบาท ขยับมาเป็น 5,000 กว่าล้านบาทในช่วงเดือนก.ค.65 เที่ยวบินยุโรป ผู้โดยสารแน่นจนเต็ม เนื่องจากคนอั้นไม่ได้เดินทางมากว่า 2-3 ปี ดังนั้นการนำเครื่องบินอีก 5 ลำดังกล่าวกลับมาใช้ใหม่ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ก็จะทำให้ในช่วงปลายปีนี้การบินไทยจะมีเครื่องบินให้บริการอยู่ที่ 46 ลำ

 

การบินไทยยื่นศาลล้มละลาย แก้แผนฟื้นฟูกิจการ ปรับแผนใช้เงิน-รื้อฝูงบิน

 

โดยในช่วงปลายปีนี้การบินไทย จะทำการบินได้รวม 55 เส้นทาง แต่ความถี่ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด แต่กำลังการผลิต (capacity) ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเรานำประสบการณ์จากปี 2562 มาปรับการเปิดเส้นทางบิน ซึ่งเส้นทางไหนทำกำไรทุกครั้ง ก็เปิดบินก่อน ส่วนเส้นทางบินไหนมีกำไรนิดหน่อยหรือขาดทุน แต่ถ้าลดค่าใช้จ่ายแล้ว กำไร เราก็ไปเปิดบินรู้ทนั้น ซึ่งอาจจะยังเทียบก่อนโควิดไม่ได้เพราะว่าก่อนโควิดเรามีเครื่องบิน 100 กว่าลำ ใช้บินจริงๆราว 80% ตอนนี้เรามีเครื่องบินไม่ถึง 60 ลำ (ไม่รวมไทยสมายล์) แต่แนวโน้มอัตราการบรรทุกเฉลี่ยก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

 

นอกจากนี้การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ จะทำให้แผนการชำระหนี้กับเจ้าหนี้ 36 กลุ่ม บางกลุ่มอาจเปลี่ยนไป และจะดีกว่าเดิม เพราะการบินไทยจะมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการขายทรัพย์สินรอง อย่างสินทรัพย์ในต่างประเทศ หรือเครื่องบินที่จอดไว้นานมากแล้ว จำนวนอีก 9 ลำ คือ แอร์บัสเอ 340-500 จำนวน 3 ลำและแอร์บัสเอ 340-600 จำนวน 6 ลำ

 

แก้ไขแผนฟื้นฟูการบินไทย

 

ต้องการเงินใหม่เหลือ 1 หมื่นล้าน

            

ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและบัญชี บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ จะมีทั้งเรื่องของการเพิ่มทุน จาก 3 แหล่ง ได้แก่ เจ้าหนี้เดิม ผู้ถือหุ้นเดิม ผู้ลงทุนใหม่  ขึ้นอยู่กับว่า 2 กลุ่มแรกจะมีความต้องการมากน้อยขนาดไหนถ้ามากจนเราไม่สามารถที่จะจัดสรรให้กับนักลงทุนใหม่ได้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มทุนจากนักลงทุนใหม่ และการหาแหล่งเงินใหม่จากเอกชน อยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท สำหรับนำมาใช้ในส่วนที่จำเป็น บางส่วนก็เป็นกลยุทธ์ในการฟื้นธุรกิจ

 

การบินไทยยื่นศาลล้มละลาย แก้แผนฟื้นฟูกิจการ ปรับแผนใช้เงิน-รื้อฝูงบิน

 

การหาแหล่งเงินใหม่ เราไม่ได้จำกัดว่าจะต้องคุยกับสถาบันการเงิน 5 ราย อย่าง ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย เอ็กซ์ซิมแบงก์ ที่เคยมีการพูดคุย แต่วันนี้เราเปิดกว้าง และไม่ใช่ว่าจะต้องเริ่มต้นใหม่เพราะ 5 แบงค์เหล่านั้น เพราะเขามีข้อมูลอยู่แล้วซึ่งเราเปลี่ยนแค่ความจำเป็นในการใช้เงินลดลงเท่านั้น

 

“จริงๆวันนี้การบินไทยมีความต้องการเงินใหม่อยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านนิดๆเท่านั้น เพื่อนำมาใช้ในการในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์บนเครื่องบิน เช่น Wifi บนเครื่องบิน การปรับปรุงผลิตภัณฑ์การซ่อมบำรุงเครื่องบินเครื่องยนต์และการพัฒนาเรื่องของดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่องของเว็บเซลล์และช่องทางการขาย ซึ่งเราก็ต้องลงทุน  ไม่ได้นำไปใช้ในการจ่ายชดเชยพนักงานที่ลาออกไปซึ่งจริงๆก็เหลือไม่เยอะแล้ว เดิมเคยจ่ายอยู่เดือนละ 600 กว่าล้านบาท แต่ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไปจะเหลืออยู่เดือนละ 200 ล้านบาทไตรมาส 4 จะเหลืออยู่ประมาณ 60-70 ล้านบาทและจะลดลงเรื่อยๆ และน่าจะจบกลางปีหน้า”

 

สำหรับเป้าหมายของการบินไทยตอนนี้เรื่องแผนก็เป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็คือ การเข้าไปเทรดในตลาดหลักทรัพย์ได้เหมือนเดิม ภายในต้นปี 68 ส่วนท่าทีของกระทรวงการคลังก็พร้อมสนับสนุนการบินไทย เพราะทุกคนก็อยากให้การบินไทยยังคงสถานะความเป็นสายการบินแห่งชาติอยู่ มีถือหุ้นของภาครัฐระดับหนึ่งก็มีความเหมาะสม รวมถึงผู้ถือหุ้นในกลุ่มสหกรณ์หุ้นกู้การบินไทย ก็สามารถสนับสนุนการบินไทยได้ด้วยเช่นกัน เพราะมีช่องทางที่จะปลดล็อกให้สามารถเข้ามาเพิ่มทุนหรือสนับสนุนแหล่งเงินให้การบินไทยได้และยังมองถึงการเช่าเครื่องบินเพิ่ม เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต