‘คอมมูนิตี้ มอลล์’ คึกคัก นํ้ามันพุ่ง-เงินเฟ้อ คนหันช้อปใกล้บ้าน

26 มิ.ย. 2565 | 07:55 น.

คอมมูนิตี้ มอลล์ส่งสัญญาณดี หลังวิกฤตน้ำมันราคาพุ่ง กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัวจากเงินเฟ้อ ดันลูกค้าลดเดินทาง จำกัดการใช้จ่าย หันช้อปปิ้งใกล้บ้าน เน้นสะดวก รวดเร็ว “พอร์โต้ ชิโน่” เร่งปรับตัวรับเสริมทัพร้านค้า เสิร์ฟบริการ 24 ชั่วโมง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ รวมถึงธุรกิจค้าปลีกไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า รวมถึงคอมมูนิตี้ มอลล์ หรือศูนย์การค้าขนาดเล็กที่กระจายอยู่ในชุมชน ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทำให้คอมมูนิตี้ มอลล์บางแห่งต้องปิดกิจการไปก็มี ขณะที่บางแห่งเลือกที่จะเปิดให้บริการแต่ลดการทำกิจกรรมลง แต่ล่าสุดเมื่อศบค. ประกาศผ่อนมาตรการต่างๆ พร้อมเปิดประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มขยับตัวเตรียมพร้อมรองรับการกลับมาเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบอีกครั้ง

              

นายสุเทพ ปัญญาสาคร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี-แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้บริหารคอมมูนิตี้ มอลล์พอร์โต้ ชิโน่” (Porto Chino) และ “พอร์โต้ โก” (Porto Go) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ดีมานด์ของคอมมูนิตี้ มอลล์ มาจากหลายส่วน ทั้งผู้บริโภคหรือลูกค้าที่เดินเข้ามาใช้บริการในร้าน

 

รวมทั้งลูกค้าที่เป็นร้านค้าเช่า ขณะที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากการระบาดของโควิด-19 พบว่า หลายธุรกิจได้รับผลกระทบต้องปิดกิจการหรือลดคน ลดไซส์ธุรกิจ ซึ่งคนเหล่านั้นคือลูกค้าที่เดินกลุ่มใหญ่ ทำงานในธุรกิจ SME เหล่านี้ ซึ่งได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่

‘คอมมูนิตี้ มอลล์’ คึกคัก นํ้ามันพุ่ง-เงินเฟ้อ คนหันช้อปใกล้บ้าน               

แม้วันนี้สถานการณ์จะคลี่คลาย แต่ก็ยังส่งผลลากยาว ผนวกปัจจัยอื่นๆที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันที่พุ่งสูง ภาวะเงินเฟ้อ ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ การใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยลบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการใช้จ่าย แต่ในอีกมุมมองหากเป็นปัจจัยบวกและเป็นโอกาสของคอมมูนิตี้ มอลล์ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อน้ำมันราคาแพง ผู้บริโภคก็ลดการเดินทางไปในที่ไกลๆ ไปศูนย์การค้าใหญ่

 

หันมาใช้บริการคอมมูนิตี้ มอลล์ใกล้บ้านแทน เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อก็ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายและเลือกใช้จ่ายเฉพาะสินค้าและบริการที่จำเป็น จึงเลือกมาใช้บริการในศูนย์การค้าเล็กๆ ที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาแทน ขณะที่การผ่อนปรนมาตรการ

 

การปรับเปลี่ยนใดๆ ก็ตาม ศูนย์การค้าขนาดเล็กย่อมทำได้เร็ว จึงได้เปรียบศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อมองเห็นโอกาสเหล่านี้จะเห็นว่า คอมมูนิตี้ มอลล์หลายแห่งเริ่มปรับตัวและเดินหน้าธุรกิจเพื่อให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์คนในยุคปัจจุบันหลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย

  ‘คอมมูนิตี้ มอลล์’ คึกคัก นํ้ามันพุ่ง-เงินเฟ้อ คนหันช้อปใกล้บ้าน               

“สุเทพ” บอกว่า การเผชิญกับโควิด สิ่งที่พอร์โต้ ชิโน่ทำคือ การปรับตัวเพื่อให้เข้าถึงลูกค้า จะเห็นว่าบริษัทเริ่มทำแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อสื่อสาร เข้าถึงลูกค้า และเป็นหนึ่งในจุดหมายที่ลูกค้าจะปักหมุดมา นอกจากนี้พอร์โต้ ชิโน่ยังรีเฟรชตัวเอง เพื่อให้ตอบรับกับความต้องการของลูกค้าที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอร้านค้าที่เปิดให้บริการแบบ 24 ชม. การปรับสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางมาใช้บริการ การเพิ่มช่วงเวลาในการให้บริการ และความหลากหลายของสินค้าและบริการที่มีมากขึ้น

              

“ช่วงปลายปีก่อน แม้จะอยู่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 แต่สิ่งหนึ่งที่มองเห็นคือ ผู้คนในย่านนี้หันมาใช้ดีลิเวอรีมากขึ้น ใช้ชีวิตในช่วงกลางคืนมากขึ้น ศูนย์จึงคัดสรรร้านอาหารที่จะมาเป็นทางเลือกและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เช่น ร้านสุกี้ตี๋น้อย ร้านบุฟเฟ่ต์ปิ้งเนย ทองการ์เด้นท์ Mikka Cafe & Bakery และ The Bliss Clinic เป็นต้น”

‘คอมมูนิตี้ มอลล์’ คึกคัก นํ้ามันพุ่ง-เงินเฟ้อ คนหันช้อปใกล้บ้าน                

นอกจากนี้ในครึ่งปีหลังศูนย์มีแผนปรับโซนชั้น 1 ซึ่งเดิมเป็นฟู้ดคอร์ทให้เป็นร้านอาหารติดแอร์ เพิ่มร้านค้า ร้านอาหาร พร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่ 07.00 น. สามารถรองรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในช่วงเช้า ทั้งในรูปแบบรับประทานในร้านและดีลิเวอรีได้ด้วย โดยจะเปิดให้บริการได้ในเดือน พ.ย. 2565 และจะเป็นแม็กเน็ตใหม่ที่จะช่วยดึงทราฟิคภายในศูนย์ที่มีอยู่กว่า 1,500 คนให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันพื้นที่เช่าภายในศูนย์มีอัตราเช่าเฉลี่ย 75% เหลือเพียง 25% ที่รอร้านค้าใหม่ๆ เข้ามา

              

“ที่ผ่านมาร้านที่เปิด 24 ชม. ไม่ว่าจะเป็นแมคโดนัลด์, สตาร์บัคส์ ต่างประสบความสำเร็จ ลูกค้ามาใช้บริการจำนวนมาก เช่นเดียวกับ สุกี้ตี๋น้อย ที่เปิดให้บริการในไตรมาส 1 ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน ทำให้ศูนย์มีแผนที่จะหาร้านค้าใหม่ๆ เข้ามาเสริมเพื่อตอบโจทย์และสร้างภาพจำความเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ ที่ให้บริการ 24 ชม. มากขึ้น”

              

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ในส่วนของพอร์โต้ โก ก็มีแผนปรับเพิ่มร้านค้าเพื่อเติมในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ลูกค้าที่มาใช้บริการในพอร์โต้ ชิโน่ จะใช้เวลาราว 1-1.30 ชม. ขณะที่พอร์โต้ โก จะใช้เวลาราว 45 นาที เพื่อแวะรับประทานอาหารหรือซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ก่อนเดินทางต่อแต่มีลูกค้าบางกลุ่ม เลือกที่จะรับประทานอาหารหรือพักผ่อนที่มากขึ้นก่อนเดินทางต่อ ทำให้ศูนย์มีแผนเพิ่มร้านอาหารสำหรับรับประทานเป็นหลัก และเทคโฮมได้ด้วย

‘คอมมูนิตี้ มอลล์’ คึกคัก นํ้ามันพุ่ง-เงินเฟ้อ คนหันช้อปใกล้บ้าน

“จากสถานการณ์ต่างๆ ในวันนี้ศูนย์จะยังไม่ลงทุนอะไรที่ใหญ่มากนัก แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งการใช้งบกว่า 20 ล้านบาทในการรีโนเวทครั้งนี้ ถือเป็นการขยับตัวลงทุนมากสุดในรอบ 3 ปีหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการจะขยับขยายอะไรต้องระมัดระวังมาก รวมถึงต้องบาลานซ์เรื่องของรายได้และค่าใช้จ่ายให้ดี ต้องศึกษาข้อมูลจากลูกค้า ร้านค้าและนำมาผนึกรวมกับข้อมูลต่างๆ ก่อนคิดวิเคราะห์ให้ชัดเจน เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,795 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565