หลากปมร้อนเรื่องยางพารา ใคร ‘ถูก-ผิด’ ยังไร้ตอนจบ

17 พ.ค. 2559 | 04:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างเกษตรกรชาวสวนยาง กับฝ่ายการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หน่วยงานที่ขับเคลื่อน พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ซึ่ง "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์คู่กรณีเพื่อชี้แจงในประเด็นต่างๆ ที่มีปมความขัดแย้งกัน ระหว่าง "อุทัย สอนหลักทรัพย์" ประธานสภาเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ในฐานะ 7 กลุ่มองค์กรยาง และในฐานะคณะทำงานการจัดทำงบประมาณและการบริหารเงินกองทุนพัฒนายางพารา ตามมาตรา 49 คณะที่ 1 การส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร ชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางฯ มาตรา 49 (3) กับ "เชาว์ ทรงอาวุธ" รองผู้ว่าการด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง ซึ่งก่อนหน้านั้นดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ในรายละเอียดดังนี้

[caption id="attachment_53510" align="aligncenter" width="500"] อุทัย สอนหลักทรัพย์ (ซ้าย) อุทัย สอนหลักทรัพย์ (ซ้าย) เชาว์ ทรงอาวุธ (ขวา)[/caption]

โวยตัดงบแหกกฎอนุมัติ

นายอุทัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ได้มีการประชุมคณะทำงาน ซึ่งมี 4 คณะ ประกอบด้วย คณะทำงาน มาตรา 49 (3) (4) (5) และ (6) ในปีงบประมาณ 2559 ทาง กยท.ได้มีการจัดสรรและการบริหารกองทุนยางพาราตามมาตรา 49 จำนวนทั้งสิ้น 4.54 พันล้านบาท หากเป็น (3) จัดสรรงบประมาณ 1.895 พันล้านบาท มีนายประสิทธิ์ หมีดเส็น กรรมการ กยท.(ผู้แทนชาวสวนยาง)เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งในที่ประชุม ผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง นายประสิทธิ์ อ้างติดภารกิจ แล้วมอบให้นายนายเสนีย์ จิตตเกษม กรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (บอร์ดยาง) มาเป็นประธานแทนโดยอ้างติดภารกิจ ซึ่งได้มีการพิจารณาเรื่องต่างๆ อาทิ 1.โครงการโรงงานแปรรูปยางก้อนถ้วยเป็นยางเครพ ทางคณะทำงานไม่เห็นด้วย เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้วว่าบริษัทใหญ่เคยให้เกษตรกรทำ เดิมให้ค่าจ้างผลิตกิโลกรัมละ 2 บาท ลดเหลือ 1.50 บาท และเหลือ 50 สตางค์ในที่สุด ที่สำคัญจัดซื้อให้เปล่า จะส่งทำให้เกษตรกรสร้างความแตกแยกในภายหลัง เลยแนะนำให้แบบสินเชื่อ หรือนำงบประมาณตรงนี้ไปเพิ่มอบรมพัฒนาความรู้ให้เกษตรกรแปรรูปจะเกิดประโยชน์มากกว่า

"ส่วนในการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ 108 ตลาด ได้มีการท้วงติง ให้ใช้ซื้อเท่าที่จำเป็นจริงๆ แต่ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่ กยท. ที่เป็นเลขานุการไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามมติในที่ประชุม อีกทั้งฝ่ายคณะกรรมการจัดซื้อไม่ฟังมติคณะทำงาน และเกษตรกรก่อนที่จะนำเสนอบอร์ดให้มีการทบทวนเรียกประชุมใหม่ แต่ก็ไม่เคยเรียกประชุมเลย ซ้ำร้ายยังเสนอไปบอร์ดเพื่ออนุมัติ ราวกับเกษตรกรเป็นแค่ตรายาง"

พรีเมียมยางชิโนเคมควรแบ่ง

สำหรับโครงการซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางระหว่าง กยท.กับบริษัท ชิโนเคมกรุ๊ป จากจีน ปริมาณ 2 แสนตัน ค่าพรีเมียมที่จีนให้ 3 หยวน ควรจะเป็นของเกษตรกร เพราะในขณะนั้น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปเจรจา เปรียบเอาเครดิตประเทศไปค้ำประกัน อย่างน้อยค่าพรีเมียมควรจะให้เกษตรกรได้มีรายได้จากส่วนต่างบ้าง แต่ปรากฏว่ายางที่ขายให้กับ กยท.เป็นราคาตลาด ยังโดนผู้ว่าจ้างผลิตกดราคารับซื้อ อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการผลิตยางในรูปยางแท่ง STR 20 หรือยางแผ่นดิบ 6 บาท/กิโลกรัม รวมทั้งค่าขนส่งสินค้าไปลงท่าเทียบเรือ สถาบันเกษตรกรเป็นคนออกเองทั้งสิ้น ตั้งคำถามว่า กยท.กระทำอย่างนี้ก็ไม่ต่างจากเอกชนทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐก็ไม่ควรที่จะค้ากำไรเกินควร เอาเปรียบเกษตรกรหรือไม่

เสนอคนกลางสร้างปรองดอง

"ผมในฐานะคนกลางยังได้รับการร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายทั้ง องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) สถาบันวิจัยยาง (สวย.) และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เกิดความปั่นป่วนช่วงชิงตำแหน่งภายใน กยท. ท้ายสุดผลร้ายความเสียหายจะตกกับเกษตรกรเพราะเจ้าหน้าที่มัวแต่แย่งชิงตำแหน่งกัน จึงอยากเสนอให้ตั้งคนกลางมาประสานสร้างความปรองดองก่อนที่จะเลวร้ายไปมากกว่านี้ ผมร่วมบุกเบิกและเป็นผู้ยกร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยฉบับนี้ใช้เวลากว่า 10 ปี ผ่านนายกรัฐมนตรีถึง 5 คน กว่าจะมาถึงวันนี้ผมขอร้องหันหน้ามาคุยกัน"

"เชาว์"ยันทำเพื่อเกษตรกร

ด้าน "เชาว์ ทรงอาวุธ"กล่าวยืนยันว่า เรื่องการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ คณะอนุฯ แต่ละชุดจะมีเกษตรกรเข้าไปนั่งเป็นคณะทำงาน ตนไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไรทั้งสิ้น ไม่ทราบด้วย หลังจากคณะดังกล่าวมีการอนุมัติเรื่องผ่านสู่เข้าบอร์ดใหญ่อนุมัติ ก็ส่งเรื่องให้ส่วนงาน ได้แก่ฝ่ายการเงิน พิจารณาเห็นว่าบอร์ดอนุมัติ จึงได้จัดซื้อจัดจ้างฝ่ายพัสดุ ขณะนั้นตนเป็นรักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. จึงได้เซ็นหนังสือเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2559 ให้ดำเนินการทำทีโออาร์ ระหว่างดำเนินการอยู่ก็เกิดเรื่องเสียก่อน จึงยังไม่ได้มีการจัดซื้อ สาเหตุที่เซ็นลงนามเพราะเห็นว่าได้มีการพิจารณาตามชั้นกลั่นกรองมาแล้ว ไม่เห็นว่ามีอะไรส่อที่จะเป็นเรื่องของการทุจริต หรือเรื่องนี้หากมีการทุจริตเกษตรกรสามารถที่จะนำเรื่อง ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบได้

"การซื้อครุภัณฑ์ใช้ในการดำเนินงานตลาดยาง 108 แห่ง ก็เพื่อเกษตรกร ซึ่งในแต่ละปีรวมตลาดมีมูลค่าตลาดประมาณ 9 แสนตัน ราคาที่ให้เกษตรกรก็สูงกว่าตลาดท้องถิ่นอยู่ 2 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าคิดมูลค่าในการซื้อขายผ่านตลาด 108 ทั่วประเทศ เอา 2 คูณด้วย 9 แสนตัน คำนวณเป็นเงินประมาณ 1.8 พันล้านบาท จะเห็นว่าเกษตรกรได้ประโยชน์จากโครงการนี้ที่สำคัญตรงกับวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ. การยางฯ สิ่งที่ กยท.ก็ทำเพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกร"

ส่วนหลายคนตั้งคำถามว่าเหลือเวลาแค่ 2 วันจะมีผู้ว่าการ มาแล้ว จะเซ็นลงนามอนุมัติทำไมไม่รอคนใหม่ ความจริงหากต้องการอย่างนั้นปล่อยเกียร์ว่างก็ได้ แต่จะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างไร แล้วจะให้มานั่งทำไม ตนปล่อยไม่ได้ เพราะเรื่องประเทศชาติเป็นเรื่องสำคัญ ในปีงบประมาณ 2559 ผ่านมา 5 เดือนแล้วยังไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย ถามว่าเร่งเซ็นอนุมัติอย่างไร

ส่งยางจีนงวดแรกกำไร 80 ล.

ส่วนเรื่องขายยางให้ชิโนเคมกรุ๊ปคาดการส่งมอบยางในงวดแรกจะแล้วเสร็จกลางเดือนพฤษภาคมนี้ จะเริ่มส่งมอบงวดที่ 2 ซึ่งจากการคำนวณจะมีกำไรประมาณกว่า 80 ล้านบาท เพราะทางจีนให้ค่าพรีเมียม 3 หยวนต่อกิโลกรัม ซึ่งถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่ยังเหลือกำไรประมาณ 5 บาทต่อกิโลกรัม หากขายยางจำนวน 2 แสนตัน จะได้กำไรไม่ต่ำกว่า 700-800 ล้านบาท สิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่เรื่องกำไรหรือขาดทุน แต่เป็นเรื่องระหว่าง กยท.และสถาบันเกษตรกร ได้มีการฝึกทำธุรกิจโดยไม่มีความเสี่ยง

"ยอมรับว่าไม่เคยทำงานค้าขายต่างประเทศ อย่างมากเป็นการซื้อขายยางท้องถิ่นภายในประเทศ แต่กระบวนการซื้อขายยางนอกประเทศ หลายเรื่องที่ไม่เคยทำ อาทิ ชิปปิ้ง ค่าธรรมเนียมการส่งออก เรื่องอื่นๆ มากมาย และมีสิ่งที่คาดไม่ถึง ผมมองว่าเป็นจังหวะและโอกาสของ กยท.และสถาบันเกษตรกรที่จะได้เข้ามาร่วมกระบวนการส่งยางไปขายต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แต่วันนี้เป็นโรงเรียน หลังจากโครงการนี้จบ เชื่อว่าจะได้ประสบการณ์มากขึ้น เพื่อที่จะไปทำธุรกิจได้ในอนาคตที่ไม่ได้มีแค่ชิโนเคมเท่านั้นจะต้องจับมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ในการเปิดตลาดใหม่ๆ และพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานสากล"

ในส่วนค่าพรีเมียม 3 หยวน ที่ฝ่ายจีนให้ กยท. ทำไมต้องเป็นของเกษตรกรเพราะอะไร และถ้า กยท. ทำขาดทุนใครจะรับผิดชอบ ทุกวันนี้ กยท.รับซื้อจากเกษตรกรบวกให้เพิ่มจากราคาตลาด 30สตางค์ต่อกิโลกรัม หรือตันละ 300 บาทแต่หากทำยางคุณภาพไปถึงเอฟโอบี จะบวกให้ 1 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจ แล้วท้ายสุดเงินดังกล่าวไม่ได้ไปไหน ผลประโยชน์ล้วนตกอยู่กับเกษตรกรทั้งสิ้นอย่างไรก็ดีการต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรชาวสวนยาง ว่าการซื้อขายยางระหว่างชิโนเคมกับกยท. ไม่ใช่เป็นโครงการที่จะแก้ไขปัญหาราคายางของเกษตรกรแต่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนในเรื่องของการจัดสรรตำแหน่งต่างๆ ในกยท.นั้น เป็นอำนาจของผู้ว่าการ ไม่ขอออกความคิดเห็นใดๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559