ท่องเที่ยวฟื้นฉุดแรงงานขาดแคลนหนัก ธุรกิจเปิดศึกชิงพนักงาน

14 มิ.ย. 2565 | 02:30 น.

เปิดประเทศดันท่องเที่ยว-บริการฟื้นตัว ฉุดความต้องการแรงงานพุ่ง โรงแรมกว่าครึ่งขาดแคลนแรงงานไทยที่มีทักษะ เหตุจากคนที่ถูกเลย์ออฟไปแล้วไม่กลับมา ทั้งแรงงานต่างด้าวหาย ธุรกิจเปิดศึกชิงพนักงาน

เปิดประเทศดันท่องเที่ยว-บริการฟื้นตัว ฉุดความต้องการแรงงานพุ่ง โรงแรมกว่าครึ่งขาดแคลนแรงงานไทยที่มีทักษะ เหตุจากคนที่ถูกเลย์ออฟไปแล้วไม่กลับมา ทั้งแรงงานต่างด้าวหาย ธุรกิจเปิดศึกชิงพนักงาน มีทั้งดิ้นจ้างพนักงานชั่วคราวเพิ่ม เพิ่มค่าจ้างดึงดูดแรงงานใหม่ ปรับขึ้นค่าแรงจูงใจให้อยู่ต่อ ขณะที่สายการบินหันมาเปิดรับลูกเรือ-บริการภาคพื้นต่อเนื่อง                

 

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ และนโยบายของรัฐบาลที่ให้ขยายระยะเวลาปีท่องเที่ยวไทย หรือ Visit Thailand Year เพิ่มอีก 1 ปี เป็น 2565- 2566 รวมถึงอานิสงส์จากการขยายสิทธิโครงการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟส 4” ส่งสัญญาณให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น

 

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี

 

โรงแรมและธุรกิจเชื่อมโยง ทยอยเปิดให้บริการกันอีกครั้ง มีการเปิดรับสมัครพนักงานกลับเข้ามาทำงาน หลังจากได้เลิกจ้างพนักงานไปเกือบทั้งหมดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงที่ผ่านมาเฉพาะจำนวนพนักงานในโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย คาดว่าหายไปจากระบบรวมกว่า 4 แสนคน

ล่าสุดจากการสำรวจของสมาคมโรงแรมไทย ในเดือนพ.ค.65 พบว่า การจ้างงานเฉลี่ยของธุรกิจ โรงแรมในเดือนพ.ค.2565 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 68.2% ของการจ้างงานเดิม ก่อนเกิดโควิด-19 สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นการจ้างพนักงานเพิ่ม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะทยอยเข้ามาหลังการเปิดประเทศแบบไม่กักตัว

 

ทั้งยังพบว่าโรงแรมกว่าครึ่ง หรือ 54% เผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานไทยมีทักษะ โดยส่วนใหญ่ (กว่า 43%) จ้างเพิ่มเป็นพนักงานชั่วคราว และยังคงจ้างด้วยอัตราจ้างเท่าเดิมในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า ขณะที่ 21% ไม่มีการจ้างเพิ่ม แต่ปฏิบัติงานตามความสามารถที่ทำได้ด้วยอัตราค่าจ้างเท่าเดิม อย่างไรก็ตามมีโรงแรม 18% เพิ่มค่าจ้างเพื่อดึงดูดแรงงานใหม่ มีส่วนน้อยที่ไม่จ้างเพิ่ม แต่มีการจ่ายโอที ด้วยอัตราค่าจ้างเท่าเดิม และไม่จ้างเพิ่ม แต่เพิ่มค่าจ้างรักษาแรงงานเดิม

 

ท่องเที่ยวฟื้นฉุดแรงงานขาดแคลนหนัก ธุรกิจเปิดศึกชิงพนักงาน

“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ แรงงานในภาคธุรกิจโรงแรมที่ออกไปแล้วไม่กลับมา ธุรกิจกำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานการให้บริการ ความเชี่ยวชาญอย่างหนัก เนื่องจากเป็นธุรกิจโรงแรมที่รวมแรงงานที่มีความสามารถจากหลากหลายด้าน ถ้าไม่แก้ตอนนี้จะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะยาว” นางมาริสา กล่าวทิ้งท้าย

 

นายเฉลิมรัฐ ขำสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมเซ็นทารา กะรน รีสอร์ท ภูเก็ต กล่าวว่า ด้วยความที่ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ก่อนจังหวัดอื่น ทำให้ในช่วงแรกๆเกิดการแย่งชิงแรงงานอย่างหนักมาก โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 5 ดาวที่เป็นกลุ่มที่กลับมาเปิดให้บริการได้ก่อน ซึ่งสูงสุดในช่วงเปิดเปิดโรงแรมใหม่ฯ มีการให้จ่ายสูงถึง 800-1,200 บาทต่อวัน จากปกติที่เคยอยู่ที่ 300-400 บาทต่อวัน แต่ตอนนี้เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น มีโรงแรมในหลายระดับกลับมาเปิดเพิ่มขึ้น ก็ทำให้ราคาค่าจ้างลดลงมาอยู่ที่ราว 400-500 ต่อวัน

 

ท่องเที่ยวฟื้นฉุดแรงงานขาดแคลนหนัก ธุรกิจเปิดศึกชิงพนักงาน

 

ทั้งนี้ค่าจ้างแรงงานจะคิดเป็นสัดส่วนราว 30% จากงบประมาณในแต่ละปี ในภาวะที่การท่องเที่ยวเพิ่งทยอยฟื้นตัว การบริหารต้นทุนการจ้างงานจึงเป็นสำคัญ และผมมองว่าในอนาคตธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะระดับ 3-4 ดาวก็น่าจะมีการจ้างงานแบบเอ้าท์ซอร์ทเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน หรือช่าง เพื่อลดรายจ่ายประจำ

 

ดร.สิทธิพงษ์ สิทธิภัทรประภา นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีนักท่องเที่ยวมาเลเซียเข้ามาวันละ 100 กว่าคน แต่วันนี้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2,000-3,000 คน ทำให้กำลังเจ้าหน้าที่ที่มีเท่าเดิมไม่เพียงพอรองรับ จนเกิดภาพคนเดินทางต้องรอคิวยาวโดยเฉพาะในช่วงวันหยุด ซึ่งเอกชนกังวลกับเรื่องนี้

 

เพราะถ้าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ จะมีนักท่องเที่ยวมาเลเซียเข้ามา ผ่านด่านวันละ 2,000-3,000 คน จึงเสนอให้พิจารณา 2 เรื่อง คือ 1.ยกเลิกไทยแลนด์พาส เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องเสียเวลามาก และ2.เพิ่มเจ้าหน้าที่ในการให้บริการมากขึ้น ในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว

 

เช่นเดียวกับธุรกิจสายการบินและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่หลังจากเลิกจ้างพนักงานไปเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้ก็มีการเปิดรับสมัครพนักงานเป็นจำนวนมาก เพื่อทดแทนแรงงานเดิม และรองรับการกลับมาขยายเส้นทางบินอีกครั้ง หลังการยกเลิกระบบ Test & Go และหลายประเทศยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางเข้าประเทศ

 

ไม่ว่าจะเป็น สายการบินไทยเวียตเจ็ท ที่มีการเปิดรับสมัครลูกเรือ ซึ่งเปิดรับสมัครแบบ Walk-in ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ การบินไทย ที่ขณะนี้มีปัญหาความล่าช้าในการให้บริการภาคพื้น ก็มีการจ้างเอ้าท์ซอร์ทเข้ามาเพิ่มขึ้น ไทยไลอ้อนแอร์ นกแอร์ ก็เปิดรับพนักงานเพิ่มเช่นกัน รวมถึง สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ที่กลับมาเปิดรับสมัครลูกเรือรอบใหม่ในปี 2566 อีกราว 2,000 คน ก็จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสของลูกเรือไทย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ ซึ่งให้บริการในสนามบิน ทั้งของสายการบินเอง และบริษัทลูกของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.ก็มีการเปิดรับสมัครเพิ่มขึ้นในช่วงนี้

 

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารยังมีความต้องการพนักงานต่อเนื่อง เนื่องจากแรงงานต่างด้าวยังกลับมาไม่ได้ และการนำเข้ามีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา พนักงานหายไปเกือบ 40% ร้านอาหารรายเล็กๆ ค่อนข้างได้รับผลกระทบมากกว่ารายใหญ่ ที่ผ่านมาร้านอาหาร รายเล็กไปจนถึงรายกลาง มีการจ้างแรงงานต่างด้าววันละประมาณ 400 บาท หรือเดือนละ 12,000 บาท ขณะที่พนักงานคนไทยจะอยู่ที่ 14,000-15,000 บาทต่อเดือน เช่นเดียวกับพนักงานร้านอาหารในห้าง ทำให้แรงงานไทยส่วนใหญ่จะเลือกทำงานในร้านอาหารที่อยู่ในห้างมากกว่า

 

นายธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จํากัด เผยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาต้นทุนโดยรวมเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% ทั้งจากวัตถุดิบผ้ากีฬาที่สูงขึ้น ค่าขนส่งจากต้นทุนน้ำมันที่ปรับขึ้น และต้นทุนค่าแรงที่เริ่มขาดแคลน หลังจากที่แรงงานต่างชาติไม่มี ทำให้ห้าง ศูนย์การค้า โรงงาน ร้านอาหารต้องหันมาใช้แรงงานไทย จึงเกิดการดึงตัวจากภาคการผลิต ทำให้ภาคการผลิตต้องปรับขึ้นค่าแรง เพื่อเป็นการจูงใจให้แรงงานอยู่ต่อและอยู่ได้