สธ. ประกาศความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอของไทย 

13 พ.ค. 2559 | 09:22 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วันนี้ (13 พฤษภาคม 2559) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นายแพทย์โสภณ  เมฆธน  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วยนายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ริชาร์ด บราวน์ (Dr.Richard Brown) ผู้แทนสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และนายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ร่วมแถลงข่าว “ความสำเร็จการปรับเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอของประเทศไทย” ซึ่งเปลี่ยนจากวัคซีนโปลิโอชนิดหยอด 3 สายพันธุ์เป็นวัคซีนโปลิโอชนิดหยอด 2 สายพันธุ์ร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด

นายแพทย์โสภณ  เมฆธน  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ประเทศไทยได้ร่วมกับนานาประเทศทั่วโลกกวาดล้างโรคโปลิโอซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ทำให้เด็กเสียชีวิต หรือเกิดความพิการของร่างกายมาตั้งแต่ พ.ศ.2531 โดยรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดหยอด รวม 3 สายพันธุ์ คือเซบิน 1, 2 และ 3  ฟรีแก่เด็กทุกคนตามช่วงวัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้นำประเทศ หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน จนประสบความสำเร็จพบผู้ป่วยรายสุดท้ายในเดือนเมษายน 2540 ทำให้ไทยปลอดโรคโปลิโอมานานกว่า 19 ปี และได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายฉากสุดท้ายของการกวาดล้างโปลิโอ พ.ศ. 2556-2561 ขององค์การอนามัยโลก ในการกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดไปจากโลกภายใน ปี 2561 ซึ่งกำหนดเป้าหมายปี 2558 - 2559  ทุกประเทศกำจัดไวรัสโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนชนิดที่ 2 เป็นลำดับแรก เนื่องจากพบว่ามีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์สูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ อีกทั้งไม่พบผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโปลิโอตามธรรมชาติชนิดที่ 2 มาตั้งแต่ปี 2542 เหลือเพียงเชื้อไวรัสที่อยู่ในวัคซีนเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนที่มีเชื้อไวรัสโปลิโอชนิดที่ 2 เป็นส่วนประกอบอีกต่อไป

กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับเปลี่ยนการให้วัคซีนโปลิโอของประเทศไทยแบบใหม่ เป็นการฉีดวัคซีนโปลิโอชนิดเชื้อตาย (IPV) ร่วมกับหยอดวัคซีนโปลิโอชนิดเชื้อเป็น (OPV) 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์เซบิน 1 และ 3 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโปลิโอทั้ง 3 ชนิด ทดแทนการให้วัคซีนเดิมซึ่งเป็นชนิดหยอดรวม 3 สายพันธุ์ เพื่อให้ประเทศไทยไม่มีเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนชนิดที่ 2 หลงเหลืออยู่ ดำเนินการเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่องค์การอนามัยโลกกำหนด  ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ มาจากความร่วมมือและการสนับสนุนจากผู้นำประเทศ สถาบัน องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานบริการทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน อาสาสมัครและประชาชนไทย การดำเนินการของไทยในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยโลกให้กวาดล้างโปลิโอสำเร็จในอนาคต

ด้านนายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการปรับเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอของไทย ได้ให้สถานบริการเริ่มให้วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด ร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดหยอด 3 สายพันธุ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 เพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโปลิโอทั้ง 3 ชนิด ขณะเดียวกันได้เรียกเก็บวัคซีนโปลิโอเก่าชนิดหยอดที่มี 3 สายพันธุ์ จากหน่วยบริการภาครัฐและเอกชน 76 จังหวัดทั่วประเทศและกทม. กลับมาเผาทำลายทั้งหมด รวม 1,950,425 โด๊ส เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา จากนั้นตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2559 ได้ใช้วัคซีน ชนิดหยอดที่มี 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์เซบิน 1 และ 3 แทนการใช้วัคซีนโปลิโอแบบหยอด 3 สายพันธุ์ร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด พร้อมทั้งสุ่มประเมินสถานบริการและคลังวัคซีนทุกแห่ง จนมั่นใจว่าไม่มีวัคซีนโปลิโอชนิดหยอด 3 สายพันธุ์ที่มีเชื้อไวรัสโปลิโอชนิดที่ 2 หลงเหลืออยู่ในระบบบริการสาธารณสุขไทยแล้ว

ทั้งนี้ สถานการณ์โรคโปลิโอในระดับนานาชาติมีแนวโน้มดีขึ้นมาก จากการที่นานาประเทศร่วมมือกันกวาดล้างโรคโปลิโอ พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโปลิโอตามธรรมชาติจำนวนลดลงกว่าในอดีตมาก ในปี 2559 มีผู้ป่วยโปลิโอจากเชื้อโปลิโอตามธรรมชาติซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ 1 เพียง 12 ราย ใน 2 ประเทศ คือ ประเทศปากีสถาน และอัฟกานิสถาน แต่กลับพบผู้ป่วยโปลิโอจากการกลายพันธุ์ของเชื้อที่อยู่ในวัคซีนโปลิโอชนิดกิน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนต่ำกว่าร้อยละ 40 ส่วนใหญ่เป็นการกลายพันธุ์ของเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนชนิดที่ 2 ทั้งที่ไม่พบผู้ป่วยโปลิโอจากเชื้อไวรัสโปลิโอตามธรรมชาติชนิดที่ 2 มาตั้งแต่ปี 2542 และไม่พบสายพันธุ์ที่ 3 ตั้งแต่ปี 2555

นายแพทย์ริชาร์ด บราวน์ ผู้แทนสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้วัคซีนโปลิโอในครั้งนี้ นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในความพยายามของนานาประเทศทั่วโลกที่จะกวาดล้างเชื้อไวรัสโปลิโอให้หมดไป ในช่วงเวลาอันสำคัญนี้ องค์การอนามัยโลกได้ให้การสนับสนุนด้านต่างๆแก่ประเทศสมาชิก และได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันควบคุมโรคโปลิโอ มาสังเกตการณ์วิธีการปรับเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอของประเทศไทย ซึ่งพบว่าประเทศไทยสามารถดำเนินงานได้อย่างดีเยี่ยม เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกรอบเวลาที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้