ข้อควรระวัง! เมื่อจะบริหารธุรกิจแบบพนักงาน เหมือนคนในครอบครัว

29 พ.ค. 2565 | 22:41 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

คงไม่เกินจริงหากจะกล่าวถึงความสำคัญอย่างยิ่งของวัฒนธรรมต่อความสำเร็จในการขยายธุรกิจ แน่นอนว่าบริษัทที่ไม่มีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งคอยหล่อเลี้ยงไว้ก็ย่อมไม่สามารถอยู่รอดได้ และเป็นการยากที่จะดึงดูดและรักษาพนักงานที่สามารถช่วยในการขยายธุรกิจและเติบโตต่อไปได้ แม้เสน่ห์ของบริษัทที่มีสภาพแวดล้อมแบบครอบครัวเป็นสิ่งที่น่าสนใจอยู่มาก แต่บริษัทควรปฏิบัติต่อพนักงานเหมือนคนในครอบครัวหรือไม่ วัฒนธรรมครอบครัวในธุรกิจจะเป็นแบบอย่างที่ดีของวัฒนธรรมในบริษัทหรือไม่

              

ทั้งนี้จากบทความของ Forbes ที่ Denise Lee Yohn เขียนไว้ว่าการพยายามบริหารองค์กรเหมือนครอบครัว หรือแม้กระทั่งบอกว่าองค์กรเป็นเหมือนครอบครัว อาจเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางองค์กรและอาจส่งผลตรงข้ามกับที่คิดไว้ เนื่องจากบริษัทไม่ใช่ครอบครัว แม้ว่ามีความดึงดูดใจที่เห็นได้ชัดเจนในการทำให้ทุกคนรู้สึกได้รับการต้อนรับ เหมือนอยู่ที่บ้านและรู้สึกปลอดภัย แต่การปฏิบัติต่อพนักงานแบบครอบครัวก็อาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ธุรกิจครอบครัว               

• การไม่ไล่สมาชิกในครอบครัวออก แม้จะมีตัวอย่างมากมายเกี่ยวกับการทำธุรกิจครอบครัวที่เกิดปัญหาจนต้องมีการไล่สมาชิกในครอบครัวออก แต่เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันทั่วไป บางครั้งในการทำธุรกิจอาจเพียงแค่ต้องปล่อยให้มีคนออกจากบริษัทไปเพื่อประโยชน์ของธุรกิจ บางครั้งในบริษัทอาจมีคนทำผิดอยู่เป็นประจำ ทักษะของเขาหรือเธอไม่ตรงกับความต้องการของบริษัท

 

อาจมีพนักงานที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งไม่ใช่พนักงานที่บริษัทต้องการเพื่อช่วยขยายกิจการให้เป็นบริษัทที่มีการเติบโตสูง แต่ถ้าบอกคนเหล่านั้นว่าพวกเขาเป็น “ครอบครัว” แล้วจะไล่พวกเขาไปได้อย่างไร นั่นคือคุณได้สร้างความคาดหวังลมๆแล้งให้พวกเขา และสร้างอุปสรรคทางอารมณ์ที่ยากลำบากให้กับตัวเองอีกด้วย

 

• ไม่ได้เสนอสิ่งที่พนักงานต้องการจริงๆ ธุรกิจไม่ใช่สิ่งที่ใช้เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านอารมณ์ความรู้สึกของตน ซึ่งผู้นำธุรกิจและพนักงานส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องนี้ดี ธุรกิจจำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และสามารถวัดผลได้ หากเจ้าของสามารถสร้างวิสัยทัศน์และกำหนดกลยุทธ์และทำการสื่อสารทำได้ดี พนักงานก็จะรู้ว่าเป้าหมายเหล่านี้คืออะไร

              

อย่างไรก็ตามในความพยายามที่จะดึงดูดพนักงานที่ดีและภักดี ผู้นำธุรกิจบางคนตกหลุมพรางของการพยายามสร้างบ้านหลังที่ 2 ด้วยความต้องการสร้างวัฒนธรรมที่ยอดเยี่ยมและสร้างสภาพแวดล้อมที่คนมีแรงจูงใจในการทำงานอย่างดีที่สุด แต่พนักงานที่ดีที่สุดไม่ได้มองหาบ้านหลังที่ 2 แล้วพวกเขากำลังมองหาอะไรเล่า จากบทความของ Inc.ได้กล่าวถึงสิ่งที่พนักงานที่ยอดเยี่ยมต้องการจริงๆ ได้แก่ การยอมรับ ความยืดหยุ่น วัฒนธรรม เส้นทางสู่การเติบโตและการศึกษาต่อเนื่อง นั่นเอง

              

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจาก Workforce Learning Report ในปีค.ศ. 2019 ของ LinkedIn ชี้ให้เห็นว่าพนักงาน 94% บอกว่าพวกเขาจะอยู่กับบริษัทต่อไป หากมีการลงทุนเพื่อช่วยให้พวกเขาได้มีการเรียนรู้ และแม้ว่าวัฒนธรรมจะมีความสำคัญ แต่พนักงานก็ไม่ได้มองหาวัฒนธรรมครอบครัว พวกเขากำลังมองหาบริษัทที่แบ่งปันค่านิยมและมีวิสัยทัศน์ที่พวกเขายอมรับได้ ดังนั้นควรทำให้บริษัทเป็นสถานที่ที่พนักงานสามารถเจริญก้าวหน้า ถูกท้าทาย ได้รับการชื่นชม และเติบโตได้จะดีกว่า

              

ที่มา: Kocher, C. January 27, 2020. IS FAMILY CULTURE A GOOD MODEL FOR CULTURE IN YOUR BUSINESS?. Available:https://thetransformation.company/is-family-culture-a-good-model-for-culture-in-your-business/

              

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,786 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2565