นํ้ามันพืชกุ๊ก ชูนวัตกรรม สู่ธุรกิจยั่งยืน

29 พ.ค. 2565 | 12:00 น.

“น้ำมันพืชกุ๊ก” ชูยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน เดินหน้าสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ Net-Zero Carbon Emissions ในปี 2608 พร้อมทบทวนแผนการจัดการคาร์บอน นำเทคโนโลยี นวัตกรรม ส่งเสริมคู่ค้า-ผู้บริโภคร่วมกิจกรรมชดเชยคาร์บอน

นายเพชร หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย “น้ำมันพืชกุ๊ก” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยุทธศาสตร์ของบริษัทมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของบริษัท คือ การมุ่งสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2608

 

ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง (GREEN BUSINESS ROAD MAP) โดยวิธีการประเมินเชิงปริมาณของการใช้ทรัพยากร ปริมาณมลพิษที่เกิดขึ้น และผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อโลก และระบบนิเวศ ตามหลักการ Life Cycle Assessment (LCA)

  น้ำมันพืชกุ๊ก              

ปัจจุบันบริษัทเป็นโรงงานสกัดน้ำมันพืช โดยผลิตภัณฑ์มีทั้งกากพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน และน้ำมันคาโนลา นอกจากนี้ยังมีเลซิทินจากถั่วเหลืองจำหน่าย โดยมีโรงงานที่ได้มาตรฐานระดับโลก ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

  น้ำมันพืชกุ๊ก              

ทั้งนี้เป้าหมายของบริษัทเดินหน้าเพื่อให้สอดคล้องกับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ซึ่งเป็นเป้าหมายระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริม BCG Model, การก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และการที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายสู่ประเทศที่ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี พ.ศ. 2608

 

“พันธกิจของบริษัทคือการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้วยการกำหนดการดำเนินการในด้านต่างๆ ประกอบด้วย การพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงาน, กระบวนการผลิต และทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ตลอดจนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กร”

              

โดยบริษัทได้จัดทำและทบทวนแผนการจัดการคาร์บอน (Carbon Management Plan) ทุกปี โดยมุ่งหาเทคโนโลยี นวัตกรรมและกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อนำมาใช้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเองให้มากที่สุด ตลอดจนส่งเสริมคู่ค้า และผู้บริโภค ให้เข้าร่วมกิจกรรมชดเชยคาร์บอน และการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการติดฉลาก Carbon footprint of products และ Carbon Neutral

น้ำมันพืชกุ๊ก               

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำ Sustainability Certification และจัดทำ Digital Interface จากระบบการผลิต และระบบบัญชี มาใช้ในการคำนวณ Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการการใช้พลังงาน บริษัทมีการนำเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly production) มาใช้ในการผลิต

              

“บริษัทถือผู้ผลิตน้ำมันพืชรายแรกในเอเชียที่นำระบบ ICS (Ice Condensing Vacuum System) มาใช้ในกระบวนการกลั่น เพื่อให้ได้น้ำมันพืชคุณภาพที่ดีที่สุด ลดการใช้พลังงานความร้อน และระยะเวลาในการกลั่น ทำให้สามารถรักษาคุณภาพน้ำมันได้เป็นอย่างดี”

น้ำมันพืชกุ๊ก               

โดยเฉพาะด้านการผลิตที่ติดตั้งเทคโนโลยีจากเบลเยียม ระบบ Nano Neutralization & Combined clean เพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต และลดปริมาณการเกิดน้ำเสีย ตั้งแต่ปี 2561 ตลอดจนการให้ความสำคัญในการใช้พลังงานทดแทน ต่างๆ เช่น พัฒนาและติดตั้ง Multi biomass boiler ทดแทน Heavy oil boiler ในการผลิตพลังงานไอ และติดตั้ง Solar cell ผลิตพลังงานไฟฟ้าภายในโรงงาน ตั้งแต่ปี 2563 และมีแผนที่จะทำการติดตั้งเพิ่มเติมในอนาคต

              

“หลังการดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่า ในปี 2563 สามาถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯจากการผลิตน้ำมันถั่วเหลืองได้ 2 เท่า และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯจากการผลิตน้ำมันทานตะวันได้ 4 เท่าเลยทีเดียว”

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,781 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565